24 ก.ค. 2022 เวลา 15:02 • ไลฟ์สไตล์
ผมขออนุญาติคัดลอกบทความ โอวาทธรรมของ พระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ซึ่งเคยอ่านเจอในเว็บหนึ่ง ท่านได้อธิบายความแตกต่างของสมาธิแบบสมถะและวิปัสสนา ความแตกต่างระหว่าง ฌานกับญาณ สามารถตอบคําถามที่คุณสงสัยได้หมดว่าผลที่ได้แต่ละแบบจะเป็นอย่างไร จะเจออะไร ทําไปเพื่ออะไร เพียงขอให้ตั้งใจอ่านซักหน่อยแล้วจะได้คําตอบ
สมาธิแบบสมถะ ผลที่ได้คือฌานมี ๔ ประเภท คือ
1. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา
วิตก วิจารณ์ นั้น คือการนึกพุทโธๆ เรียกว่า วิตก วิจารณ์คือตามรู้ เมื่อนึกพุทโธแล้วจิตก็อยู่ที่พุทโธ เกิดปีติ คือความขนพองสยองเกล้า รู้สึกมันหวิวๆ อะไรอย่างนี้ ตามมาด้วยสุขและเอกัคคตาคือความเป็นหนึ่ง (ความสงบ) นี้เรียกว่าปฐมฌาน
2. ทุติยฌานนั้น ก็มีอยู่องค์ ๓ วิตก วิจารณ์ตัดออกไป การนึกพุทโธนั้นไม่ต้องนึกแล้ว เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตาเหลือแต่ความเอิบอิ่ม และความสบาย และความเป็นหนึ่ง
3. ตติยฌานนั้น เหลืออยู่องค์สอง ตัดวิตก วิจารณ์ออกไป ตัดปีติออกไปเหลือแต่สุขกับเอกัคคตา มีแต่ความสบายและความเป็นหนึ่ง
4. จตุถฌานที่ ๔ สุดท้ายนั้น ก็มีองค์สองเช่นเดียวกัน คือมีแต่อุเบกขา และเอกัคคตา เรียกว่าวิตกวิจารณ์ตัดออกไป ความเอิบอิ่มตัดออกไป ความสุข ความสบายก็ตัดออกไป เหลือแต่ความวางเฉยกับความเป็นหนึ่ง
ฌานทั้ง ๔ นี้เรียกว่ารูปฌาน เมื่อรูปฌานนี้ ได้รับการพัฒนา หรือทำให้ละเอียดยิ่ง รูปฌานนั้น จะกลับกลายเป็นอรูปฌาน คือจิตจะละเอียดลงไปกลายเป็นอากาศว่างเปล่าไม่มีอะไรเรียกว่า "อากาสานัญจายตนฌาน"
เมื่อจิตนี้ได้รับการฝึกฝนละเอียดยิ่งขึ้นไปแล้ว ก็เหลือแต่ความรู้ ไม่มีอะไร เหลือแต่ความรู้ เรียกว่า "วิญญานัญจายตนฌาน"
เมื่อได้รับการฝึกฝนจนกระทั่งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่มีอะไรแล้ว อารมณ์อะไร ความสุข ความอะไรก็ไม่มีหมด เรียกว่า "อากิญจัญญายตนฌาน"
ในที่สุดถึงที่สุด ฌานของอรูปฌาน ๔ นั้น คือ
จะว่าสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ เรียกว่าไม่มีอะไรเอาเลย นั้นเรียกว่า "เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน"
ทั้งหมดนี้ เรียกว่า รูปฌาน และ อรูปฌาน
ฌานทั้งหมดนี้นั้น เป็นฌานที่เรียกว่า ฌานโลกีย์
ฌานโลกีย์ ผู้ที่บำเพ็ญฌานเหล่านี้ได้แล้ว
ก็จะไปเกิดในชั้นพรหมโลก เลยชั้นสวรรค์ไปก็ไปเกิดในชั้นพรหมโลกจากพรหมธรรมดา จนกระทั่งถึงมหาพรหม อย่างนี้คือผู้บำเพ็ญฌาน
ฌานเหล่านี้นั้นมิใช่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดได้ง่ายๆ
ผู้ที่บำเพ็ญฌานที่เป็นรูปฌานและอรูปฌานนั้น
ต้องใช้เวลาอันยาวนาน บางทีหมดชีวิตก็ไม่ได้
บางทีพวกฤาษีไปอยู่ในป่าคนเดียว บำเพ็ญฌานก็ยังไม่ค่อยจะสำเร็จถึงขั้นนี้
ฌานพวกนี้ ถ้าทำสำเร็จขึ้นมาแล้ว สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ เหาะเหินเดินอากาศได้ มองดูจิตใจของคนได้ ระลึกชาติหนหลังได้อย่างนี้ถือว่าได้สำเร็จฌาน แต่ฌานเหล่านี้นั้น ไม่สามารถที่จะกำจัดกิเลสได้ กิเลสก็ยังอยู่เพราะว่าไม่ใช่วิปัสสนา เป็นแต่เพียงสมถกรรมฐาน
สมถะนั้นถ้าเราบำเพ็ญฌานไปโดยสม่ำเสมอ
อานิสงส์แห่งฌาน ก็ทำให้ไปบังเกิดเพียงแค่ชั้นพรหม ชั้นพรหมนั้น อายุยาวนานกว่าชั้นสวรรค์ถึง ๒๐ เท่า เมื่อไปอยู่ที่นั่นแล้วก็ลืม มีความสบายจนลืม
แต่ที่สุดถึงที่สุด ก็ต้องกลับมาในมนุษยโลกอีก
นั่นคือ เรียกว่า ยังเวียนว่ายตายเกิด
ผู้ที่ไม่ต้องการที่จะเวียนว่ายตายเกิดอีก
หมายความว่าเมื่อบำเพ็ญฌานได้แล้ว เขาก็ยกอรูปฌานออกเสีย เอาแค่รูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน เอาแค่ฌาน ๔ นี้ เอาฌาน ๔ นี้มาเป็นกำลัง หันหน้าเข้าสู่วิปัสสนา
เมื่อหันหน้าเข้าสู่วิปัสสนา ก็จะไปพบ ไตรลักษณ์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัส ไตรลักษณ์นั้น มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น ศาสนาอื่นไม่มี เพราะฉะนั้น ในศาสนาทุกศาสนาจึงไม่มีวิปัสสนามีเฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะทุกคนนั้นปรารถนาแค่เพียงสวรรค์ ปรารถนาแค่เพียงความสุขในเมืองมนุษย์
แต่ว่าการที่สำเร็จฌานเหล่านั้น บางทีก็เกิดความเสื่อม เมื่อเกิดความเสื่อมแล้วก็ไปทำความชั่ว สามารถไปตกนรกได้ สามารถไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ เพราะว่ายังไม่ใช่นิยตบุคคล เป็นอนิยตบุคคล ดังนั้นการเวียนว่ายตายเกิด รึว่าการแปรเปลี่ยนย่อมมีแก่ผู้บำเพ็ญฌาน
แต่ว่าถ้าผู้ใดหันเข้ามาสู่วิปัสสนานั้น วิปัสสนาเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำคนให้พ้นทุกข์คือ พ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายนี้ได้
ดังนั้นในวิปัสสนา ผลที่ได้คือญานหรือปัญญา ความรู้แจ้งในไตรลักษณ์ นั่น คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อนิจจังคือความไม่เที่ยง ทุกขังคือความเป็นทุกข์
อนัตตาคือความไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้ทั้งสามประการนี้ ถ้าพิจารณาได้ก็ถือว่า เราได้เริ่มวิปัสสนาแล้ว
รายละเอียดเพิ่มเติมศึกษาได้จากคําสอนของหลวงพ่อวิริยังค์
โฆษณา