19 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ?
ช่วงนี้เราคงเห็นว่าสกุลเงินดอลลาร์นั้นแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้สกุลเงินอื่นๆ อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์ และส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกไม่มั่นคง เนื่องจากในธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกว่า 90% ล้วนเกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์ สินค้าหลายๆ อย่างที่ขายในสกุลเงินดอลลาร์ดูแพงขึ้น ตลอดจนกำไรของบริษัทข้ามชาติลดลง
1
โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินของคู่ค้าหลักอื่นๆ เช่น สกุลเงินเยนของญี่ปุ่น ก็พบว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าสูงสุดในรอบ 24 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเยน
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สกุลเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นเสียจนมีค่า 1 ดอลลาร์ = 1 ยูโร ได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2002
📌 ทำไมเงินดอลลาร์ถึงแข็งค่าขึ้นมากขนาดนั้น?
ก่อนอื่นขออธิบายความรู้เศรษฐศาสตร์เบื้องต้นก่อนสักเล็กน้อย การที่เงินสกุล A แข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น หมายถึงว่ามีความต้องการเงินสกุล A มากกว่า ซึ่งเหตุที่คนต้องการเงินสกุล A มากขึ้นนั้น ก็เกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น
  • 1.
    นโยบายรัฐบาล
  • 2.
    อัตราดอกเบี้ย
  • 3.
    ดุลการค้า
  • 4.
    วัฏจักรเศรษฐกิจ
ทีนี้เราลองมาดูเงินดอลลาร์ในปัจจุบันกันดูบ้าง จากสถานการณ์ปัจจุบันคงจะเห็นว่าเกิดเงินเฟ้อขึ้นในแทบทุกที่ทั่วโลก และธนาคารกลางในแต่ละประเทศก็พยายามหาทางควบคุมเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Fed) ได้เริ่มทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าธนาคารกลางอื่นๆ ทำให้ในตอนนี้ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สูงกว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ เป็นอย่างมาก
1
เมื่ออัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ สูงกว่าประเทศอื่น ก็ดึงดูดให้นักลงทุนเอาเงินไปลงทุนในสหรัฐฯ แทน หรือแม้แต่การลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำๆ อย่างพันธบัตรรัฐบาล แล้วเมื่อนักลงทุนนำเงินไปเทลงในตลาดสหรัฐฯ ก็ทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลอื่น
1
นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์สูงขึ้นคือเงินดอลลาร์ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ หรือตลาดหุ้นมีความผันผวน อย่างในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาพลังงานน้อยกว่าประเทศในแถบยุโรปซึ่งนำเข้าพลังงานเป็นอย่างมาก
2
ดังนั้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังจะถดถอยนี้ สหรัฐฯ ก็เลยดูเหมือนจะมีสภาพที่ดีกว่าหลายประเทศ
📌 ถ้าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้น?
ถ้าคุณเป็นคนอเมริกันที่ชื่นชอบการซื้อของ และท่องเที่ยวต่างประเทศ นี่คงจะเป็นข่าวดีอย่างมากสำหรับคุณ อย่างไรก็ตาม การที่เงินดอลลาร์แข็งขึ้นเป็นอย่างมากเช่นนี้ ก็ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน อาทิ
1
1) สถานการณ์เงินเฟ้อจะยิ่งแย่ลง
อย่าลืมว่าราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ เช่น โลหะ หรือไม้ มักจะซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์ ดังนั้นเมื่อสกุลเงินดอลลาร์แข็.ขึ้น ก็ทำให้สินค้าเหล่านั้นมีราคาแพงขึ้นเมื่ออยู่ในรูปของสกุลเงินท้องถิ่นอื่นๆ
เมื่อราคาพลังงานและวัตถุดิบสูงขึ้น ก็ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าหลายๆ อย่างแพงขึ้น ก่อให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก ยกเว้นผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เงินดอลลาร์แข็งขึ้นทำให้สามารถนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูกลงได้
2) ประเทศรายได้น้อยจะตกที่นั่งลำบาก
ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มักจะมีหนี้อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นเมื่อเงินแข็งค่าขึ้น ก็แปลว่าหนี้นั้นมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อมองในรูปของสกุลเงินท้องถิ่น
ซึ่งเราอาจจะให้ได้อย่างตัวอย่างใกล้ตัวอย่างประเทศศรีลังกา และประเทศอื่นๆ ที่อาจต้องเก็บภาษีประชาชนเพิ่มขึ้น พิมพ์เงินในประเทศเพิ่ม หรือกู้เงินเพิ่ม ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหนักขึ้น, เกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรง หรืออาจะเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะ ซึ่งคงต้องใช้เวลายาวนานกว่าทศวรรษจึงจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้
3) สหรัฐฯ จะขาดดุลการค้ามากขึ้น
1
ประเทศอื่นๆ จะซื้อสินค้าของสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งขึ้นทำให้สินค้าดูมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าของสหรัฐเมื่อนำการส่งออกหักด้วยการนำเข้าแล้ว จะขาดดุลเป็นอย่างมาก จากที่เดิมก็มีปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้ามาอย่างยาวนาน
4) เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization)
1
แล้วเมื่อสหรัฐฯ เกิดขาดดุลการค้าหนักๆ วิธีดั้งเดิมที่นิยมใช้ก็คือเก็บภาษี จำกัดโควต้าการนำเข้า หรือตั้งเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า ในทางกลับกัน ประเทศคู่ค้าเหล่านั้นก็จะมีการตอบโต้การกีดกันดังกล่าว ด้วยวิธีเดียวกันกับสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้การค้าทั่วโลกเข้าสู่ยุคทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ได้
5) ประเทศยูโรโซนที่มีหนี้สาธารณะสูง อาจเผชิญกับความยากลำบากได้
2
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งขึ้น ได้กลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้ธนาคารกลางยุโรปต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเพื่อไม่ให้สกุลเงินยูโรอ่อนค่าจนกลายเป็นปัญหา แต่ก็อาจจะก่อให้เกิดความกดดันต่อประเทศยูโรโซนที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอิตาลี ซึ่งมีหนี้สาธารณะสูงถึง 150% ของ GDP
1
ถ้าถามว่าเงินดอลลาร์จะแข็งไปถึงเมื่อไหร่กัน ก็อาจจะตอบได้เพียงแค่ว่า ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสั่นคลอนเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าตอนนี้หลายๆ ประเทศก็ประสบปัญหาเช่นกัน อาทิ ยุโรปที่เผชิญกับวิกฤตพลังงาน ญี่ปุ่นไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย หรือจีนที่มีนโยบายล็อกดาวน์ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซอุปทาน
ไหนจะภาวะเงินเฟ้อที่สูงมากในหลายๆ ประเทศ สิ่งเหล่านี้ยิ่งที่ให้ความต้องการเงินดอลลาร์ยังคงสูงอยู่ จนเงินดอลลาร์สามารถแข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าความแข็งแกร่งนี้จะลากยาวไปอีกนานแค่ไหน…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา