20 ก.ค. 2022 เวลา 12:18 • ไลฟ์สไตล์
“เฉลียวใจ … อาศัยสิ่งนี้ในการภาวนา”
“ … หลวงพ่อถือหลักอย่างนี้เลย นิมิตทั้งหลายจะจริงหรือจะปลอม ไม่มีความสำคัญ
นิมิตอย่างนี้เกิดขึ้น จิตเราเป็นอย่างไร ตรงนี้ต่างหากของสำคัญ
เช่น เรานิมิตว่าเราเป็นเทวดา เคยเป็นเทวดา แล้วใจเราดีใจ เราเห็นความดีใจอย่างนี้เราได้ประโยชน์ ถึงจะจิตหลอนก็ตาม แต่ว่าเราย้อนมาดูจิตดูใจได้ อย่างนี้ถือว่าดี
เพราะฉะนั้นนิมิตที่จิตไปรู้ไปเห็นเข้า กับสิ่งซึ่งตามองเห็น
หูได้ยินเสียง หรือกลิ่นที่เราได้กลิ่นจริงๆ
รสที่เราได้รสจริงๆ มันเสมอกัน
ของจริงกับของปลอมเสมอกัน
ไม่ต้องตกใจที่เห็นจริงหรือปลอม ไม่สำคัญ
เอาเข้าจริงก็คือปลอมทั้งนั้น
ล้วนแต่ของที่หลอกๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับทั้งสิ้น
ฉะนั้นเวลาภาวนาแล้วเกิดรู้เกิดเห็นอะไรขึ้น ใจเราเป็นอย่างไรตัวนี้สำคัญที่สุด
เราเห็นนิมิตแล้วใจเราฟูเชียวเราก็ภูมิใจ เราเห็นเลยใจมันฟูขึ้นมา
เรานิมิตไม่ดี เช่น พ่อแม่เราตาย เราก็ฝันไปว่าไปตกนรกอยู่ ไปเป็นหมาเป็นแมวอยู่ที่นั่นที่นี่ บางคนเที่ยวตามหา ไปเป็นหมาอยู่ที่ไหนจะตามไปเก็บมาเลี้ยง อันนี้ฟุ้งซ่านแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าพอมีนิมิตอะไรเกิด ให้รู้ใจตัวเองเลย เราจะผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้
หรือบางทีเราภาวนาไปเจริญวิปัสสนาไป สมาธิเราไม่พอ ในขณะที่กำลังเดินวิปัสสนาอยู่แล้วสมาธิไม่พอ มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้น
แล้วเวลาเราทำสมถะ แล้วใจเรามันมีสมาธิไม่พอ มันจะมีนิมิตขึ้น ถ้าจิตมีสมาธิพอเข้าอัปปนาไปแล้วนิมิตไม่มี
มันจะมีสิ่งซึ่งหลอกลวงเรา สิ่งที่หลอกลวงตอนที่เราทำสมถะ แล้วจิตเราไม่สงบพอคือพวกนิมิตทั้งหลาย
แล้วสิ่งที่หลอกลวงเรา ตอนเราทำวิปัสสนาแล้วสมาธิไม่พอ คือพวกวิปัสสนูปกิเลส
เราค่อยๆ สังเกต แต่ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น จะนิมิตหรือจะวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ย้อนมาที่จิตเลย จิตเรารู้สึกอย่างไร ยินดียินร้ายไหม ดูลงมาที่จิต
ถ้าเข้าถึงจิตตัวเอง ของปลอมทั้งหลายจะสลายตัวไปหมดอัตโนมัติเลย หัดรู้หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก
พอไหวไหม หัดดูกายในมุมของความเป็นไตรลักษณ์ไว้
หัดดูจิตในมุมของความเป็นไตรลักษณ์ไว้
ตรงที่เราเห็นไตรลักษณ์ไม่เห็นตลอด
บางทีจิตก็พลิกไปทำสมถะ
ฉะนั้นทำสมถะไป
เดินวิปัสสนาอยู่แล้วจิตพลิกไปทำสมถะ
เกิดอะไรขึ้นมาเรียกวิปัสสนูปกิเลส
เราก็คิดว่าเราบรรลุแล้ว
ถ้าเราทำสมถะอยู่แล้วเกิดรู้เกิดเห็นอะไรขึ้นมา เป็นนิมิต เป็นเครื่องหมาย เป็นสิ่งสังเกตเท่านั้น มีประโยชน์ไหม บางอย่างมีประโยชน์
อย่างเรานั่งสมาธิแล้วนิมิต เราเห็นสัตว์นรกเห็นอะไรอย่างนี้ ใจเราก็กลัวที่จะทำบาป กลัวจะทำชั่ว
ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านจะสอน ให้เรามีนิมิตอันนี้ขึ้นมา ไปเที่ยวนรก ไปเที่ยวสวรรค์อะไรอย่างนี้ คนจะได้กลัวไม่อยากทำบาป อยากจะทำความดี อันนี้เป็นอุบายสอนคนซึ่งอยากเกิด
คนส่วนใหญ่มันอยากเกิดทั้งนั้น คนที่อยากนิพพาน มันอยากแต่ชื่อ อยากแต่ปาก ใจจริงไม่อยากหรอก
ลองวัดใจตัวเอง ให้นิพพานตอนนี้เอาไหม ไม่เอา ส่วนใหญ่ไม่เอา
ฉะนั้นท่านก็เลยคนยังอ่อนอยู่ ท่านก็หลอกล่อ นั่งสมาธิเห็นสัตว์นรกจะได้กลัวบาป นั่งสมาธิเห็นเทวดาจะได้อยากทำบุญ อย่างน้อยก็เป็นคนดีไว้ก่อน
แล้วบุญบารมีมากพอ ได้ยินได้ฟังธรรมะเกี่ยวกับการเจริญสติ เจริญปัญญา ใจมันก็รับได้
ถ้าใจเราต่ำช้ามากหยาบช้ามาก ฟังธรรมะอย่างไร มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก
ฉะนั้นการที่บางที่บางสำนัก ครูบาอาจารย์สอนให้เห็นผี เห็นเปรต ถ้าเห็นแล้วรู้จักน้อมนำเอามาเป็นธรรมะก็ใช้ได้
แต่ที่สำคัญก็คือถ้าเราเจริญปัญญาแล้ว จะเห็นนิมิตทั้งหลาย จะจริงหรือจะปลอม ไม่สำคัญแล้วคราวนี้ เสมอกัน พอเห็นแล้วจิตเราเป็นอย่างไร เรารู้ทันอย่างนั้นใช้ได้
นิมิตมีเยอะ นิมิตเป็นรูปก็มี เช่นเราเห็นคนเดินมาอย่างนี้ จริงๆ ไม่ใช่คนหรอก เป็นผีเดินมา
หรือบางทีจิตเราหลอนเห็นโน่นเห็นนี่
นิมิตทางตาก็มีทั้งจริงทั้งปลอม
นิมิตทางหูได้ยินเสียง บางทีก็มีทั้งจริงทั้งปลอม
จิตหลอน ทุกวันนี้มีเยอะ จิตไม่ปกติ
นั่งๆ อยู่หรือเดินอยู่ได้ยินเสียง
ได้ยินเสียงคนโน้นว่าคนนี้ว่า หรือหวาดระแวง จิตมันหลอน
อันนั้นต้องปรึกษาจิตแพทย์เลย เป็นอาการหนักแล้ว
หรือเราไม่ได้จิตหลอน มันได้ยินจริงๆ พวกโอปปาติกะพูดอะไรอย่างนี้เราได้ยิน อันนี้ก็เป็นนิมิต
นิมิตเป็นกลิ่นก็มี กลิ่นหอมมี กลิ่นเหม็นก็มี
นิมิตเป็นรสก็มี นิมิตเป็นสัมผัสก็มี
บางทีรู้สึกเหมือนคนนวดให้เลย รู้สึก
นิมิตทั้งนั้นไม่สำคัญ
ภาวนาอะไรๆ ก็สู้ความสังเกตเอาไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราหัดดูไตรลักษณ์ไป แล้วก็สังเกตจิต
ตอนนี้จิตพลิกไปทำสมาธิแล้วรู้ทัน
ตอนนี้จิตหมดกำลังของสมาธิแล้วรู้ทัน
ถ้ารู้ทันเราก็จะไม่ไปหลงนิมิต ไม่หลงเกิดวิปัสสนูปกิเลส
คอยรู้ทันจิตไป จิตทำสมถะก็รู้ จิตทำวิปัสสนาก็รู้
หัดสังเกตเอา ถ้าเมื่อไรจิตมันไปหมายรู้กายในมุมของไตรลักษณ์ ไปหมายรู้จิตในมุมของไตรลักษณ์ อันนั้นเป็นวิปัสสนา
ถ้ามันไปรู้กายนิ่งๆ รู้ใจนิ่งๆ อยู่เป็นสมถะ
แล้วถ้ามันไม่รู้กาย ไม่รู้ใจ มันหนีไปเลย อันนั้นเป็นความฟุ้งซ่าน ตรงฟุ้งซ่านนี่ล่ะนิมิตอะไรก็เกิดง่าย มันหลอน จิตหลอนไม่อยากเรียกนิมิตหรอกเรียกมันหลอน ฉะนั้นเราภาวนาอะไรๆ ก็สู้ความสังเกตเอาไม่ได้
หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ไม่มากหรอก เราเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นข้าราชการวันลามีไม่มากหรอก ปีหนึ่งได้ 10 วัน 15 วัน ก็ลาไปเรียน เวลาส่วนใหญ่เราอยู่ที่บ้าน เราไม่ได้เจอครูบาอาจารย์
สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดเลยที่หลวงพ่อเห็น
คือ โยนิโสมนสิการ สังเกตตัวเองอย่างแยบคายเลย
อย่างเราภาวนาอยู่แล้วจิตมันก็ว่างสว่าง
มีความสุขอยู่แรมเดือนแรมปี มันผิดหลักของไตรลักษณ์
จิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง
จิตเป็นทุกข์ ทำไมจิตเราเป็นสุข
จิตบังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้
พอมันเห็นอย่างนี้เรียกว่ามันเฉลียวใจแล้ว
ฉะนั้นโยนิโสมนสิการ ไม่ได้ฉลาดอะไรหรอก มันน่าจะแปลว่าเฉลียวมากกว่า เฉลียวใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นี่มันตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนไหม หรือมันขัดแย้งกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน
เฉลียวใจ อาศัยสิ่งนี้ในการภาวนา ในเพศของฆราวาส เราไม่ได้เจอครูบาอาจารย์ได้ทุกวันแบบพวกพระ พระบวชอยู่กับครูบาอาจารย์
แต่ส่วนใหญ่ในวัดป่าจริงๆ ครูบาอาจารย์ไม่ได้สอนทุกวัน วันพระ วันปาฏิโมกข์ ท่านถึงจะเทศน์ให้ฟัง ให้พระฟัง เดือนหนึ่งมี 2 ครั้งเอง เวลาที่เหลือก็ไปทำเอาเอง จะทำหรือไม่ทำก็เรื่องของเธอแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่ สังเกตตัวเองไป
สังเกตที่ทำอยู่มันถูกไหม มันเห็นไตรลักษณ์ไหม
หรือมันคิด มันได้แค่คิดเรื่องไตรลักษณ์
หรือไม่สนใจไตรลักษณ์เลย ดูแต่รูปดูแต่นาม
สังเกตตัวเองเรื่อยๆ เราจะรู้เลยว่าตอนนี้จิตทำสมถะ
ตอนนี้จิตทำวิปัสสนา
จิตทำวิปัสสนาอยู่สักช่วงหนึ่ง
จิตตกจากวิปัสสนาลงมาเป็นสมถะ
มันจะพลิกไปพลิกมาได้
ถ้าคนไม่ทรงฌานมันทำวิปัสสนาได้ไม่นาน ได้สั้นๆ ด้วยกำลังของขณิกสมาธิ แต่ถ้าได้ฌาน ก็เดินวิปัสสนาได้นานหน่อย แต่ก็ไม่เกิน 7 วันฌานมันก็เสื่อม มันเป็นของเสื่อมก็ต้องทำอีก
ฉะนั้นฝึกตัวเองทุกวัน ฝึกไป
ดูกาย ดูใจ รู้สึกอยู่ที่กาย รู้สึกอยู่ที่ใจ
ไม่วอกแวกไปที่อื่นได้สมถะ
เห็นกายแสดงไตรลักษณ์โดยที่ไม่ได้เจตนาเห็น
เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาเห็น
อันนั้นเป็นวิปัสสนา
บอกแล้ววิปัสสนาไม่ทำตลอดเวลาหรอก
พอกำลังของสมาธิอ่อนลง บางทีจิตก็พลิกเข้าไปทำสมถะเอง
หรือบางทีสมาธิอ่อนลง จิตไม่ยอมพลิกไปทำสมถะด้วย
จิตหลอนไปเลย เกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา
ฉะนั้นถ้าจิตพลิกมาทำสมถะไม่เป็นไร แล้วก็ถ้ามันไม่มาทำสมถะ มันเคลิ้มลงไป อันนั้นวิปัสสนูปกิเลสจะเกิด
หรือถ้าเราทำสมถะอยู่ เรารู้ว่าทำสมถะ จิตเราอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วเกิดรู้เกิดเห็นอะไรขึ้นมา อันนั้นตัวนิมิต ทำสมถะอยู่แล้วเกิดรู้เกิดเห็นอะไร พวกนั้นเรียกนิมิต
ทำวิปัสสนาอยู่แล้วกำลังสมาธิอ่อน จิตไม่ตั้งมั่น จิตเคลิ้มออกไปเห็นโน้นเห็นนี้ แล้วมันจะหลง เป็นวิปัสสนูปกิเลส ตรงนี้ส่วนใหญ่จะคิดว่าได้มรรคผลชั้นนั้นชั้นนี้
ฉะนั้นต้องระมัดระวัง อะไรๆ ก็สู้ 2 สิ่งไม่ได้
พระพุทธเจ้าบอกว่า 2 สิ่งนี้อันใดอันหนึ่งก็ได้
คือต้นทางของอริยมรรค
อันที่หนึ่งคือกัลยาณมิตร แต่ในยุคนี้เราไม่รู้ว่าใครคือกัลยาณมิตร
สิ่งที่หลวงพ่ออยากให้พวกเราใส่ใจให้มาก คือโยนิโสมนสิการ สังเกตตัวเองไป อย่าเข้าข้างตัวเอง สังเกตไป
อย่างถ้าเราคิดว่าเราบรรลุมรรคผลชั้นนั้นชั้นนี้แล้ว
ใจเย็นๆ สังเกตไป
ได้โสดาบันแล้ว ความรู้สึกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเป็นตน ยังมีอยู่ไหม นี่ตัวเรายังอยู่ไหม ค่อยๆ สังเกต รู้ไปเรื่อยๆ
หรือคิดว่าได้พระอนาคามี สังเกตไปเรื่อยๆ กามราคะยังเกิดไหม ดูไป ปฏิฆะยังเกิดไหม หัดรู้หัดดูไป
หรือคิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว จิตยังเข้าไปหยิบฉวยธาตุฉวยขันธ์อะไรอยู่ไหม จิตยังหลงตามความปรุงแต่งอยู่ไหม มันจะไม่เป็นอย่างนั้น
ดูจากของจริงๆ ไม่เข้าข้างตัวเองหรอก นี่โยนิโสมนสิการ สำคัญมาก
อย่าไปเชื่อเรื่องกัลยาณมิตร ชอบนักเชียว ชอบตั้งองค์นี้เป็นพระอรหันต์ องค์นี้เป็นพระอนาคามี องค์นี้ได้โสดาบัน เอากิเลสของเราไปตั้งพระ อย่ามาตั้งใส่หลวงพ่อ หลวงพ่อได้ชั้นนั้นชั้นนี้
หลวงพ่อเทศน์มาร่วม 20 ปี ลองไปดูหลวงพ่อเทศน์ไว้หลายพันกัณฑ์ มีไหมหลวงพ่อบอกว่า หลวงพ่อบรรลุพระอรหันต์วันนั้นวันนี้ เมื่อนั้นเมื่อนี้ มโนกันทั้งนั้น
ฉะนั้นตัวสำคัญเรื่องกัลยาณมิตร ฟังแล้วพิจารณาดูว่า สิ่งที่ครูบาอาจารย์องค์นี้สอน มันเป็นไปเพื่อการลดละกิเลสได้จริงไหม ลองดูก็ได้ ลองทำดู ถ้าทำแล้วกิเลสไม่กระเทือน หรือกิเลสโตขึ้น ไม่ใช่แน่นอน
แต่ที่สำคัญที่สุดมีโยนิโสมนสิการ สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่
ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป
ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต
หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้
ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน
หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง
สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก
3
ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา
อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์
แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้”
ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว”
ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก
โดยเฉพาะทุกวันนี้ เราไม่รู้ว่าองค์ไหนจริงไม่จริง อย่ามั่ว แล้วไม่ต้องมาตั้งองค์นั้นเป็นนั้น องค์นี้เป็นนี้
แล้วอีกอย่างชอบมากเลย ทุกวันนี้สำนวน เวลามีนักปฏิบัติตายหรือมรณภาพ “น้อมส่งสู่พระนิพพาน”
นิพพานไม่ต้องส่ง นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อหน้านี้
ส่งไปนิพพานก็คือส่งจิตออกนอกอีกล่ะ
เราไปส่งใครไปนิพพานไม่ได้หรอก
เราส่งตัวเองไปนิพพานยังไม่ได้เลย
ฉะนั้นอย่าเพ้อ อย่าไปตั้งพระอริยะเล่น
พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้ทำอย่างนั้น
เอกสิทธิ์ในการพยากรณ์เป็นของพระพุทธเจ้า
ของสาวกรู้ด้วยตัวเอง
แต่อย่างพระคุยกันเป็นอีกแบบหนึ่ง พระคุยกันท่านแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน อันนี้ไม่ได้ผิด ไม่ได้ว่าอวดอุตริฯ อะไรหรอก พระทำอย่างนั้นด้วยเรียก ธรรมสากัจฉา สนทนากัน ถูกต้อง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 กรกฎาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา