20 ก.ค. 2022 เวลา 10:39 • การเมือง
เปิดมุมมอง ‘ดร.เข็มทอง’ วิเคราะห์อุปสรรคโหวตไม่ไว้วางใจ
ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์กับรายการ workpointTODAY LIVE ในวันแรกของอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) ถึงแนวโน้มการลงมติที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 ก.ค. นี้
1
ดร.เข็มทอง มองว่าการอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านคงเตรียมข้อมูลด้านต่างๆ มาอภิปราย แต่ฝั่งรัฐบาลเอง “น่าจะผ่านไปได้” ไม่ใช่เพราะจากการชี้แจง แต่เป็นเพราะการยกมือของพรรคร่วมรัฐบาลที่มองว่ายังคงเป็นเสียงข้างมาก
“ถ้าเราดูในรัฐธรรมนูญ มันก็มี ส.ส. ไปทำหน้าที่ ในรัฐธรรมนูญมันไม่ได้พูดถึงพรรคการเมืองเลยนะครับ แต่ว่าในความเป็นจริงนอกจากเสียงประชาชน มีเอกสิทธิ์ ส.ส. แล้ว มันมีมติพรรคงอกขึ้นมาด้วย” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสภาไทยผูกอยู่กับมติพรรคค่อนข้างมาก
ดังนั้นแม้ฝ่ายค้านเตรียมข้อมูลเด็ดมาดีแค่ไหน แต่ ดร.เข็มทอง มองว่าโอกาสที่จะเพิ่มเสียงโหวตไม่ไว้วางใจคงเป็นไปได้น้อย แม้ว่าในกระแสข่าวช่วงนี้มีการ ‘เปลี่ยนข้าง ย้ายขั้ว’ เนื่องจาก “ถ้าเกิดหักมติพรรค คุณก็ต้องมั่นใจว่าคุณมีที่อื่นไปนะ”
สำหรับกรณีการรวมกลุ่มของ ส.ส.พรรคเล็ก และยังไม่ชัดเจนว่าจะโหวตไปในทิศทางใด ดร.เข็มทอง ชี้ว่าบางคนบอกว่าเป็นการ “เพิ่มค่าตัว” เนื่องจากหลายคนได้มาเพราะ “ฟลุ๊ค” จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คำนวณเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ตอนการเลือกตั้งปี 2562
“หลายๆ คน ไม่มีโอกาสกับการเลือกตั้งคราวหน้าเท่าไหร่ อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย เราเรียกค่าตัวแล้วได้ครั้งเดียวจบเลย อันนี้ก็เป็นอีกข้อนึงที่พรรคเล็กอาจจะคิดอยู่ก็ได้”
“สิ่งที่ระบบประชาธิปไตยที่เราเป็นอยู่ขณะนี้แสดงออกมาคือ อภิปราย 4 ครั้งในเรื่องต่างๆ ซึ่งมันอื้อฉาวมาก ล้มรัฐบาลไม่ได้เลย เพราะทุกคนโหวตตามมติพรรคหมด ไม่มีใครแตกแถว มีแต่เรื่อง ‘ป้อนกล้วย-แจกกล้วย’ กัน กลายเป็นเรื่องการซื้อตัวเรื่องผลประโยชน์”
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คือมีการจัดกิจกรรมลงมติจากภาคประชาชน พรรคการเมือง และนักวิชาการด้วย แต่อย่างไรก็ตามในมุมมองของ ดร.เข็มทอง เห็นว่าคงไม่สามารถสร้างให้เกิดแรงกดดันการลงมติของ ส.ส.ในสภาได้
“ถ้าเกิดว่ารัฐบาลผ่านการชุมนุมใหญ่ปี 63-64 มาได้ กิจกรรมแค่ลงมติตรงนี้เป็นแค่เชิงสัญลักษณ์ มันไม่น่าจะเปลี่ยนใจพรรคต่างๆ ได้เท่าไหร่ ไม่สามารถกดดันได้ แน่นอนเราก็เห็นรัฐบาลก็คง concern (กังวล) มีการส่งตำรวจไปบางจุดบ้าง แต่อันนี้ก็ตามปกติ มันได้ผลในแง่ของประชาชนเองที่กระตุ้นเรื่องการมีส่วนร่วม การติดตามข่าว แต่ไม่น่าจะกระทบหรือเปลี่ยนแปลงการเมืองภาพใหญ่ได้” ดร.เข็มทอง วิเคราะห์
สิ่งหนึ่งที่ ดร.เข็มทอง เห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะสร้างผลกระทบได้ คือการที่ข้อมูลซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านนำออกมาแฉหรือเปิดโปง จะเป็นการสร้างความทรงจำให้ประชาชนว่ามีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เป็นการเอาเรื่องที่อยู่ในที่ลับออกมาคุยในที่แจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับ “คุณภาพประชาธิปไตย” ต่อไปในอนาคต
ย้อนฟังรายการเต็มๆ ได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=wzJZgUhsdUM
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
โฆษณา