19 ก.ค. 2022 เวลา 13:56 • หนังสือ
ทำไม Introverts ถึง Burnout จากการ Work from Home
ผมคิดว่าตัวเองเป็น introvert คนหนึ่ง
Introvert คือคนที่ชอบสภาพแวดล้อมที่มีตัวกระตุ้นน้อย (low stimuli environment)
การได้ทำงานเงียบๆ ได้อยู่กับตัวเอง คือการชาร์จพลังที่ดี ในขณะที่ extrovert นั้นได้พลังจากการได้พบปะพูดคุยกับผู้คนเยอะๆ
การ work from home นั้นทำให้ extrovert “เฉา” ได้ไม่ยาก เพราะไม่ค่อยได้เจอใคร
แต่สิ่งที่ได้พบกับตัวเองก็คือ introvert ที่ต้อง WFH ก็เฉาได้ไม่แพ้กัน ซึ่งน่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร
The Way We Work TED Series: 3
เรา WFH กันมาสองปีกว่าแล้ว สิ่งที่ประสบกันถ้วนทั่ว ก็คือการอยู่กับหน้าจอมากเกินไป และไม่มีขอบเขตระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว
สิ่งที่ทำให้เราสูญเสียพลังงานได้มากที่สุดคือ video call เพราะการอยู่ต่อหน้ากล้องนั้นไม่ต่างอะไรกับการต้องแสดงบนเวทีที่มีสายตามากมายจับจ้อง
การมีประชุมติดๆ กันทั้งวัน ย่อมไม่ต่างอะไรกับการขึ้นแสดงบนเวทีวันละ 8-10 ชั่วโมง ซึ่งสำหรับ introvert นั้นมันกินพลังอย่างมหาศาล
แถมตอน video call เราก็เห็นแค่หน้าหรือครึ่งตัวบน เราแทบไม่เคยเห็นแขน-ขา และภาษากายอื่นๆ เลย จึงทำให้เรา “อ่าน” คนได้ยากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น ถ้าอยากจะลดอาการ burnout เราต้องจัดการพลังงานของเราให้ดี ซึ่งมีสามเรื่องหลักๆ ดังนี้
.
หนึ่ง เราควรจะมี routine ที่ดี
แม้ว่าเราจะเกลียดการเดินทางไปออฟฟิศ แต่การเดินทางนี้ก็เป็นเส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานและเรื่องที่บ้าน
และเวลาเราเข้าออฟฟิศ เราก็มีโอกาสพักเบรคค่อนข้างบ่อย เช่นเดินไปชงกาแฟ หรือเมาธ์มอยกับเพื่อนร่วมงาน
สิ่งเหล่านี้แทบจะอันตรธานไปหมดในช่วง WFH ถ้าเราปล่อยให้ทุกอย่างเลยตามเลย
ดังนั้น เราควจะนำสิ่งเหล่านี้กลับมา อาจจะผ่านการฟังเพลง การคุยเล่นกับเพื่อนก่อนเริ่มการประชุม การไปเดินเล่นแถวบ้านหากแดดไม่ทารุณเกินไปนัก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยืดเส้นยืดสายหรือกลับมาอยู่กับลมหายใจก่อนที่เราจะเริ่มทำงานชิ้นต่อไป
.
สอง เราต้องจัดการจังหวะการทำงาน (pace)
pace คือจังหวะการทำงาน เราควรพยายามจัดสรรกิจกรรมที่ดูดพลังกับกิจกรรมทีเติมพลังให้มีความบาลานซ์กัน
เราอาจจะมี video call ให้น้อยลง เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า video call นั้นเปรียบเหมือนการขึ้นแสดงบนเวที
เราอาจจะจองเวลาไว้ใน calendar เพื่อ “มีนัดกับตัวเอง” สำหรับการชาร์จแบตหลังประชุมเสร็จ และเราควรรู้ตัวเองด้วยว่าจะใช้เวลาช่วงไหนทำงานที่ต้องใช้สมาธิ และเวลาช่วงไหนที่เราพร้อมจะ “ขึ้นเวที”
.
สาม ในฐานะหัวหน้า เราสามารถช่วยป้องกันอาการ burnout ได้ด้วยการมี agenda การประชุมที่ชัดเจน ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และพร้อมตัดบทคนที่พูดยาวและพูดมากเกินไป (extroverts!)
หัวหน้าควรปรับวิธีการระดมสมองหรือ brain storming ด้วย เพราะสำหรับ introverts แล้วการระดมสมองกันสดๆ ทำให้เขารู้สึกกังวลและไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรมากนัก วิธีที่อาจจะดีกว่า คือให้แต่ละคนได้เขียนไอเดียของตัวเองส่งมาก่อนที่จะเริ่มการประชุม
อีกสิ่งหนึ่งที่หัวหน้าทำได้ คือแนะนำให้คนในทีมใช้ audio call แทน video call ในบางงานวิจัยการคุยกันโดยใช้เสียงอย่างเดียวสามารถสื่อสารอารมณ์และข้อความระหว่างบรรทัดได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป
อีกท่าหนึ่งที่น่าสนใจ คือ asynchronous communication หรือการสื่อสารแบบ “ว่างแล้วค่อยมาตอบ” นักเขียนชื่อ Robert Glazer ชอบอัดเสียงหรืออัดวีดีโอเพื่อเล่าความคิดของตัวเองส่งให้เพื่อนร่วมงาน พอเพื่อนสะดวกเมื่อไหร่ก็จะได้มีเวลาขบคิดให้ดีแล้วค่อยส่งคำตอบกลับมา
.
การทำงานแบบ WFH หรือ WFA (Work from Anywhere) จะอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเอานิสัยเก่าๆ หรือวัฒนธรรมองค์กรเดิมๆ มาใช้กับ remote work
หากไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองถาม introverts ที่ทำงานของเราดูก็ได้ว่าวันทำงานในอุดมคติของเขาหน้าตาเป็นยังไง แล้วค่อยเริ่มจากตรงนั้นครับ
โฆษณา