14 ส.ค. 2022 เวลา 06:30 • ประวัติศาสตร์

สามก๊กชวนรู้ (2) : สถานที่ในยุคสามก๊ก

.
ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของหลายท่านที่ศึกษาสามก๊กไม่ว่าฉบับใดก็ตามมีเหมือนกันคือ ชื่อบุคคลที่มีมากเหลือนเกิน แถมแต่ละบุคคลยังแยกย้ายอยู่คนละฝ่าย พบกันบ้าง ร่วมงานชั่วคราวบ้าง รวมไปถึงย้ายฝ่ายบ้าง
นอกจากนี้ส่วนตัวผมเชื่อว่าที่มีปัญหาสับสนอาจจะยิ่งกว่าตัวบุคคลที่อาจจะยังพอสังเกตบุคคลที่มีบทบาทสำคัญจริง ๆ ของแต่ละฝ่ายได้ คือสถานที่ต่าง ๆ ในเรื่องสามก๊ก
ที่เมื่อบรรยายมา กลับนึกภาพไม่ออกว่าสถานที่เหล่านั้นอยู่ที่ไหน ห่างกันและกันเพียงใด
แน่นอนว่าบทความนี้คงไม่ลงรายละเอียดสถานที่ทั้งหมดที่ถูกกล่าวถึงในเรื่องสามก๊ก เพราะบทความจะยาวมาก แต่จะอธิบายภาพรวมคร่าว ๆ ของสถานที่ให้ท่านผู้อ่านพอที่จะเห็นภาพมากยิ่งขึ้น
  • การแบ่งเขตการปกครองยุคฮั่นตะวันออก
ขอเท้าความกลับไปก่อนที่แผ่นดินจะแตกแยกออกเป็นสามอาณาจักร ในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกได้แบ่งเขตการปกครองของอาณาจักรออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
  • ระดับมณฑล
มณฑล คือ หน่วยปกครองที่ใหญ่ที่สุดของสมัยนั้น ตรงกับคำภาษาจีนกลางว่า โจว (州) หรือ จิ๋ว ในภาษาฮกเกี้ยน
สังเกตง่าย ๆ ชื่อสถานที่ที่ลงท้ายด้วยโจว หรือ จิ๋ว เป็นชื่อมณฑลแทบทั้งสื้น
แผนที่มณฑลต่าง ๆ สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ที่มาภาพ Wikimedia Commons
เนื่องจากแผนที่ในรูปเป็นภาษาอังกฤษ ขออธิบายเรียงจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง ตามที่สำเนียงฮกเกี้ยนที่ผู้ศึกษาสามก๊กส่วนมากคุ้นเคย
1.Liang (涼)-มณฑลเลียงจิ๋ว 2.Bing (并)-มณฑลเป็งจิ๋ว
3.You (幽) -มณฑลอิวจิ๋ว 4.Ji (冀)-มณฑลกิจิ่ว
5.Qing (青)-มณฑลเฉงจิ๋ว 6.Sili (司隸) -มณฑลราชธานี (เมืองหลวงทั้งสองของราชวงศ์ฮั่นคือลกเอี๋ยงและเตียงอันอยู่ในเขตนี้)
7.Yan (兗)-มณฑลกุนจิ๋ว 8.Yu (豫)-มณฑลอิจิ๋ว
9.Xu (徐)-มณฑลชีจิ๋ว 10.Yi (益)-มณฑลเอ๊กจิ๋ว
11.Jing (荆)-มณฑลเกงจิ๋ว 12.Yang (揚)-มณฑลยังจิ๋ว
13.Jiaozhi (交趾)-ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Jiaozhou (交州-มณฑลเกียวจิ๋ว) คลุมพื้นที่ตอนใต้ของจีนไปถึงบางส่วนของเวียดนามตอนกลาง
