31 ก.ค. 2022 เวลา 13:01
ต้นทุนพุ่ง ของแพง 1 ส.ค. สินค้าแหกด่าน พาณิชย์ปรับราคาขึ้นยกแผง
เบรกไม่อยู่ เมื่อต้นทุนสินค้ายังพุ่งต่อเนื่อง ผู้ประกอบการก็ยากที่จะแบกรับภาระ ทำให้หลายสินค้าประกาศปรับราคาสินค้าขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคมนี้อีกระลอก แม้กระทรวงพาณิชย์จะสั่งห้ามขึ้นราคาก็ตามที
นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสินค้านับร้อยรายการที่ปรับราคาขึ้น ด้วยเหตุผลนานัปการแต่ผู้ที่ต้องแบกรับภาระหนักเห็นจะหนีไม่พ้น “ผู้บริโภค”
ล่าสุดจากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมาระบุว่า นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จนถึงกรกฎาคม 2565 รวมระยะเวลา 8 เดือน มีผู้ผลิตยื่นขอขึ้นราคาสินค้ารวม 127 ครั้ง จาก 116 บริษัท รวมสินค้าทั้งสิ้น 936 รายการ ใน 11 หมวดสินค้า ได้แก่ 1. หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ 2. หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง 3. หมวดปัจจัยทางการเกษตร
4. หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 5. หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ 6. หมวดวัสดุก่อสร้าง 7. หมวดสินค้าเกษตรที่สําคัญ 8. หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค 9. หมวดอาหาร 10. หมวดอื่นๆ และ 11. หมวดบริการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพาณิชย์ไม่ให้ปรับราคาสินค้าขึ้นแต่อย่างใด
กระทรวงพาณิชย์ ยังระบุด้วยว่า หลายสินค้ายื่นขอปรับราคามาหลายครั้ง เช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งก็คือแบรนด์มาม่า ที่ยื่นขอขึ้นราคาเป็นซองละ 7 บาท จากเดิม 6 บาท ซึ่งขอขึ้นราคามา 19 เดือน หรือเกือบ 2 ปี แต่วันนี้ก็ยังไม่พิจารณาปรับขึ้นให้ รวมไปถึงสินค้าอื่นอีกหลายรายการ
หากย้อนกลับไปในวันที่ 1 ก.ค. 2565 เปรียบเหมือนวันดีเดย์ ขึ้น ราคาสินค้าเพราะสินค้าหลักต่างพาเหรดกันปรับราคาขายใหม่แบบยกแผง ยกตู้แช่ไม่ว่าจะเป็นกาแฟกระป๋อง นํ้าอัดลมเบียร์ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือจะเป็นผงซักฟอก นํ้ายาปรับผ้านุ่ม กลุ่มภาชนะพลาสติก ฯลฯ ส่วนมาม่าเลือกที่จะปรับราคาขายส่ง
โดยปรับขึ้นราคาขายส่งเฉลี่ย 0.083 สตางค์ต่อซอง ส่วนแบบลัง (6 กล่องๆ ละ 30 ซอง) ปรับราคาส่งขึ้นเฉลี่ย 3 บาท/กล่อง ทำให้ร้านค้ามีกำไรลดลงเหลือเพียงซองละ 75 สตางค์จากเดิมที่ได้กำไรซองละ 1 บาท
ล่าสุด ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ก็จะมีสินค้าอีกหลายกลุ่มที่ทยอยปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์รอง ที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่กล้าปรับราคาขึ้น เพราะเกรงจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ จึงปล่อยให้แบรนด์เบอร์ 1 ในตลาดปรับขึ้นนำร่องไปก่อนตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา
แม้กระทรวงพาณิชย์จะออกมาเบรก“ห้าม” ขึ้นราคา โดยเฉพาะ “มาม่า” ที่สุดอั้น แจ้งราคาขายส่งใหม่จาก 145 บาท เป็น 155 บาทต่อกล่อง (30 ซอง) ราคาขายปลีกจากเดิมซองละ 6 บาท ปรับขึ้นเป็นซองละ 7 บาท
ร้านค้าจากเดิมที่มีสั่งซื้อกล่องละ 145 บาท ต้นทุนซองละ 4.83 บาทขายราคาซองละ 6 บาท จะได้กำไรซองละ 1.17 บาท ปรับราคาใหม่เป็นกล่องละ 155 บาท ต้นทุนก็จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นซองละ 5.16 บาท แต่เมื่อขายในราคาซองละ 7 บาท จะได้กำไรซองละ 1.84 บาท หรือกล่องละ 55.20 บาทเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้กำไรกล่องละ 35.10 บาท
“สหพัฒน์” ในฐานะผู้ขายมาม่า ซึ่งแม้จะถูกเบรกไม่ให้ขึ้นราคามายาวนานเกือบ 2 ปี แต่ไม่ละความพยายามที่จะยื่นขอแบบซํ้าซาก ให้เหตุผลในการขอขึ้นราคาว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลีหรือนํ้ามันปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักมีสัดส่วนสูงถึง 60% ปรับราคาขึ้นไปแล้ว โดยนํ้ามันปาล์มขึ้นไป 110% ส่วนแป้งสาลี ปรับขึ้นไม่ตํ่ากว่า 53% ไม่นับรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติก หีบห่อรวมไปถึงเครื่องปรุง และค่าขนส่ง ล้วนปรับขึ้นเช่นกัน
“ราคาวัตถุดิบเลยราคาต้นทุนไปนานแล้ว มาม่ามาถึงจุดที่ไม่สามารถแบกรับได้แล้วมามากกว่า 2 เดือน ตอนนี้เรียกว่าขายขาดทุน แต่เพราะเราเป็นบริษัทใหญ่ ทำให้ขาดทุนไม่มาก แต่ตอนนี้เราไม่สามารถประคองราคา 6 บาทได้อีกต่อไป”
1
“เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ยังบอกอีกว่า การขึ้นราคามาม่าเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นนับว่าน้อยมากถ้าผู้บริโภคจะรับประทานเพื่อความอร่อยและใช้จ่ายน้อยที่สุดคงไม่พ้นมาม่า และในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา “มาม่า” เพิ่งจะขึ้นราคาแค่ครั้งเดียว
กรณีศึกษาของ “มาม่า” เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ที่พาณิชย์ต้องสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง ยังมีสินค้าอีกหลายอย่างที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะปรับราคาขึ้นเพราะหวาดวิตกว่าจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ รวมไปถึงจะได้รับผลกระทบ จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ขณะที่ดร.ตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษทิชชู่ แบรนด์ซิลค์, เซลล็อกและแม๊กโม่ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ธุรกิจกระดาษทิชชูยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายโดยเฉพาะด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาเยื่อกระดาษที่ใช้ในการผลิตมีการนำเข้าจากแคนาดาก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นกว่า 40 % จากปัญหาโลจิสติกส์หลังจากที่โควิดระบาดมาได้สักระยะหนึ่ง
บริษัทได้จัดการการผลิต ปรับสัดส่วนการใช้เยื่อกระดาษเพื่อทำให้ผลกระทบทางด้านต้นทุนต่ำ โดยใช้เยื่อใยสั้นในตลาดมากขึ้นและลดการใช้เยื่อใยยาวที่ต้องนำเข้าให้น้อยลงเพื่อลดต้นทุนจากค่าโลจิสติกส์และค่าเงิน ทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันและตอบสนองตลาดได้
“ต้นปีที่แล้วทุกอุตสาหกรรม ค่าเฟด อยู่ดีๆก็พุ่งขึ้นโดยไม่มีเหตุมีผล แม้ตอนนี้จะลดลงบ้างแต่ก็ยังนับว่าสูงกว่าในอดีตก่อนหน้านั้น ที่นี้ในกลุ่มของเราถ้าเป็นเยื่อใยยาวที่นำเข้ามาจึงได้รับผลกระทบเรื่องของ ค่าเฟดชัดเจน ซึ่งเราแก้ปัญหาด้วยการทำข้อตกลงทางด้านการซื้อและเรื่องของการจัดการในเรื่องของค่าเงินเพื่อลดผลกระทบความแปรปรวนทางด้านค่าเงิน
และเราเองก็มีสต๊อกเยื่อใยยาวอยู่ด้วยระดับหนึ่งซึ่งพอใช้ประมาณ 5-6 เดือน จากนั้นเราลดสต๊อกเยื่อใยสั้นและไปเพิ่มสต๊อกใยยาว เพราะเยื่อใยสั้นสามารถซื้อในประเทศได้ ทำให้เราลดผลกระทบทางด้าน exchange rate ไปพอสมควร”
ในครึ่งปีหลัง ยังมีแนวโน้มว่าเราจะเจอในเรื่องของเงินเฟ้อที่จะเป็นแรงกดดันต่อการผลิตสินค้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องมีการปรับขึ้นแรงงานซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เราพยายามที่จะลดต้นทุน เราพยายามอย่างที่สุดเพื่อที่จะไม่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเยอะเกินไปนัก ถามว่ามีการปรับราคาไหม เรามีการปรับราคาขึ้นเฉลี่ยๆในทุกรายการ มีการปรับทั้งในเรื่องของความยาวแผ่นและเรื่องของราคาด้วยซึ่งรวมๆกันอยู่ในนั้นเฉลี่ยประมาณ 3-5%”
1
ชั่วโมงนี้จึงต้องจับตามองต่อไปว่า นอกจากการเบรกห้ามปรับราคา รัฐบาลจะมีมาตรการใดมาช่วยบรรเทาผู้ประกอบการที่ต้องเผชิญกับวิกฤติ ซ้อนวิกฤติในยามนี้
โฆษณา