22 ก.ค. 2022 เวลา 12:09 • ธุรกิจ
การขนส่งทางอากาศหรือทางทะเล ขนส่งแบบไหนเหมาะกับสินค้าของคุณ
2
การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2564 มีมูลค่า 17.09 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
  • การขนส่งทางทะเลเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.2 (เติบโตร้อยละ 28.8) สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และชิ้นส่วนรถยนต์
  • การขนส่งทางอากาศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.7 (เติบโตร้อยละ 13.3) สินค้าสำคัญ ได้แก่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร
  • การขนส่งทางถนนและทางราง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.1 เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ยางธรรมชาติ แผ่นไม้อัด
ซึ่งการขนส่งทางเรือและทางอากาศมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีสัดส่วนการขนส่งรวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทย
เรามาดูกันว่าการขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศมีความแตกต่างกันอย่างไร และปัจจัยอะไรที่กำหนดว่าสินค้าควรจะขนส่งทางเรือหรือทางอากาศ
การขนส่งสินค้าทางทะเล
มีบทบาทสําคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน และในอนาคต เพราะสามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณมาก และมีค่าระวาง (ค่าขนส่ง) ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น แตใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าที่นานที่สุด
ข้อดี
1
  • มีอัตราค่าบริการต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น
  • สามารถขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้
  • สามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณมากและรองรับสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ
ข้อเสีย
  • ใช้ระยะเวลานานในการขนส่งเมื่อเทียบกับรูปแบบอื่น
  • ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาขนส่งได้อย่างแน่นอน
1
การขนส่งสินค้าทางอากาศ
การขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นการขนส่งที่รวดเร็วที่สุดเหมาะสำหรับสินค้าที่ต้องการความเร่งด่วนในการจัดส่งสินค้า หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง
ข้อดี
  • ใช้ระยะเวลาในการขนส่งเร็วที่สุด
  • มีระยะเวลาการขนส่งที่แน่นอน
  • สินค้าที่ขนส่งมีความเสียหายน้อยเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น
ข้อเสีย
  • มีอัตราค่าบริการสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น
  • มีกฏระเบียบเข้มงวดมากกว่าในการขนส่งรูปแบบอื่น
การเลือกรูปแบบของการขนส่งสินค้าให้เหมาะสมกับประเภทของสินค้าเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและประหยัดระยะเวลาในการขนส่ง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าของเราจะเหมาะกับการขนส่งรูปแบบไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ลักษณะของสินค้า
  • ขนส่งสินค้าทางอากาศ
- สินค้าที่เสื่อมสภาพได้ง่าย เช่น ดอกกล้วยไม้ พืชผลสด อาหารสด
- สินค้ามีขนาดเล็กและมีมูลค่าสูง เช่น เครื่องประดับ
- สินค้ามีปริมาณน้อยและน้ำหนักน้อย
  • ขนส่งสินค้าทางทะเล
- สินค้าที่คงทน หรือ เสื่อมสภาพยาก เช่น มะพร้าว เหล็ก ปลากระป๋อง
- สินค้ามีปริมาณมากและน้ำหนักมาก
2. ความเร่งด่วนในการใช้สินค้า
  • ขนส่งสินค้าทางอากาศ - สินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างภาวะฉุกเฉิน เช่น ยารักษาโรค วัคซีน สัตว์ที่มีชีวิต
  • ขนส่งสินค้าทางทะเล- สินค้าที่ไม่ต้องการความเร่งด่วน
3. ต้นทุนค่าขนส่ง
  • ขนส่งสินค้าทางอากาศ - อัตราค่าบริการสูง
  • ขนส่งสินค้าทางทะเล - อัตราค่าบริการต่ำ
4. ลักษณะทางภูมิศาสตร์
  • ขนส่งสินค้าทางอากาศ
ประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดทะเล การขนส่งทางอื่นอาจจะมีความล่าช้าในการขนส่ง หากต้องการขนส่งสินค้าเร่งด่วน ดังนั้นการขนส่งสินค้าทางอากาศ จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากที่สุด
1
  • ขนส่งสินค้าทางทะเล
ในประเทศที่มีอาณาเขตติดกับทะเล การขนส่งสินค้าทางทะเลย่อมมีบทบาทที่สำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
1
แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดกับทะเลก็สามารถใช้การขนส่งแบบ Multi Modal เช่น การขนส่งสินค้าด้วยเรือไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและต่อด้วยขนส่งทางรถและทางราง เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งไปยังประเทศที่มีการขนส่งสินค้าทางทะเล
ในบางครั้งสินค้าชนิดเดียวกันอาจจะใช้รูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ และความต้องการของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
ดังนั้นการเลือกใช้รูปแบบการขนส่งที่เหมาะสมจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าขนส่งและค่าเสียโอกาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โฆษณา