26 ก.ค. 2022 เวลา 06:39 • หุ้น & เศรษฐกิจ
14 อคติ (Bias) ทางความคิดและอารมณ์ที่มีผลต่อการลงทุน 🤔
ต้องยอมรับว่านักลงทุนอย่างเราๆ ไม่ได้มีแค่เหตุผลในการซื้อขายหุ้นหรือกองทุนเท่านั้น หลายครั้งเราก็มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งก็ไม่ผิดนะ เพราะในทางการเงินยังมีศาสตร์แขนงหนึ่งออกมาอธิบายพฤติกรรมเหล่านี้ เรียกว่า Behavioral Finance หรือ การเงินเชิงพฤติกรรม เป็นแนวคิดที่บอกว่านักลงทุนมีอคติ มีความลังเลใจในการลงทุนที่เกิดมาจากอารมณ์ความรู้สึกของเราเอง ซึ่งอคติพวกนี้ถือว่าเป็นกับดักของการลงทุน ทำให้การลงทุนของเราไม่ประสบความสำเร็จ วันนี้ #เด็กการเงิน จะพามาดูกันว่า Bias ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง
1. Anchoring bias เป็นการฝังใจกับข้อมูลแรกที่ได้รับจนไม่หาข้อมูลอื่นประกอบ แบบนี้อาจทำให้เราพลาดข้อมูลที่ถูกต้องหรือสำคัญไปได้นะ
2. Availability bias เชื่อถือข้อมูลที่เรารู้สึกคุ้นเคยหรือเพิ่งประสบพบเจอมาจนมองข้ามข้อมูลอื่นๆ แบบนี้อาจทำให้เราพลาดข้อมูลที่ถูกต้องหรือสำคัญไปได้เหมือนกัน
3. Confirmation bias เชื่อถือหรือเลือกอ่านแต่ข้อมูลที่ตรงกับความคิดเห็นของตัวเอง เพื่อคอนเฟิร์มว่าเราคิดถูกต้องแน่ๆ โดยไม่สนใจข้อมูลที่ขัดแย้ง
4. Conservatism bias เชื่อถือข้อมูลในอดีตมากกว่าปัจจุบันทั้งๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงเหมือนกัน เช่น หุ้นตัวหนึ่งในอดีตมีผลประกอบการดีมากทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูง แต่ปัจจุบันผลประกอบการไม่ดีขนาดนั้น ซ้ำยังมีข่าวร้ายมาอีก แต่นักลงทุนก็ยังทำใจไม่ได้ ไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นความจริง จนทำให้ไม่ตัดสินใจที่จะขายหุ้น หรือตัดสินใจได้อีกที หุ้นก็ตกไปมากแล้ว
5. Hindsight bias ข้อนี้คิดว่าหลายคนต้องคุ้นเคย หลายครั้งเวลาหุ้นขึ้นแล้วจะพูดว่า "รู้งี้" ซื้อไปแล้ว หรือ "ว่าแล้วต้องเป็นเเบบนี้" เป็น Bias อย่างหนึ่งที่เรามั่นใจว่าเราคิดถูกต้อง แต่มั่นใจตอนที่มองย้อนกลับไปนะ
6. Regret aversion bias คนเรามักจะหลีกเลี่ยงความเสียใจจนทำให้ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวเสียใจจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด
7. Loss aversion bias ผลตอบแทน +- ที่ค่าหนึ่งเช่น -10% หรือ +10% ซึ่งเราเสียหรือได้เท่าๆ กัน แต่เราให้ค่ากับความสูญเสียมากกว่า โดยเราจะรู้สึกแย่เมื่อสูญเสียมากกว่าได้เงินที่มูลค่าเท่ากัน
8. Disposition effect ขายแต่หุ้นที่มีกำไร แต่ถือหุ้นที่ขาดทุนไว้ ถือคติ "ไม่ขายไม่ขาดทุน" เพราะยังไม่อยากรับรู้ว่าขาดทุน และหวังว่าอนาคตจะกลับมาบวกได้ กับดักนี้อาจทำให้พอร์ตของนักลงทุนติดลบหนักก็ได้
สิ่งที่ควรทำคือเราอาจมี Target cut loss ไว้ ถ้าหากหุ้นตกไปเกินกว่าที่ตั้งไว้ก็ต้องยอม cut loss ออกไป หรือบางครั้งก็ต้องยอมรับว่าหุ้นตัวนั้นมีพื้นฐานเปลี่ยนไปแล้ว อาจจะไม่ได้มีโอกาสเติบโตอย่างที่วิเคราะห์ไว้ตอนซื้อ ก็ต้องยอมตัดใจขายออกไปก่อนที่จะขาดทุนหนัก แต่ถ้าหากคิดว่าเป็นเพียงแค่ noise การถือต่อหรือ DCA ตามแผนเดิมก็ไม่ผิด
9. Herding พฤติกรรมแห่ตามฝูงชน เช่น การแห่ซื้อหุ้นหรือกองทุนตามคนส่วนใหญ่ กับดักนี้ไม่ได้บอกว่าการแห่ซื้อตามกันจะผิด แต่สิ่งที่ควรทำคือต้องวิเคราะห์ก่อนซื้อ และถามตัวเองว่ายอมรับได้ไหมถ้าหากกองทุนนั้นผันผวน และติดลบหนักมากหลังจากเข้าซื้อแล้ว ดังที่เราเห็นตอนนี้ว่าหลายคนพอร์ตติดลบหนักมาก
10. Overconfidence bias มีความมั่นใจมากเกินไป คิดว่าตัวเองวิเคราะห์ถูก และตั้งความหวังกับผลตอบแทนสูง กับดักนี้อาจทำให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกผิดตัวผิดกอง หรือทุ่มไปกับหุ้นหรือกองทุนใดกองทุนหนึ่งมากเกินไป วิธีแก้คือเราต้องพิจารณาวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง หรืออาจจะกระจายการลงทุน ไม่ทุ่มไปที่ตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป เพราะในตลาดนั้นมีความเสี่ยงเยอะมาก และมาจากหลายปัจจัยที่เราอาจคาดไม่ถึง
11. Status quo bias ยึดติดกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่อยากเปลี่ยนแปลง เช่น ถือแต่หุ้นที่คุ้นเคย กลัวการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน
12. Endowment bias ให้คุณค่ากับสิ่งที่มีอยู่สูงกว่าความเป็นจริง รู้สึกว่ามันมีค่ามากจนไม่อยากสูญเสียไป
13. Mental accounting bias ให้ค่าของเงินแต่ละก้อนไม่เท่ากัน แม้ว่าจำนวนเงินจะเท่ากัน เช่น หากเราทำงานเสริมได้เงินมา 5,000 บาท เราจะรู้สึกว่าเงินก้อนนี้มีค่ามาก เปรียบเทียบกับจับสลากของขวัญปีใหม่แล้วได้รางวัลเป็นเงินสด 5,000 บาท เราจะรู้สึกว่าเงินก้อนนี้ได้มาง่าย เราจะไม่คิดมากกับการใช้เงินก้อนนี้เปรียบเทียบกับเงินที่ได้มาจากการทำงาน
14. Self control bias ควบคุมตัวเองไม่ได้ โดนสิ่งล่อใจระยะสั้นเข้ามาขัดขวางจนทำให้ขาดวินัยที่จะทำตามแผนการลงทุนระยะยาว เช่น นำเงินที่ตั้งใจ DCA ไปผ่อนโทรศัพท์เครื่องใหม่ เป็นต้น ถ้าเรามีพฤติกรรมแบบนี้บ่อยๆ ระวังว่าแผนการลงทุนเพื่อเกษียณของเราจะไปไม่ถึงเป้าหมายนะ
อ่านจบแล้ว เพื่อนๆ มี Bias ข้อไหนบ้าง คอมเมนท์คุยกันได้นะ
LINETODAY 👉https://today.line.me/th/v2/publisher/10240
โฆษณา