26 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิกฤติหนี้ Emerging markets…ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ
วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศศรีลังกาที่รุนแรง ประชาชนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากท่ามกลางความขาดแคลนอาหารและพลังงาน ส่วนรัฐบาลก็ประสบปัญหาขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ก้อนใหญ่กว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในขณะเดียวกัน เมียนมาร์ก็เริ่มประสบปัญหาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงจนต้องออกคำสั่งระงับการชำระหนี้เป็นสกุลเงินดอลลาร์เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินจ๊าด
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายมากนัก เพราะตอนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักลงทุนก็มองเห็นภาพนี้ และเกิดความกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศร่ำรวย อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging countries) ขึ้นได้
แล้วในที่สุดความกังวลเหล่านี้ก็ค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้น เพราะตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ศรีลังกาและเมียนมาร์เท่านั้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาเงินทุนสำรองและผิดนัดชำระหนี้ แต่ยังมีประเทศอาร์เจนตินา และประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางอีกหลายประเทศกำลังเริ่มเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน ยิ่งทำให้เกิดความกลัวว่าในไม่ช้า เราอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤติหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง
📌 วิกฤติหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ในอดีต
“ประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอยเดิมหรอก แต่มันมักจะเกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายๆ เดิม”
เหตุการณ์เหล่านี้ดูเหมือนจะคล้ายคลึงกับในอดีตสัก 30 - 40 ปีก่อน ช่วงเวลาที่ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตอย่างสวยงาม สถาบันทางการเงินผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆ ก่อนที่จะตามมาด้วยช่วงที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น เงินเฟ้อมากขึ้น มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศร่ำรวย ทำให้ประเทศยากจนต้องแบกรับภาระการชำระหนี้ที่มากขึ้น อาจจะเปรียบเทียบได้ว่าคล้ายกับเป็นการผลักประเทศยากจนตกจากหน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff) อย่างไม่ทันได้ตั้งตัว
ในปี 1982 รัฐบาลเม็กซิโกประกาศว่าไม่สามารถจ่ายหนี้ต่างประเทศได้อีกต่อไป และอีกกว่า 36 ประเทศทั่วโลกก็ติดอยู่ในหล่มหนี้สาธารณะเช่นกัน ล่วงเลยมาจนถึงปี 1990 ประมาณการว่ามีหนี้สาธารณะราวๆ 6% ทั่วโลกที่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ จนเกิดเป็น Latin American Debt Crisis
จนกระทั่งปี 1997 - 1998 วิกฤติหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ก็ได้ก่อตัวขึ้นเมื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดึงเงินทุนให้ไหลกลับเข้าสหรัฐฯ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ของไทยพังลงจนต้องปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้เกิดความกังวลไปทั่วเอเชียโดยเฉพาะเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย ก่อนที่วิกฤตินี้จะแพร่กระจายไปยังบราซิล รัสเซีย
1
📌 สัญญาณเตือนที่ไม่ควรละเลย
วิกฤติที่เกิดขึ้นในศรีลังกา น่าจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศรายได้น้อยที่ตอนที่มีระดับหนี้สาธารณะสูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งยังต้องเผชิญปัญหาราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงทั่วโลก
ทาง IMF เองได้คาดการณ์ว่าน่าจะมีอย่างน้อย 53 ประเทศที่เปราะบางที่สุดเนื่องจากมีหนี้ที่ไม่ยั่งยืน ที่ตอนนี้ได้ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือมีการซื้อขายพันธบัตรที่อยู่ในระดับ Distressed level (มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะล้มละลาย)
นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างเผชิญกับการที่เงินทุนไหลออกจากประเทศอยู่เรื่อยๆ และยิ่งหลังจากเฟดปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างรุนแรง เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ากว่า 12% เมื่อเทียบกับตระกร้าสกุลเงินตราต่างประเทศอื่นๆ นับตั้งแต่ต้นปี และยิ่งแข็งค่าขึ้นมากกว่านั้นอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่
ดังนั้นจึงส่งผลให้สถานการณ์ทางการเงินของประเทศเกิดใหม่หลายๆ ประเทศย่ำแย่ ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลก็สูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้
📌 แล้วมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน?
ถ้าบอกว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าจะรุนแรงเท่าเดิมหรือไม่ นักวิเคราะห์หลายท่านก็มองว่าคงไม่รุนแรงเท่าในอดีต เพราะเงื่อนไขหลายๆ อย่างในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก รัฐบาลมีการเปิดการค้าเสรี และนโยบายเศรษฐกิจมหภาคก็มีระเบียบวินัยมากขึ้น ทาง IMF คาดว่าหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ มีเพียง 16% เท่านั้นที่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาสินค้าและพลังงานพุ่งขึ้นสูงอย่างมากหลังจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้สถานการณ์วิกฤติหนี้ในปีนี้อาจจะมืดมนกว่าที่คาดไว้อยู่บ้าง ยิ่งเมื่อธนาคารกลางของประเทศร่ำรวยขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยเฉพาะเฟด ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึง 3.5% ในสิ้นปีนี้
1
ก็อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงได้มากขึ้นเนื่องจากเงินทุนจะพากันไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่เรื่อยๆ
ถึงแม้ว่าประเทศที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้จะคิดเป็นแค่เพียง 5% ของ GDP และเป็นเพียง 3% ของหนี้สาธารณะทั่วโลก แต่ประเทศเหล่านั้นเป็นบ้านของประชากรกว่า 1.8 พันล้านคน จึงถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่เราต้องจับตามอง
เพราะแม้ผลกระทบที่เป็นตัวเลขเชิงเศรษฐกิจอาจไม่รุนแรงเท่าในอดีต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้คนกว่า 18% ของประชากรโลก ที่อาจต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความยากลำบากอย่างรุนแรง ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ภาระหนี้สูงขึ้น และค่าครองชีพสูงขึ้นอยู่ทุกวันๆ
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Getty Image
โฆษณา