1 ส.ค. 2022 เวลา 08:09 • กีฬา
ทั้งๆ ที่ติดหนี้สิน 1,350 ล้านยูโร แล้วทำไมบาร์เซโลน่ากลายเป็นทีมที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในซัมเมอร์นี้ วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
1
ยูเลียน นาเกลส์มันน์ เฮดโค้ชของบาเยิร์น มิวนิค ให้สัมภาษณ์ว่า "บาร์เซโลน่าเป็นสโมสรเดียวในโลก ที่ซื้อผู้เล่นได้ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีเงิน มันเป็นอะไรที่แปลกและบ้ามากๆ"
9
สิ่งที่นาเกลส์มันกล่าวถึง ก็ไม่ต่างจากที่แฟนบอลทั่วไปคิด เพราะถ้าเราตามข่าว ก็จะพอรู้ว่าบาร์ซ่า ติดหนี้สินนับพันล้านยูโร แต่กลายเป็นว่าในตลาดซัมเมอร์ 2022 ทีมที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในโลก ก็คือบาร์ซ่านี่แหละ โดยจ่ายไป 158 ล้านยูโร
- ราฟินญ่า 58 ล้าน
- ชูลส์ คุนเด้ 50 ล้าน
- โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ 45 ล้าน
- ปาโบล ตอร์เร่ 5 ล้าน
1
คุณติดหนี้ขนาดนั้น แล้วเอาเงินมาจากไหนซื้อนักเตะ? ยังไม่นับค่าเหนื่อยแบบมหาศาลในแต่ละวีกอีกนะ เพราะเซ็นผู้เล่นแบบ Free Transfer เข้ามาหลายคน ทั้งฟรองค์ เกสซิเยร์ และ อันเดรียส คริสเตนเซ่น รวมถึงต่อสัญญาใหม่กับ อุสมาน เดมเบเล่ และ เซร์จี้ โรแบร์โต้อีก นอกจากนั้น พวกเขายังไม่ยอมปล่อยบิ๊กเนมออกไปเลย คือมีขายนิดหน่อยเช่นพวก ออสการ์ มินเกซ่า ที่ไม่ใช่ตัวหลัก
3
มันทำให้หลายคนคิดไม่ออกจริงๆ ว่าบาร์เซโลน่าทำแบบนี้ได้ไง ทั้งๆ ที่ยังมีหนี้อีกเยอะพอกพูนอยู่ โดยตัวเลขหนี้สินแบบเป๊ะๆ นั้น สื่อหลายสำนัก ระบุว่า อยู่ที่ 1,350 ล้านยูโร
42
หนี้สินเหล่านี้เกิดจากอะไร? มันเกิดมาจาก 2 ส่วนรวมกัน
6
ส่วนที่ 1 คือการซื้อผู้เล่นที่ผิดพลาด และแพงเกินไป เช่นฟิลิปเป้ คูตินโญ่, อุสมาน เดมเบเล่ และ อองตวน กรีซมันน์ นี่คือสามดีลยักษ์ที่ราคาเกิน 100 ล้านยูโร ยังไม่นับผู้เล่นอีกนับสิบ ที่ซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้จริง เช่น มัลคอม, มาร์ติน เบรธเวท, เคลม็อง ล็องเลต์ ฯลฯ
3
แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าค่าตัว คือค่าเหนื่อย เพราะนักเตะแต่ละคนทั้งระดับ A หรือ B ไม่รู้บาร์ซ่าเจรจาแบบไหน ถึงมีค่าเหนื่อยที่แพงทะลุเพดานทั้งสิ้น
1
รายงานระบุว่า รายได้ทั้งหมดของบาร์เซโลน่าในแต่ละปี ต้องแบ่งมาจ่ายค่าเหนื่อยผู้เล่น มากถึง 74% เรียกได้ว่า สโมสรใช้เงินไปเยอะมากจริงๆ กับเรื่องนี้
3
ปัญหาส่วนที่ 2 คือเรื่องการรีโนเวทสนามใหม่ โดยบาร์เซโลน่ามีโปรเจ็กต์ ชื่อ Espai Barca อัพเกรดคัมป์นู ให้สวยขึ้น ทันสมัยขึ้น มีจอโปรเจ็กต์ติดรอบด้านแบบ 360 องศา และเพิ่มความจุจาก 99,354 คน เป็น 105,000 คน และจะกลายเป็นสนามเดียวในยุโรป ที่มีความจุของผู้ชมถึงหลักแสน
4
รวมไปถึงยังวางแผนจะอัพเกรด สนามปาเลา เบลากราน่า สนามเหย้าของทีมบาสเกตบอลบาร์เซโลน่า เพิ่มจาก 10,000 คน เป็น 15,000 คน และ สร้างสนามโยฮันครัฟฟ์ สเตเดี้ยม สำหรับทีมเยาวชน และ ทีมบอลหญิง (สร้างเสร็จแล้ว)
2
บาร์เซโลน่าจึงกู้เงินมาจาก สถาบันการเงินโกลด์แมน แซ็คส์ เป็นจำนวน 815 ล้านยูโร เพื่อโปรเจ็กต์นี้
3
ตอนแรก บาร์โตเมว ก็ยังมั่นใจว่าทุกอย่างราบรื่นดี ต่อให้มีหนี้สินบ้างก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะบาร์เซโลน่าเป็นหนึ่งในสโมสรที่ทำรายได้มากที่สุดในโลกอยู่แล้ว แต่ทันทีที่เกิดโควิด-19 ปั๊บ เงินที่คำนวณไว้ว่าจะหาได้แน่ๆ ก็หายวับไปเลยในพริบตา
ทุกอย่างผิดแผนหมด เงินที่กู้มาจากโกลด์แมน แซ็คส์ ก็ยังต้องจ่ายทุกเดือน นี่ยังไม่นับหนี้กับสโมสรอื่นๆ ที่บาร์ซ่าค้างไว้อยู่ เช่น ค้างจ่ายอาแจ๊กซ์ 16 ล้านยูโรในดีล เฟรงกี้ เดอ ยอง, ค้างจ่ายบอร์กโดซ์ 10 ล้านยูโรในดีลมัลคอม, ค้างจ่ายเกรมิโอ 21 ล้านยูโร ในดีลอาร์ตูร์ (เคสนี้อาร์ตูร์ย้ายทีมไปแล้วด้วยซ้ำ)
1
นับหนี้ทุกอย่างรวมกัน มันพุ่งไปถึง 1,350 ล้านยูโร ซึ่งในเมื่อคุณยังมีเจ้าหนี้เต็มไปหมด บาร์ซ่าจะไปทุ่มเงินซื้อผู้เล่นใหม่มาเสริมทัพ มันก็กระไรอยู่ ไม่งั้นมันก็จะเหมือนคนที่ติดหนี้สินชาวบ้าน แต่ยังใช้เงินมือเติบนั่นแหละ
แต่ไม่ซื้อก็ไม่ได้อีก เพราะบาร์ซ่าในฤดูกาลที่แล้ว 2021-22 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แม้จะได้ชาบี เอร์นันเดซ มากอบกู้ชีวิตช่วงกลางฤดูกาล แต่ทีมก็ยังจบมือเปล่า ไม่ได้แชมป์อะไรเลยอยู่ดี ยิ่งได้เห็นคู่ปรับตลอดกาลเรอัล มาดริด คว้าดับเบิ้ลแชมป์ได้ ยิ่งทำให้แฟนบาร์ซ่ารู้ดีว่า ถ้าไม่เสริมทีมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เผลอๆ โดนเรอัล มาดริด ฉีกหนีไปไกลยิ่งกว่าเดิมอีก
1
ดังนั้นถ้าคิดถึงเหตุผลในด้านฟุตบอล พวกเขาจำเป็นต้องลงตลาดซื้อนักเตะเก่งๆ เข้ามาเพิ่ม แต่มันก็วนไปเรื่องเดิมคือ "ทีมไม่มีเงิน" แล้วจะเอางบจากไหนมาซื้อ?
--------------------
วิธีการได้มาซึ่งเงิน ขั้นแรกสุด ที่ง่ายสุดคือการขายตัวหลักทิ้งหมดเลย เช่น เปดรี, กาบี้, อันซู ฟาติ, อเราโฆ่ ทุกๆ คนที่ขายได้ราคาก็ปล่อยทิ้งแพงๆ
1
นี่เป็นวิธีที่ง่าย แต่ถ้าทำอย่างนั้นแล้วอนาคตสโมสรจะอยู่ตรงไหนล่ะ ดังนั้นวิธีการนี้จึงไม่เวิร์ก
ประธานสโมสร โจน ลาปอร์ต้า จึงหาทางใหม่ๆ เพื่อนำเงินก้อนเข้ามาสู่สโมสร เช่น การขายลิขสิทธิ์ชื่อสนาม และ สปอนเซอร์หน้าอกเสื้อให้ Spotify เป็นจำนวนเงินปีละ 70 ล้านยูโร
1
แต่แค่นั้นยังไม่พอสำหรับการซื้อตัวผู้เล่นใหม่ ลาปอร์ต้าจึงนำอีกไอเดียเข้ามาใช้ เพื่อหาเงินก้อนเข้ามาสู่สโมสรอย่างรวดเร็ว และไอเดียนั้นมีชื่อว่า "คันโยกทางเศรษฐกิจ" (Economic Lever)
1
คันโยกทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ คือการดึงเอาเงินจากอนาคตมาใช้นั่นเอง
1
อธิบายให้เห็นภาพ สมมุติเรารับเงินเดือนกับบริษัทอยู่ เดือนละ 10,000 บาท เราไปขอร้องบริษัทว่า คุณหักเงินเดือนเรา เดือนละ 25% เป็นเวลา 1 ปีได้ไหม (เดือนละ 2,500 บาท) แล้วเอาเงินก้อนมาให้เรา 30,000 เลย (2500 x12) โดย 12 เดือนต่อจากนี้ เรายินดีจะรับเงินเดือนแค่ 7,500 บาทพอ
1
แต่ในมุมของบริษัท ทำแบบนี้ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นบริษัทก็เลยต่อรองว่า เราให้เงินก้อนคุณได้นะ แต่จ่ายให้แค่ 25,000 บาทพอ แต่คุณต้องหัก 25% ของเงินเดือนเป็นเวลา 1 ปีตามเดิมนะ
เท่ากับว่าบริษัทยอมเสียเงินก้อนไปก็จริง แต่ก็ได้ประโยชน์ เพราะเขาจะได้เงินส่วนต่าง 5,000 บาท เมื่อครบหนึ่งปีแล้ว