ช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าเหี้ยนเต้จะมีการก่อตั้งมณฑลเองจิ๋ว (雍州-Yongzhou) ขึ้น ใน ค.ศ.194 ทางตะวันตกของมณเลียงจิ๋ว ต่อมา ค.ศ.213 ยุบมณฑลเลียงจิ๋ว นำพื้นที่มณฑลเลียงจิ๋วทั้งหมด และเมืองแถบเมืองเตียงอันมารวม ก่อนที่ยุควุยก๊กจะตั้งมณฑลเลียงจิ๋วขึ้นมาอีกครั้ง มีอำนาจเหนือพื้นที่ทางตะวันตกของมณฑลเองจิ๋วเดิม ส่วนมณฑลเองจิ๋วใหม่ ยังมีพื้นที่ทางตะวันออกของพื้นที่เดิมอยู่
  • ระดับเมือง
หน่วยการปกครองระดับรองลงมาจากมณฑล ตรงกับภาษาจีนกลางว่า จวิ้น (郡) หรือภาษาฮกเกี้ยนว่า กุ๋น เช่น
-เมืองเงียบกุ๋น (鄴) ที่ตั้งของปราสาทนกยูงทองแดง โจโฉสถาปนาเป็นเมืองหลวงของตน เมื่อดำรงตำแหน่งวุยอ๋อง
-เมืองลำกุ๋น (南) เมืองที่จิวยี่ไปตีจากฝ่ายโจโฉ แต่ถูกขงเบ้งยึดตัดหน้า
เมืองที่สังกัดมณฑลต่าๆในยุคสามก๊ก ที่มาภาพ Wkimedia Commons
  • ระดับอำเภอ
อำเภอ เป็นระดับการปกครองที่เล็กที่สุดของทางราชการในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ตรงกับภาษาจีนกลางว่า เสี้ยน (縣) หรือ ไกว ในสำเนียงฮกเกี้ยน
มีการสำรวจพบว่ามีอำเภอมากถึง 1,000 อำเภอในสมัยดังกล่าว
เข้าใจว่าด้วยเหตุที่มีอำเภอถึงหลักพันเลยไม่มีคนทำแผนที่ละเอียดแบบมณฑลหรือเมือง แต่ที่ผู้สนใจสามก๊กน่าจะพอรู้จัก เช่น
-อำเภออันห้อกวน (安喜縣) ที่เล่าปี่เคยได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอ จนมีเรื่องโบยต๊กอิ้ว
-อำเภอหัปป๋า (合肥縣) จุดยุทธศาสตร์ของฝ่ายโจโฉที่เตียวเลี้ยวรักษา ซุนกวนพยายามตีหลายครั้ง
***ระดับอำเภอนี้มีอำเภอพิเศษอยู่จำพวกหนึ่งเรียกว่า เต้า (道) หรือ โต้ว ในภาษาฮกเกี้ยน เป็นอำเภอที่มีประชากรเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวฮั่นอยู่ด้วย โดยมากจะอยู่แถวชายแดน เช่น
-อำเภอเตียก (狄道) เมืองหลงเส (隴西郡) มณฑลเลียงจิ๋ว
-อำเภอปอก (僰道) เมืองเกียนอุ่ย (犍為郡) มณฑลเอ๊กจิ๋ว
  • พื้นที่ภูมิภาค สิ่งที่เพิ่มความสับสนต่อสถานที่ในเรื่องสามก๊ก
เมื่อมาถึงตรงนี้หลายท่านก็คงสงสัยว่าสถานที่ชื่อดังหลาย ๆ ที่ในเรื่องสามก๊กที่เคยได้ยิน เช่น เสฉวน , กังตั๋ง และเสเหลียง เป็นต้น หายไปไหน
สถานที่เหล่านี้ไม่ใช่เขตการปกครองระดับมณฑล , เมือง หรือ อำเภอ หากแต่เป็นการแบ่งเขตภูมิภาคตามความนิยมของคนในสมัยนั้น
-กังตั๋ง หรือเจียงตง (江東) แปลว่า ดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำ หมายความเฉพาะดินแดนที่อยู่ใต้แม่น้ำแยงซีเกียง ในช่วงที่ไหลในแนวตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนไหลออกทะเลทางทิศตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่มณฑลยังจิ๋วบางส่วน
-เสฉวน (四川) แปลว่า แม่น้ำสี่สาย คือที่ราบที่มีลักษณะเป็นแอ่ง มีแม่น้ำสี่สายไหลผ่าน ล้อมรอบด้วยที่สูงสี่ด้านคือ ที่ราบสูงทิเบต (青藏高原) ทางตะวันตก, ที่ราบสูงยูนนาน-กุ้ยโจว (雲貴高原) ทางใต้, ภูเขาอู่ซาน (巫山) ทางตะวันออก และภูเขาต้าปาซาน (大巴山) ทางทิศเหนือ ครอบคลุมพื้นที่มณฑลเอ๊กจิ๋ว
-เสเหลียง (西凉) แปลว่า เลียง(จิ๋ว)ตะวันตก สื่อความหมายถึงขุนศึกอิสระในมณฑลเลียงจิ๋ว เช่น ม้าเท้ง หันซุย เป็นต้น ที่มีอิทธิพลอยู่ทางตะวันตกของมณฑล คนละพวกกับตั๋งโต๊ะและพรรคพวกที่มีอิทธิลพอยู่แถบเมืองหลงเส ทางตะวันออกของมณฑล
  • ดินแดนในครอบครองของแต่ละฝ่าย
แผนที่สมัยสามก๊ก ที่มาภาพ Wikimedia Commons
ถ้าเรานำดินแดนในปกครองของแต่ละฝ่ายโดยใช้มณฑลในยุคฮั่นตะวันออกเป็นเกณฑ์แต่ละฝ่ายจะมีอาณาเขตดังนี้
  • วุยก๊ก (ฝ่ายโจโฉ)
เลียงจิ๋ว, เป็งจิ๋ว, อิวจิ๋ว, กิจิ่ว, เฉงจิ๋ว, มณฑลราชธานี, กุนจิ๋ว, อิจิ๋ว, ชีจิ๋ว, เกงจิ๋วตอนบน
  • ง่อก๊ก (ฝ่ายซุนกวน)
ยังจิ๋ว, เกียวจิ๋ว, และเกงจิ๋วตอนใต้
  • จ๊กก๊ก (ฝ่ายเล่าปี่)
เอ๊กจิ๋ว
  • เรื่องแถม จำนวนประชากรในยุคสามก๊ก
ทำไมดินแดนวุยก๊กถึงมีมณฑลมาก แต่พื้นที่พอ ๆ กับง่อก๊ก และไม่ได้ใหญ่กว่าจ๊กก๊กนัก แต่กลับสามารถพิชิตทั้งสองก๊กได้ในท้ายที่สุด (ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็น จิ้น ก็ตาม)
ต้องบอกว่า อารยธรรมของจีนนั้นเริ่มขึ้นที่แม่น้ำฮวงโหนับพันปีก่อนยุคสามก๊ก ชุมชนแถบนั้นได้ขยายตัว, พัฒนามาเรื่อย ๆ เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหก็มีประชากรหนาแน่น ขณะที่ดินแดนใต้แม่น้ำแยงซีเกียง แม้จะมีพื้นที่กว้างขวางแต่มีประชากรเบาบาง
อย่างไรก็ตาม แถบทางตอนบนก็พบกับความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นโจรโพกผ้าเหลือง หรือสงครามระหว่างเหล่าขุนศึก ทำให้ในเวลาต่อมาประชากรลดลงอย่างมาก ในขณะที่ทางตอนใต้ค่อนข้างสงบ ได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางเหนือน้อย และมีประชากรจากทางเหนืออพยพลงใต้หนีภาวะจลาจล ทำให้ประชากรของแต่ละฝ่ายเป็นดังนี้ (อ้างจากวิกิพีเดีย)
-วุยก๊ก มีประชากร 4,432,881 (ค.ศ.260)
-ง่อก๊ก มีประชากร 2,567,000 (ค.ศ.238), 2,535,000 (ค.ศ.280-ปีที่ถูกจิ้นพิชิต)
-จ๊กก๊ก มีประขากร 900,000 (ค.ศ.221-ปีที่ก่อตั้ง), 1,082,000 (ค.ศ.263-ปีที่ถูกวุยพิชิต)
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านมองเห็นภาพของยุคสามก๊กได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา