21 ก.ค. 2022 เวลา 04:02 • ท่องเที่ยว
พลับพลาลงสรง บารายปราสาทบันทายฉมาร์ และปราสาทแม่บุญ
พลับพลาลงสรง บารายปราสาทบันทายฉมาร์ .. เพิ่งจะได้รับการขุดแต่งและประกอบเป็นรูป ร่างเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง พลับพลาบารายนี้กว้าง 670 เมตร ยาว 1,650 เมตร
ในบริเวณใกล้กันมีสะพานไม้ทอดยาวลงไปกลางบารายไปยังเกาะกลางน้ำ อันเป็นที่ตั้งของ ปราสาทแม่บุญ
พลับพลาลงสรง พระราชนิยมในพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บนคันดินฝั่งตะวันตกของบารายใหญ่ เป็นฐานอาคารสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ยกสูงจากพื้น
ชั้นบนเป็นฐานพลับพลาจัตุรมุข ซึ่งว่ากันว่าด้านบนเดิมมีอาคารเครื่องไม้ตั้งอยู่
ท่าน้ำลงสรง .. ก่อด้วยหินทรายรูปทรงนาคบาท มีเสาระเบียงหัวราวบันไดรูปหัวครุฑยุดนาค สิงห์ทวารบาลคู่อยู่ที่มุม รูปแบบเดียวกับอาคารพลับพลาลงสระที่พบที่อื่น และบันไดลงสู่ท่าน้ำ
รอบๆผนังของฐานพลับพลา มีรูปสลักหิน “หงส์เล่นน้ำในสระอโนดาษ” ซึ่งหงส์ถือเป็นสัตว์มงคล เป็นพาหนะของเทพ .. หงส์เล่นน้ำในท่าทางรื่นเริงมีความสุขแบบนี้ เป็นลวดลายเฉพาะของท่าน้ำลงสรงเมืองบันทายฉมาร์
ภาพพลับพลาลงสรง .. ดูงดงามในมุมนี้ เมื่อเราเริ่มเดินไปตามสะพานไม้เพื่อมุงหน้าไปที่เกาะกลางน้ำ
บรรยากาศบนสะพานขณะเดิน .. บารายสวยงามและสงบ ระดับน้ำไม่ลึก มองเห็นต้นบัวตามรายทาง ใครบางคนบอกว่า น้ำจากบารายช่วยชาวนาในฤดูปลูกข้าว ส่วนเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง น้ำในบารายจะค่อนข้างแห้ง
ปราสาทแม่บุญ .. เป็นปราสาทกล่างบารายตะวันออก สร้างขึ้นเพื่อสมมุติให้เป็นวิมานที่ประทับแห่งพระวิษณุกลางเกษียรสมุทร ในลัทธิฮินดู ไวษณพนิกาย
“ปราสาทแม่บุญ” (Mebon) .. เป็นปราสาทบริวารของปราสาทบันทายฉมาร์ ที่ตั้งอยู่กลางบารายตะวันออก
เชื่อว่า .. ปราสาทแม่บุญ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อ “ไวกูณฐ์แห่งองค์พระวิษณุกลางเกษียรสมุทร” ซึ่งปัจจุบันพังทลายลงมาทั้งหมดแล้ว
2
จากผังปราสาท .. ตัวปราสาทนั้น ตั้งอยู่บนเกาะที่มีการขุดคูน้ำล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง กรุผนังตลิ่งด้วยศิลาแลงเป็นชั้นบันไดกันดินสไลด์โดยรอบทั้งหมด .. เดิมปราสาทแห่งนี้ล้อมรอบด้วยคูน้ำ 3 ชั้น ตัวปราสาทมีกำแพงด้านนอกล้อมรอบ ถัดเข้ามาจะเป็นกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูโคปุระด้านหน้าและด้านหลัง
ตัวปราสาทสร้างขึ้นคติปราสาทในคติฮินดู/ไวษณพนิกาย .. เป็นเรือนยาวแบบเดียวกับปราสาทบริวารหลังเล็ก มุขหน้าไปชนกับมุขซุ้มประตูโคปุระแบบปีกข้างสั้น เป็นอาคารต่อกัน มีบรรณาลัยขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง
โคปุระด้านหน้าและด้านหลัง ฝั่งด้านหน้าติดกับสะพานศิลาแลงข้ามคูน้ำ ตรงหัวสะพานเคยมีร่องรอยว่าเป็นรูปประติมากรรมครุฑยุดนาคเป็นคู่อยู่ มีราวสะพานเป็นลำตัวนาคแบบมีฐานรองเป็นช่วง ๆ ตลอดแนวสะพานทั้งสองฝั่ง
โคปุระด้านหน้าทิศตะวันออก แผนผังจัตุรมุข มีปีกคูหาขยายออกไปด้านข้าง สภาพพังทลายลงมาทั้งหมดจนเป็นกองหิน เชื่อมกับตัวปราสาทด้วยอาคารมุขฉนวนโปร่ง แบบใช้เสารองรับคานและหินบุหลังคา เชื่อมต่อเข้ากับห้องมณฑปขนาดใหญ่
ที่มีการวางเสาตั้งเรียงราย ขยายปีกอาคารออกด้านข้าง ยกชั้นหลังคากลางให้สูง คูหาข้างกลายเป็นหลังคาชั้นลดลงมารับกับผนังข้าง ทำให้มณฑปกว้าง สูง มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้มากขึ้น
ถัดจากอาคารมณฑป มีมุขกระสันแบบโปร่ง รองรับคานและหินมุงหลังคาด้วยเสา ไปชนเข้ากับ ผนังคูหาของปราสาทประธาน แผนผังจัตุรมุข มีห้องคูหาเล็ก ๆ ที่มุขทั้ง 4 ด้าน สภาพพังทลายลงมาทั้งหมด
ด้านหลังสุด ห่างออกไปจากปราสาทประธานประมาณ 10 เมตร เป็นอาคารซุ้มประตูโคปุระ แผนผังจัตุรมุข มีปีกคูหาขยายทั้งสองฝั่งไปรับกับกำแพงศิลาแลงที่ล้อมรอบ
ถึงแม้จะอยู่ในสภาพที่พังทลายลงมาเกือบทั้งหมด แต่ลวดลายแกะสลัก ที่ปรากฏบนผิวหินทรายนั้นกลับแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์และความสำคัญของปราสาทแม่บุญหลังนี้ได้เป็นอย่างดี
.. ลวดลายสลักบนผนังอาคาร มีทั้งรูปนางอัปสรา ลายเสาประดับภาพเทพเจ้าอัญชลีบนดอกบัว ลวดลายใบขดม้วน ลวดลายดอกลำดวน ลายกรอบหน้าต่างปิดม่านครึ่งบาน ลอนหลังคาเลียนแบบเครื่องไม้ และบัวเชิงชายสลักหิน
ที่คิ้วลวดบัวเหนือผนังอาคาร ทับหลังหลังคาและทับหลังกำแพง สลักเป็นรูปฤๅษีสวดบริกรรมในท่าโยคะสนะในซุ้มอานุภาพ (เรือนแก้ว) และรูปฤๅษีหนุ่มสลับอยู่ ไว้ทุกหนแห่งทั่วปราสาท
ที่โคนเสาของมุขฉนวนโปร่งของตัวปราสาทประธานทั้งสองฝั่ง มีรูปสลักฤๅษีสวดบริกรรมมนตราในซุ้มสามเหลี่ยม มีลายเส้นแกะสลักที่ชัดเจนมาก
ที่ซากมณฑป หน้าบันของหลังคาชั้นลดที่เหลืออยู่เพียงหน้าเดียว ยังแสดงภาพของบุคคลกำลังถือหม้อน้ำส่งให้อีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งก็ควรเป็นภาพสลักในเรื่องราว “วามนาวตาร” ตอนท้าวพลี กำลังยกคนโทน้ำหลั่งทักษิโณทกลงบนมือพราหมณ์วามน
*** ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน บารายแห่งบันเตียฉมาร์จะตื้นเขิน ซากปราสาทจะอยู่ในสภาพพังทลายในท่ามกลางป่ารกชัฏ รอการบูรณะให้ฟื้นคืนกลับมา แต่ความหมายของปราสาทไวกูณฐ์ที่ประทับแห่งองค์พระวิษณุ น้ำศักดิ์สิทธิ์ในบารายที่เคยถูกอภิเษกให้เป็นเกษียรสมุทร ปราสาทฮินดูที่สร้างขึ้นในท่ามกลางยุคสมัยความนิยมในลัทธิโลกเศวรแห่งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของความเชื่อในคติฮินดู ที่ยังคงอยู่ร่วมกันกับพุทธศาสนาวัชรยานตันตระ ในอาณาจักรแห่งเทวราชาและโพธิสัตว์ราชา เสมือนดั่งเป็นเนื้อเดียวกันมาโดยตลอด
Credit : เนื้อความเรียบเรียงมาจากบทความของ EJeab Academy
โฆษณา