19 ก.ค. 2022 เวลา 07:51 • ท่องเที่ยว
ปราสาทบันทายฉมา .. มหากาพย์แห่งกาลเวลา (1)
“ปราสาทบันทายฉมาร์” หรือ "บันเตียฉมาร์" (Banteay Chhmar) ในภาษาเขมรแปลว่า “ปราสาทน้อย” หรือ "ป้อมเล็ก" ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดบันเตียเมียนเจย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา ห่างจากเมืองศรีโสภณไปทางทิศเหนือ ประมาณ 63 กิโลเมตร
“เมืองบันทายฉมาร์” .. เป็นเมืองที่มีสำคัญทางตอนเหนือ ในเขตอิทธิพลชั้นในของเมืองพระนครหลวงหรือนครธม ตั้งอยู่บนเส้นทางราชมรรคา (Royal Road) เชื่อมโยงเมืองพระนครกับเมืองวิมายะปุระหรือเมืองพิมายในเขตที่ราบสูง
.. ขนาดของเมืองมีขนาดใหญ่ 2 x 2.5 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าปราสาทนครวัดสองเท่า แต่เล็กกว่าเมืองพระนครธม ( 3 x 3 ตารางกิโลเมตร) เล็กน้อย ด้วยความใหญ่เป็นอันดับสอง จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อบันทายฉมาร์ที่แปลว่า “ป้อมน้อย” หรือ “ปราสาทเล็ก”
“ปราสาทบันทายฉมาร์” สร้างขึ้นโนสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ค.ศ.1181 – 1201) เพื่ออุทิศต่อดวงวิญญาณ และเป็นที่เก็บเถ้าอัฐิของ “เจ้าชายศรีนทรกุมาร” พระโอรสผู้วายชนม์ และและเป็นที่ฝังศพ (ณ บริเวณมุมของศาสนสถาน) แม่ทัพคนสำคัญทั้งสี่ ซึ่งเป็นขุนศึกผู้เก่งกล้าได้ออกปฏิบัติหน้าที่เชื่อมโยงจักรวรรดิให้เป็นปึกแผ่น รวมถึงเคยทำสงครามร่วมรบกับเจ้าชาย เพื่อปราบกบฎที่ชื่อภรตราหู และแม่ทัพอื่นๆที่เคยร่วมรบกับพวกจาม
… ว่ากันว่าบริเวณแถบนี้เคยเป็นสนามรบโบราณ และไม่ไกลจากที่นี่มากนัก ยังมีอีกปราสาทที่เรียกว่า “บันเตียต๊วบ” ต๊วบ แปลว่าทัพ จึงแปลว่าปราสาทกองทัพ สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งกองทัพในสมัยนั้น
“ปราสาทบันทายฉมาร์” เป็นปราสาทขนาดใหญ่ ที่มีแนวกำแพงโบราณ (Ancient Wall) ขนาด 3.5 x 2.5 ล้อมรอบยาวราว 9 กิโลเมตรโดยรอบกำแพงชั้นนอก คูน้ำที่ล้อมรอบปราสาทมีพื้นที่ประมาณ 1 x 1 ตารางกิโลเมตรล้อมรอบอยู่ทั้งสี่ด้าน เหมือนปราสาทนครวัดและตัวเมืองนครธม
ทางเข้าด้านตะวันตก (เราไม่ได้เข้าทางด้านนี้ค่ะ) .. มีร่องรอยของสะพานนาคราช หรือสะพานสายรุ้ง ทั้งสองข้างของสะพานเป็นภาพจำหลักหินของพิธีกวนเกษียรสมุทร ทางขวาเป็นรูปเหล่าเทพเจ้าเทวดากำลังยุคนาค และทางซ้ายก็เป็นรูปสลักของเหล่าอสูรกำลังยุดนาค
.. น่าเสียดาย ที่รูปสลักเทพเจ้าและอสูรที่เป็นราวสะพานชักนาคเกษียรสมุทรทั้งสี่ทิศของปราสาทบันทายฉมาร์ ถูกทำลายและโจรกรรมรูปสลักสูญหายไปเป็นจำนวนมาก .. ยังคงเหลือให้เห็นแค่ด้านนี้ด้านเดียวเท่านั้น อีกทั้งรูปปั้นของอสูรและเทวดายังคงเหลือแต่ท่อนลำตัว ศีรษะหายไปแล้วทั้งหมด
