29 ก.ค. 2022 เวลา 12:36 • คริปโทเคอร์เรนซี
ย้อนรอยวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” วิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 40 ที่คนไทยจำไม่เคยลืม
3
เชื่อว่า ถ้าพูดถึงวิกฤตทางที่ใหญ่และเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยจำไม่เคยลืมคงหนีไม่พ้นวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” หนึ่งในวิกฤตทางเศรษฐกิจปี 40 ที่ทำให้คนจำนวนหลายล้านคนต้องตกงาน และธุรกิจอีกจำนวนนับไม่ถ้วนต้องล้มละลายจากการเป็นหนี้ของค่าเงินบาทที่ลอยไปตัวไปแตะ 56 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ .
ปัจจุบันมูลค่าของเงินบาทเองก็ได้เจอกับภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง จนทำให้ตอนนี้มูลค่าเงินบาทขึ้นไปแตะ 36.6 บาทต่อ 1 ดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมากที่สุดในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา และไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลงในเร็ว ๆ นี้ด้วย ซึ่งดูไปดูมามันก็มีส่วนเหมือนกับวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” อยู่บ้างไม่มากก็น้อย
ดังนั้นเพื่อให้เราได้เตรียมตัวรับมือกับวิกฤตในแต่ละรอบให้ได้ทันท่วงที ลองมาย้อนรอยดูกันดีกว่าว่า ตอนเกิดวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เมื่อ 25 ปีที่แล้ว คนไทยต้องเจอกับอะไรกันบ้างและสุดท้ายแล้วเหตุการณ์จบลงได้ยังไง ไปดูกันค่า
1.ย้อนกลับไปในอดีต ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแล้วถือว่าไม่น้อยหน้า แต่ด้วยความทะเยอทะยานของรัฐบาลไทยก็อยากทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นไปกว่านี้อีก จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้ตัวเองกลายศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคให้ได้ พร้อมกับตั้งฉายาให้ประเทศไทยว่า ‘เสือตัวที่ 5’ ของเอเชีย
2.ในปี พ.ศ.2535 แนวคิดเรื่อง “เสรีทางการเงิน” เริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากในหลากหลายประเทศ เพราะแนวคิดนี้จะส่งผลให้นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างเสรีมากขึ้น ประเทศไทยเห็นดังนั้นจึงปิ๊งไอเดีย ออกนโยบาย “ลดค่าธรรมเนียม” เพื่อให้คนไปกู้เงินจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้แหล่งเงินทุนจากนอกประเทศหลั่งไหลกันเข้ามาอย่างไม่หยุดไม่หย่อน
3.เมื่อเศรษฐกิจเติบโตและอะไรก็ดีไปหมดแบบนี้ ค่าเงินบาทจึงเริ่มแข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ส่งผลให้ภาคการส่งออกได้เริ่มชะลอตัว เพราะสินค้าไทยมีราคาแพงเกินไป ทางรัฐบาลจึงเข้ามาแก้ไขด้วยการประกาศนโยบายที่ทุกคนไม่มีวันลืมนั้นก็คือ “ตรึงค่าเงินบาทไว้ที่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์” เพื่อที่จะได้ควบคุมค่าเงินบาทได้
4.ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากจะทำให้นักลงทุนไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศแล้ว ยังทำให้นักลงทุนหันไปกู้เงินกันมากขึ้นอีกด้วย จากปกติแล้วการกู้เงินในประเทศจะคิดดอกอยู่ที่ 13-17% แต่พอมีนโยบายลดค่าธรรมเนียมออกมาคนก็แห่ไปกู้เงินจากต่างประเทศที่มีดอกเบี้ยแค่ 5 % เพื่อมาปล่อยต่อในประเทศ 10% แทนทันที ซึ่งการทำแบบนี้ก็กำไรเห็น ๆ ตั้งแต่ตอนกู้แล้ว
5.เรียกได้ว่า ยิ่งกู้ยิ่งกำไร และพอยิ่งได้กำไรเงินกู้ก็ถูกปล่อยออกไปแบบง่าย ๆ โดยไม่คำนึงว่าสุดท้ายเงินกู้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจต่อยังไงบ้าง และนอกจากการกู้มาปล่อยต่อแล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักกู้ไปลงทุนในอสังหาเพื่อหวังเก็งกำไร เพราะราคาขึ้นทุกครั้งที่มีการขาย ไม่เว้นแม้แต่ใบจองก็สามารถเอามาเก็งกำไรกันเป็นทอด ๆ ได้ง่าย ๆ ยิ่งเป็นตลาดหุ้นไม่ต้องพูดถึง เอาเงินกู้มาลงทุนกันเป็นว่าเล่นเลย
6.มาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ ก็น่าจะเห็นภัยอันตรายกันแล้วว่า มันคือสัญญานภาวะฟองสบู่ที่รอวันแตก ทุกสิ่งทุกอย่างราคาขึ้นโดยไม่มีเหตุผลและไม่สนมูลค่าที่แท้จริง สุดท้ายแล้วในปี พ.ศ.2539 เงินที่กู้มาก็ใกล้ถึงกำหนดชำระเป็นสกุลดอลลาร์ แต่ปรากฎว่า เงินที่กู้เริ่มหมุนไม่ทัน เศรษฐกิจเริ่มหยุดชะงัก ตลาดอสังหาเริ่มชะลอตัว ตึกและอาคารในหลายพื้นที่เริ่มขายกันไม่ออก
7.ความเชื่อมั่นในไทยเริ่มลดลง เพราะนักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีเงินไปคืนหรือไม่ และพากันถอนเงินลงทุนออกไปกันแทบทั้งหมด พอเริ่มมีคนสังเกตเห็นความผิดปกติ Panic Sell ก็เริ่มเกิด ผู้คนต่างพากันขายทรัพย์สินและถอนเงินบาทเพื่อเอาตัวรอด ทำให้ค่าเงินที่เริ่มตรึงไว้ที่ 25 บาทต้อ 1 ดอลลาร์เริ่มสั่นคลอน เงินสำรองในคลังที่คอยมาอุ้มไว้ก็หดหายไปเรื่อย ๆ จากเดิมที่มีถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในเดือนเดียวเหลือเพียง 2 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
8.เมื่อโดนความกดดันจากหลายฝ่าย ในที่สุดทางรัฐก็แบกไม่ไหว ประกาศค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ทำให้ค่าเงินบาทที่ถูกเคยถูกตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์กลายเป็น 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในทันที
9.นั้นเท่ากับว่า หนี้จากการกู้จะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวแบบไม่ต้องทำอะไรเลยทีเดียว ทำให้สถาบันการเงิน บริษัทและโรงงานต่าง ๆ พากันตั้งตัวไม่ทันและไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ ต่างพากันปิดตัวและประกาศล้มละลายกันระเนระนาด โดยยอดผู้ตกงานก็เพิ่มสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึง 1.4 ล้านคน
10.เมื่อรัฐไม่มีเงินสำรอง เศรษฐกิจก็ตกต่ำ รายได้ก็ไม่มี ทำให้ประเทศไทยไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากไปกู้เงินมาพยุงเศรษฐกิจไว้ ซึ่งคนที่เราไปกู้ด้วยก็คือ กองทุนระหว่างประเทศ หรือที่คุ้นหูกันว่า “IMF” นั้นเอง โดยมูลค่าที่ประเทศไทยไปกู้มานั้นสูงถึง 510,000 ล้านบาทเลยทีเดียว และขนาดผ่านมากว่า 20 ปีแล้วก็ยังใช้หนี้ก้อนนั้นกันไม่หมดเลย…
และนี้ก็คือเหตุการณ์วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ที่คนไทยจำไม่เคยลืม และหนึ่งวลีฮอตฮิตที่ว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ก็เกิดขึ้นในยุคนี้นั้นเอง เรียกได้ว่า เจ็บ จุก และจำกันไปอีกนาน ซึ่งแอดก็หวังว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกครั้ง เพราะไม่งั้นเราอาจจะได้เจอกับวิกฤตที่ร้ายแรงกว่า “ต้มยำกุ้ง” ก็เป็นได้…
.
นี่ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนทุกครั้ง
==========================
ถ้าชอบคอนเทนต์แบบนี้ อย่าลืมกดไลค์ กดติดตามเพจไว้นะคะ จะได้ไม่พลาดสาระดี ๆ จากเพจของเรา
โฆษณา