20 ก.ค. 2022 เวลา 11:42 • ถ่ายภาพ
รักในสายพระเนตร
“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ ๑๐๐ บาท ตั้งหลายปี มาแล้ว จนบัดนี้ก็เห็นเขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายไว้เดือนละ ๑๐๐ บาทอยู่เรื่อยมา”
การถ่ายภาพถือเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสนพระทัยอย่างจริงจัง เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ทรงโปรดถ่ายภาพสิ่งต่าง ๆ เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์จะปรากฏบนปกนิตยสารต่าง ๆ เสมอ เช่น วารสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร จนพระองค์ มีพระราชดำรัสอย่างพระอารมณ์ขันแก่คนสนิทใน พระพระราชดำรัสด้านต้นของบทความ
วานนี้ข้าพเจ้าได้ซื้อหนังสือ ประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านในหนังสือนั้น นับว่าเป็นภาพถ่ายส่วนพระองค์ เพราะส่วนใหญ่จะทรงฉายภาพสถานที่ โดยรอบของพื้นที่ที่พระองค์ไป เพื่อนำกลับมาวางแผนทำโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ ซึ่งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จำนวนมากเหล่านั้น จะถูกนำเอาไปวางแผนปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ที่ทรงเสด็จในหลายกรณี
ในปี ใน พ.ศ. ๒๕๕๕ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในชื่อ ‘รักในสายพระเนตร’ ภาพส่วนพระองค์ที่อยู่ในประมวลภาพถ่ายพระหัตถ์ นั้น สะท้อนให้เห็นความรักในพระราชหฤทัย ผ่านสายพระเนตร และเลนส์กล้องของพระองค์
นอกจากความรักในประชาชนแล้ว ความรักที่ทรงมีแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีภาพของพระองค์มากที่สุดในหนังสือชุดนี้
เพียงแต่ภาพแรกของหนังสือเล่มนี้ กลับเป็นภาพของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ที่ทรงสวมเสื้อ พอ.สว. หรือ หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ หน่วย แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นอาสาสมัครทำงานด้วยความเสียสละโดยมิได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นใดและจะเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตรวจรักษาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่าง ๆ ที่กันดารห่างไกล ความเจริญเฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับสั่งถามว่า “เคยรู้ไหมว่าเสียงชัตเตอร์ดังอย่างไร”
ทุกคนก็ตอบว่า ดังแชะๆ แต่พระองค์ท่านตรัสว่า ของเราดัง “เชดเบิด” ทรงเลียนเสียง เชดเบิด ก็คือ ๗ บาทนั้นเอง ถ่ายภาพ ๑ ภาพกว่าจะได้มานั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ารถ ค่ากิน ค่าเสื่อมของกล้อง ค่าฟิล์ม และค่าล้างฟิล์ม กว่าจะได้ออกมาเป็นภาพถ่าย ๑ ภาพก็เสียเงินไปประมาณ ๗ บาทนั้นเอง
จากพระราชดำรัสนี้ทำให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงละเอียดและทรงรอบคอบอย่างยิ่ง ทรงแสดงให้เห็นต้นทุนของภาพถ่าย ๑ ภาพว่ามีอะไรบ้าง "พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งอีกว่า 'ฉันไม่ได้ห้ามให้ถ่ายรูปนะ แต่เมื่อจะกดชัตเตอร์ควรดูให้ดีเสียก่อน จะได้คุ้มกับเงิน ๗ บาท' ท่านทรงหมายความว่า เวลาถ่ายภาพอย่าถ่ายเรื่อยเปื่อย สักแต่ว่ากดๆไป คุณเสียเงินแล้วนะครั้งละ ๗ บาท นี่แสดงให้เห็นถึงความมัธยัสถ์ และเป็นคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี"
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับเคียงข้างมาตลอดรัชสมัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของพระชนม์ชีพ ทั้งยามสุขยามทุกข์ และในยามที่ทรงพระประชวร
อย่างเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวหญิงจากสโมสรนักข่าวหญิงแห่งประเทศไทย จำนวน ๒๙ คน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในโอกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเลี้ยงน้ำชาเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
“…ต้องดูแล เพราะว่าบางครั้งท่านเพลินกับงาน กว่าจะออกมาเสวยก็ช้า ต้องคอยเคาะประตูคอยเข้าไปเฝ้าฯ แล้วก็เวลาหลังจากที่ประชวรเป็นปอดบวมเลยคอยห่วง ตอนนี้ท่านก็ย่างพระชนม์มากขึ้นยิ่งทำงานหนัก”
“เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวประชวร (ต้น พ.ศ. ๒๕๑๘) ตอนนั้นหมอที่รักษาร้องไห้ พี่ชายฉัน (นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร) ก็เป็นหมออยู่ด้วย หน้าเขียวไม่นอนทั้งคืน เขาบอกว่ารู้สึกว่าเรากำลังจะเสียท่านไป เพราะว่าหมอให้ยาเท่าไรๆ ไข้ไม่ลงเลย ท่านแบบคล้ายๆ เพ้อๆ คือปอดทั้งสองข้างนี่บวม แล้วสุดปรอทอยู่ได้ตั้งเกือบ ๑๐ วัน จนหมอบอกว่านี่ถ้าเป็นคนหัวใจไม่ดีก็หัวใจวายแล้ว สมเด็จพระศรีฯ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ท่านไปดูเองเลย…”
ในเรื่องของความห่วงใยดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งสองพระองค์ทรงมีให้กันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พระองค์ก็ทรงให้ความสำคัญและใส่พระราชหฤทัย ดังความตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของพลเอก นายแพทย์ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา อดีตแพทย์ที่มีโอกาสถวายงานและตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เล่าว่า
“ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นห่วงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังครั้งหนึ่งที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ปกติทั้งสองพระองค์จะออกพระกำลังด้วยวิธีทรงพระดำเนินขึ้น-ลงพระตำหนัก ประมาณ ๓๕ นาที แต่มีวันหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯไปทรงงานข้างนอก ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไม่ได้ตามเสด็จด้วยและจะทรงออกพระกำลังเหมือนเช่นทุกวัน
“ครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีรับสั่งกับผมว่า ‘วันนี้สมเด็จฯไม่เสด็จฯด้วยและจะทรงออกกำลังตามปกติ ให้หมอเดินนำหน้า เข้าใจไหม เพราะถ้าสมเด็จฯเดินเร็วจะทำให้เหนื่อย ให้หมอเดินนำ แต่อย่าเร็วเกินไป’
“หลังจากนั้นพอสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จลงจากพระตำหนัก ผมก็ทรุดตัวลงกราบพระบาทแล้วเดินนำหน้าพระองค์ คนที่ไม่รู้พอเห็นก็สงสัยว่าทำไมผมถึงทำแบบนั้น แต่ภายหลังรู้ว่าเป็นพระบรมราชโองการจึงเข้าใจ"
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เล่มนี้นั้นมีรูปของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งแต่ละรูปที่เป็นทางการของพระองค์ จะฉลองพระองค์ชุดไทยซึ่งมาจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทั้งสิ้น
กว่า ๔๐ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไหมไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริม ตลอดจนเพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแบบไทยโบราณที่กำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย นับเป็นพระราชกรณียกิจเพื่อราษฎรที่ปัจจุบันผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนสมดั่งพระราชปณิธานในทุกมิติ
คนไทยส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ทางภาคอีสานนั้นมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ในขณะเดียวกันการทอผ้าก็เป็นภูมิปัญญาและสิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย แต่ละถิ่นพื้นที่จะมีลวดลายและความงามที่เป็นเอกลักษณ์ ขาดเพียงผู้สนับสนุน ส่งเสริม และเปิดโอกาสให้ช่างทอผ้าชาวบ้านเหล่านั้นได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในระยะยาว
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นั้นได้วางรากฐานสำคัญในการต่อยอดผ้าไทยให้ก้าวไกลไปสู่ระดับสากล ด้วยการแนะนำให้ปรับการทอให้มีขนาดที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น มีการให้ความรู้เทคนิคการทอผ้าใหม่ๆ การทดลองที่อาจนำไปสู่การสร้างลวดลายที่แตกต่างไปจากเดิมได้ รวมไปถึงการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมเก็บตัวอย่างลายผ้าทอในแต่ละท้องถิ่นทุกชิ้นอย่างเห็นคุณค่า
จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยในโอกาสต่างๆ เป็นประจำ จนทำให้ชื่อเสียงของผ้าไทยขจรขจายไปทั่วโลก
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นมิได้เพียงสะท้อนให้เห็นถึงรักในสายพระเนตรขอพระองค์ที่ทรงมีต่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่ยังสะท้อนให้เห็นความรักของสองพระองค์ที่มีต่อ ประชาชน
เพจเก้ากระบี่เดียวดาย
โฆษณา