ซากกำแพงเก่าๆ ของปราสาท ซึ่งถูกคั่นโดยบึงบัว
ทางเข้าอักด้านหนึ่ง .. หินรูปเทวดา มาหลบมุมอยู่ในเงาไม้ ร่มสบาย ตามประสาฝ่ายเทวดา
ผ่านประตูตะวันออกข้ามคูน้ำเข้ามาด้านใน ทางขวามือเป็นที่ตั้งของ “วหิคฤหะ” หรือ “ธรรมศาลา” ที่พักคนเดินทาง ในสภาพที่ยังสร้างไม่สมบูรณ์ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าสุด
ปราสาทบันทายฉมาร์ เป็นปราสาทขนาดใหญ่ .. บรรยากาศดูขลังเหมือนเราอยู่ในอีกมิติหนึ่งของกาลเวลา … หินก้อนใหญ่ๆซึ่งเคยพังทลายลงมาทับถมกัน ถูกขนออกมากองอยู่ตลอดแนวกำแพง มองไปเห็นชิ้นส่วนหน้าบันที่ประกอบเข้าด้วยกันเรียบร้อยแล้วตั้งไว้เป็นกลุ่มๆ รอขนย้ายเอาไปติดตั้งไว้ที่เดิม
พื้นที่ปราสาทประมาณ 250 x 250 ตารางเมตร ชั้นนอกรายรอบด้วยระเบียงคดที่มีภาพสลักนูนต่ำรูปจำหลักเรื่องราวเป็นแนวยาว เดินดูได้รอบ .. ถัดเข้ามาเป็นกำแพงที่มีภาพสลักสวยงาม
ชั้นในเป็นระเบียงคด โคปุระ วิหาร ลานพิธีกรรม(โบสถ์) กุฏิ หอพระ ซุ้มปราสาทเมรุทิศ กำแพงของระเบียงมุขเชื่อมองค์ปราสาทที่นี่ มีการแกะสลักรูปนางอัปสรา (Davatas) และลวดลายที่สวยงามสลับซับซ้อน
Credit ภาพ : EJeab Academy
รูปแบบการวางผังปราสาท วางตามแนวตะวันออกมาตะวันตก ในคติปรัชญาการวางมณฑลเวที "ยันตระมันดารา " (Mandala) หรือ “ยันตระมณฑล” ของตันตระญาณ วางสัดส่วนของมณฑลโลกมนุษย์ไว้ด้านนอก .. มณฑลกลางเป็นหมู่ปราสาทประธานพระ อาทิพุทธะ และหมู่ปราสาทพระพุทธเจ้า ที่มียอดปราสาทแบบศิขระ เรือนลดหลั่นและปราสาทที่สลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่หน้า ลักษณะเช่นเดียวกับที่ปราสาทบายน
ผังของอาคารที่ดูซับซ้อน เริ่มต้นจากทิศทั้งสี่ นับเข้ามาจากทิศตะวันออก เดินตรงไปยังลานพิธี วิหารหรือศาลาพิธีกรรมด้านหน้า เข้าไปหมู่ปราสาทชั้นที่สอง (พระโพธิสัตว์ – มานุษิพุทธะ - เทพเจ้าฮินดู) ชั้นที่สาม (เหล่าพระพุทธเจ้า) ชั้นประธาน และชั้นศักติ (พลังเบื้องหลัง) ทะลุออกมาพบกับหอพระที่เป็นมณฑลปราสาทด้านหลัง
ภาพด้านหน้าทางเข้า .. ลักษณะเป็นลานชาลาสะพานนาคยกพื้นขึ้นสูง ที่บริเวณด้านหน้าปราสาท
ประติมากรรม “ครุฑยุดนาค” ที่ตรงหัวราวบันได เป็นศิลปะที่ได้เปลี่ยนรูปหัวนาคเดิมในยุคนครวัด ให้กลายเป็นรูปครุฑยุคนาคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น .. ครุฑที่ยุดจะยื่นมือออกมาทั้งสองข้างกรีดนิ้วแสดง “มุทรา” แห่งพลังอานุภาพ
รูปสลักสิงห์ทวารบาล ของสะพานนาค .. ทางเดินขึ้น 3 ทาง ตรงกลางเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของกษัตริย์
สุดทางของผ่านลานเสด็จพระราชดำเนิน .. จะมีประติมากรรมหินทรายหลายชิ้นตั้งอยู่
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี ประทับยืน 16 กร มีพระเศียรแบบตันตระ - สมันตมุข 9 พระพักตร์ สวมสายสังวาลไขว้ ในความหมายแห่งมหาจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ที่สุด .. ด้านล่างของรูป เป็นภาพของพระศิวะมหาเทพ (พระสทาศิวะ) และพระนางอุมากำลังแสดงความเคารพด้วยการอัญชลี
.. มีรูปของเทพเจ้าและเทวีนางฟ้าแสดงอัญชลีสักการะจำนวนมากที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายว่าองค์มหาเทพสูงสุดของฝ่ายฮินดู ต้องเดินทางมาแสดงนมัสการสักการะแก่องค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงอำนาจบารมีเหนือสกลจักรวาล มีอำนาจกว่าของพระโลเกศวรที่อยู่เหนือเหล่าเทพเจ้าฮินดู สอดรับกับคัมภีร์ “การันฑวยูหสูตร” (Karandavyūha Sūtra) ที่พรรณนาว่า เหล่ามหาเทพฮินดูนั้นล้วนกำเนิดขึ้นจากส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายของพระองค์
รูปประติมากรรมทวารบาล .. ไม่มีเศียร ถูกทุบทำลายแยกเป็นเสี่ยง ๆ
มองเข้าไปจากลานหินด้านหน้า .. บรรยากาศรกร้างแบบเทวาลัยกลางป่าในนิยาย มีร่องรอยของความยิ่งใหญ่ น่าศึกษา ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในโอบกอดของทิวไม้และผืนป่ามานับพันปี … ตอนนี้เพิ่งมีการขุดแต่ง ให้เราสามารถสัมผัสได้จริงๆ ลวดลายจำหลักกลางซากปรักหักพัง ยังดูเร้นลับน่าค้นหา
ภาพตลอดแนวยาวของกำแพงตะวันออก .. บอกเล่าเรื่องราวมากมายผ่านกาลเวลาและยุคสมัยให้เรารับรู้ ร่วม กับเรื่องราวของมหาสงครามเกียรติยศและยุทธนาวากับกองทัพจามปา ภาพวิถีชีวิตของผู้คนชาวเขมรโบราณ และภาพสลักทางศาสนาของ “ลัทธิโลกเกศวร” ที่นับว่าเป็นจุดเด่นหรือไฮไลท์สำคัญของปราสาทบันทายฉมาร์แห่งนี้ .. ลวดลายส่วนใหญ่ยังคงแจ่มชัดงดงามมาก แม้ผ่านกาลเวลามายาวนาน
ภาพสลักนูนต่ำบนกำแพงระเบียงคดฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ .. เล่าเรื่องราวของเจ้าชายศรีนทรกุมาร พระโอรสองค์สำคัญที่ปรากฏพระนามในจารึกบันทายฉมา ร่วมกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในฉากต่างๆของชีวิตในราชสำนัก .. การว่าราชการ การประทับดูการซ้อมรบบนภูเขา การทำยุมธนาวีกับจามปา
ภาพสงครามทางบกที่มีช้างเป็นยุทธพาหนะสำคัญ และมีภาพการรบอย่างดุเดือดทางบกกับพวกจาม เหมือนกำแพงที่ปราสาทบายน โดยพวกจามจะใส่หมวกเป็นรูปใบบัวคว่ำสองชั้น
สงครามยุทธนาวาในทะเลสาบเขมรกับกองทัพจาม .. ภาพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บนเรือรบหลวงพระที่นั่ง โขนเรือรูปพญานาค 6 เศียร ประดับเครื่องพระยศและธงชัยกระบี่ธุช สวยงามมาก พระองค์นำทัพเรือเข้าทำศึกกับพวกจามในยุทธการโตนเลสาบ ในปี พ.ศ. 17244
ภาพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 .. ว่ากันว่า แม้ใกล้เวลานอน พระองค์เอนพระวรกายหนุ่นหมอน แต่ยังทำงาน โดยมีแม่ทัพนายกองคอยรับสนองพระพบรมราชโองการอยู่ใกล้ๆ
ภาพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 .. กับพระมเหสี 3 พระองค์ พระนางราเชนทรเทวี พระนางศรีชยราชเทวี พระนางอินทรราเทวี
ภาพการยกทัพ มีข้าราชบริพารฝ่านใน และครัวทัพเขมรตามเสด็จไปด้วย
ภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงระเบียงคดชั้นนอกด้านทิศตะวันออกปีกทิศเหนือ ติดกับซุ้มโคปุระด้านหน้าของปราสาทฯ .. เป็นภาพพิธีกรรมการบูชาไฟพระฤกษ์โดยมหาราชครูพราหมณ์ เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในการออกรบ ด้านบนปรากฏรูปสลักพระศิวะเป็นประธานแห่งเทพเจ้าในการบูชาไฟ .. ด้านล่างขวามมือ เป็นการอัญเชิญไฟพระฤกษ์มาถวายแก่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
.. พิธีนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า พิธีโหมไฟพระฤกษ์ ปัจจุบันเรานำมาใช้เป็นชื่อ กระทรวงกลาโหม ซึ่งดูแลด้านกองทัพ
ทางด้านซ้ายของโคปุระ .. เมื่อเราเดินผ่านประตูเล็กด้านข้างเข้าไปก็จะพบกับกองหินขนาดมหึมาของลานและวิหารด้านหน้าทางซ้ายมือ ทางด้านขวาเป็นบ่อน้ำ (Pond) ..
ทิศใต้ มีรูปหน้าบันสามเหลี่ยมส่วนหน้าของวิหาร .. หน้าบันดังกล่าวสลักเป็นรูปพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ เป็นภาพของเจ้าชาย "สิทธัตถะ" กำลังตัดพระเกศา มีอาชา “กัณฐกะ” และนาย ”ฉันนะ” อยู่ด้านข้าง ด้านล่างเป็นเหล่าเทพยดานางฟ้าที่มาชุมนุมแซ่ซ้องสรรเสริญ
“ปราสาทบันทายฉมาร์” .. ปราสาทด้านในมีพื้นที่ประมาณ 250 x 250 ตารางเมตร ชั้นนอกรายรอบด้วยระเบียงคด ถัดเข้ามาเป็นกำแพงที่มีภาพสลักนูนต่ำสวยงาม ชั้นในเป็นระเบียงคด โคปุระ และซุ้มปราสาทเมรุทิศ ที่มีการแกะสลักรูปนางอัปสรา (Davatas) และลวดลายที่สวยงามสลับซับซ้อน ตรงกลางเป็นปราสาทประธาน มียอดปราสาทสลักเป็นรูปบุคคลสี่หน้า ลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทบายน
ผังด้านในของปราสาทบันทายฉมาร์ มีความสลับซับซ้อน คล้ายคลึงกับผังของปราสาทเบงมาลา (Beng Mealea) ปราสาทพระขรรค์ และปราสาทตาพรหมแห่งเมืองกำปงสวาย คงเพราะเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและในคตินิยมเดียวกัน
เราจะเริ่มเดินชมด้านในของปราสาทกันนะคะ
ในปัจจุบันมีการสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินสำหรับผู้มาเยือน เพื่อไม่ให้มีการเข้าไปปีนป่ายบนกองหิน หรือเข้าใกล้ส่วนของอาคารต่างๆที่อยู่ในระหว่างการบูรณะ และอาจจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายขึ้นได้
ภาพกินรีและครุฑ .. เป็นภาพสัญลักษณ์ของสัตว์หิมพานต์ เป็นภาพบนทับหลังประตูทางเข้าที่งดงามมาก แม้จะอยู่ในสภาพทรุดโทรมไปบ้าง ..
กาพย์ฉันท์ประกอบเสียงดนตรีอันไพเราะ 24,000 โศลก .. เรื่องราวของฤาษี "วาลมิกิ" ผู้รจนาคัมภีร์ "รามายณะ" อันศักดิ์สิทธิ์ .. พระพรหม นกกระเรียนคู่และพรานป่า
พระฤๅษีวาลมีกิมุนีเดินทางไปสู่สำนักพระฤๅษีนารถมุนี เพื่อสนทนาไต่ถามว่าเรื่องราวของบุคคลสำคัญในโลกว่าเทพเจ้าพระองค์ใดเป็นผู้แกล้วกล้าควรแก่การสรรเสริญเป็นตัวอย่างของคุณธรรมให้กับมวลมนุษย์ พระฤๅษีนารถมุนีหรือฤๅษีนารอดได้เล่าประวัติของ “พระราม” อวตารแห่งองค์พระวิษณุให้สดับรู้โดยตลอด
ครั้นเดินทางกลับก็มาพบพรานยิงธนูใส่นกกระเรียนที่กำลังรื่นเริงอยู่กับคู่ของตน ฤๅษีวาลมีกิ เกิดสลดใจสมเพช จึงกล่าวคำสาปพรานนั้นว่า “นิษาท พรานเอย เจ้าอย่าได้ถึงความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปี เพราะได้พรากคู่นกกระเรียนซึ่งหลงเพลินในกาม”
คำพูดนั้น อาจทำให้พรานได้รับเคราะห์กรรม ในทันที
เมื่อเดินทางต่อมาสักพักจึงหวนระลึกในเหตุการณ์ ก็เสียใจ ด้วยมิใช่กิจของตน ท้าวมหาพรหม จึงปรากฏกายขึ้น แล้วปลอบใจว่า "แท้จริงคำสาปนั้นเป็นความหมายในทางสรรเสริญพระวิษณุเจ้าที่ทรงปราบยักษ์ แปลว่า.. มานิษาท ข้าแต่พระผู้เป็นที่ประทับแห่งพระลักษมี พระองค์ได้ถึงซึ่งความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปี เพราะได้พรากคู่ยักษ์สองตนซึ่งหลงเพลินในกาม"
ด้วยความรู้สึกสังเวชสลดใจในความพลั้งพลาดของตน ฤๅษีวามิกิจึงได้เปล่งถ้อยคำอุทานด้วยมีอารมณ์"โศกเศร้า" สะเทือนใจออกมาเป็นจังหวะโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นเสียงโอดครวญที่มีจังหวะลีลา มีความหมายงดงาม แล้วพรรณนาเรื่องราวของพระรามที่ได้ฟังมาจากฤๅษีนารอดออกมาด้วยความไพเราะ
ฤๅษีวาลมิกิก็ให้รู้สึกประหลาดใจเป็นยิ่งนัก จึงกล่าวถามแก่ตนเองว่า “เสียงอะไรหนอที่เราเปล่งออกมา” ..น้ำเสียงที่เปล่งออกมานั้น จึงถูกเรียกว่า “กาพย์” เป็นบทพร่ำพรรณนาอันประกอบด้วยอารมณ์และจังหวะนี้ ได้ถูกจัดอักษรเรียงวรรคตอนเป็นโศลก (บทโศก) นำไปสู่การรจนา “มหากาพย์รามายณะ” อันศักดิ์สิทธิ์ในกาลต่อมา
ภาพสลักที่หน้าบันวิหาร ซุ้มประตูทางเดินเข้าด้านหน้าของหมู่โถงอาคารที่มหาปราสาทบันทายฉมาร์นี้ จึง เป็นเรื่องราวกำเนิดแห่งการประพันธ์มหากาพย์
ภาพสลักสำคัญบนหน้าบันของประตูด้านหนึ่ง มีรูปบุคคลกำลังดีดพิณทางซ้ายมือ .. ว่ากันว่า เป็นการขับขานของ "ฤาษีวาลมิกิ" ผู้รจนาคัมภีร์ "รามายณะ" เป็นกาพย์ฉันท์ประกอบเสียงดนตรีอันไพเราะ 24,000 โศลกอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้ที่ฟังโศลกจะสามารถบรรลุสู่สรวงสวรรค์ .. เราจึงหยุดชมภาพสลักอยู่เนิ่นนาน และท่ามกลางสายลมอ่อนที่พัดมากระทบใบหน้านั้นมีเสียงการขับกล่อมโศลกแผ่วแว่วตามมากับสายลมด้วย
ภาพมหากาพท์ "รามายนะ" ฉากสังหารอินทรชิต .. พระลักษณ์สังหารอินทรชิต ลือลั่นไปทั้งสามภพ
เป็นภาพสลักบนหน้าบันเหนือซุ้มประตูเล็กด้านใน ฝั่งทิศเหนือ โถงอาคารวิหารพิธีกรรม (หอรามายณะ)
อินทรชิต เป็นยักษ์ที่ฤทธิ์และมีฝีมือ ร่ำเรียนวิชามามากมาย และบำเพ็ญตบะขอพรจากเทพผู้เป็นใหญ่ทั้งสาม .. พระอิศวรประทานศรพรหมมาศ และให้พรให้สามารถแปลงร่างเป็นพระอินทร์ได้ พระนารายณ์มอบศรวิษณุปานัม ส่วนพระพรหมมอบศรนาคบาศ และยังให้พรว่าจะไม่ตายบนพื้นดิน หรือถ้าถูกตัดหัวขาดตกถึงพื้นเมื่อใด จะเกิดไฟบรรลัยกัลป็เผาผลาญทุกสรรพสิ่งจนพินาศ
อินทรชิตถูกทำลายพิธีชุบศร เนื่องจากพิเภกได้วางแผนให้ฝ่ายพระรามไปทำลายพิธี จนอินทรชิตเสียอาวุธสำคัญไป
เมื่อหมดฤทธิ์ พระลักษณ์จึงแผลงศรตัดศีรษะอินทรชิต แล้วองคตนำพานแว่นฟ้าของพระพรหมมารองรับเพื่อไม่ให้ตกถึงพื้น .. และเมื่อทศกัณฑ์สูญเสียพระโอรส จึงต้องออกรบเองนับจาก
เทพเจ้า "ตรีมูรติ" ในลัทธิ "ฮินดูตันตระ" .. มีพระศิวะอยู่บนยอด พระนารายณ์อยู่ทางขวาและพระพรหมอยู่ทางซ้าย
ภาพสลัก "ทศกัณฐ์"และ"กุมกกรรณ"
ภาพดำเนิดนางสีดา .. เหนือประตูเล็กข้างซุ้มประตูใหญ่ ฝั่งทิศใต้ของหอพิธีกรรม อาคารด้านหน้าสุดของปราสาทบันทายฉมา
ฐานอาคารศิลาแลงประดับรูปสิงห์แบก .. ซึ่งน่าจะเป็นส่วนอาคาร เสาหิน เรือนหลังคาไม้มุงกระเบื้อง เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือพระโอรสเจ้าชายศรีนทรกุมาร
กาพย์ฉันท์ประกอบเสียงดนตรีอันไพเราะ 24,000 โศลก .. ฤาษีวาลมิกิผู้รจนามหากาพย์"รามายนะ" กำลังเล่าเรื่องฤาษีนารทะ และพระนารายณ์สังหารฤาษีสัมพูกะ
ภาพสลักกำเนิดแห่งหนุมานที่ปราสาทบันทายฉมาร์ ปรากฏภาพของ “มหาฤๅษีนาทรมุนี” (ฤๅษีนารอด) กำลังบรรเลงเพลงจากเสียงพิณเป็นโศลกอันศักดิ์สิทธิ์ บอกเล่าเรื่องราวการกำเนิด ของหนุมานจาก 3 บิดา “ท้าวเกสรี (หน้าวานร) พระศิวะมหาเทพ (ครองตรีศูล) และพระวายุหรือพระพาย (ผู้ถือธนู “วายุอัสตรา” เป็นสัญลักษณ์) โดยมีภาพของนางปุญจิตราสถาระ หรือ นางอัญชนา ผู้เป็นมารดา แสดงการสาธุการ สวดภาวนาอยู่เคียงข้าง
โฆษณา