1
ถ้าเราทำงานไปเรื่อยๆ 1 ปี โดยไม่ให้หัก 25% เราก็จะไม่เสียส่วนต่าง 5,000 บาท นี้ แต่ถ้าเราอยากได้เงินก้อน 25,000 บาท มาตอนนี้เลย ก็ต้องยอมตอบตกลงเงื่อนไขของบริษัท
1
ถามว่าวิธีการนี้ดีหรือไม่ดี มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเอาเงิน 25,000 บาท ที่บริษัทให้มา เอาไปทำอะไร ถ้าเอาไปต่อยอดให้มันงอกเงย มันก็เป็นวิธีที่ดี แต่ถ้าเราเอาเงินนี้ไปละลายแม่น้ำ ก็กลายเป็นว่าเราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แล้วทำให้อนาคตของตัวเองลำบากอีกต่างหาก
1
นี่ล่ะ คือไอเดีย "คันโยกทางเศรษฐกิจ" ที่บาร์เซโลน่าเอามาใช้ คือเอาเงินจากอนาคตมาใช้ก่อน
คันโยกเศรษฐกิจที่ 1 (First Lever) ลาปอร์ต้าเสนอขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดลาลีกาของสโมสร 10% ให้กับบริษัทชื่อ Sixth Street เป็นเวลา 25 ปี แลกกับเงินก้อน 267 ล้านยูโร
1
มีการประเมินว่า ถ้าบาร์ซ่าไม่ขาย 10% นี้ พวกเขาเก็บเงินถ่ายทอดสดไปเรื่อยๆ 25 ปี ก็จะได้เงิน 412.5 ล้านยูโร (หรืออาจจะมากกว่า เพราะค่าถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นทุกปี) แต่ในเมื่อบาร์ซ่าบอกว่า โอเค เราขอเอาเงินตอนนี้เลย รับแค่ 267 ล้านยูโรพอ เอามาหมุนใช้จ่าย ซื้อผู้เล่นใหม่ๆ ดีกว่า
จากนั้นมาสู่คันโยกที่ 2 (Second Lever) เพราะเงินได้มาสองร้อยกว่าล้านยูโรยังไม่เพียงพอ พวกเขาจึงเดินหน้าขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของสโมสรต่อ ในอีก 25 ปีข้างหน้า เพิ่มอีก 15% เป็นจำนวน 400 ล้านยูโร ให้กับบริษัท Sixth Street เจ้าเดิม
1
ดังนั้นจากที่พวกเขาเคยไม่มีเงิน ปลายปีติดบัญชีตัวแดง เมื่อขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดลาลีกาในอนาคตไปแล้ว 25% (10% + 15%) เป็นเวลา 25 ปี ทำให้บาร์ซ่าได้เงินก้อนมาโป้งเดียว 667 ล้านยูโรเพื่อเอามาใช้สอย (คันโยกแรก 267 + คันโยกสอง 400)
1
(Note : ตัวเลขเรื่องคันโยก 1 และ 2 หลายสื่อบอกจำนวนไม่เท่ากัน อย่างฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา บอกว่าบาร์ซ่าได้เงินจากคันโยกแรก 207 ล้านยูโร และได้จากคันโยกสอง 350 ล้านยูโร)
ไม่เพียงแค่นั้นบาร์เซโลน่ามีทางเลือกอีก นั่นคือปลดล็อก "คันโยก 3" (Third Lever) ด้วยการขายหุ้นบางส่วนของบริษัทลูก Barca Studios หรือ ธุรกิจ BLM ที่ขายลิขสิทธิ์อย่างอื่น (เช่น เกม PES) และ สินค้าที่ระลึกของสโมสร ซึ่งจะได้เงินมาราวๆ 200 ล้านยูโร
1
คือถ้าพวกเขาต้องการเงินสดในมือมากกว่านี้ ก็สามารถขายสินทรัพย์ในอนาคตของตัวเอง เพื่อเอาเงินมาใช้ได้อีก ซึ่งด้วยวิธีการนี้ ทำให้บาร์ซ่ามีเงินสดในมือ สามารถซื้อผู้เล่นบิ๊กเนมได้หลายคนในซัมเมอร์นี้ จนยกระดับกลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งมากๆ และมีลุ้นแชมป์ทุกรายการอีกครั้ง
สำหรับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 25% ที่บาร์ซ่าขายไปให้ Sixth Street ทางลาปอร์ต้าระบุว่า มีอ็อปชั่น "ซื้อคืนได้" แต่ลาปอร์ต้าไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จะซื้อคืนได้เมื่อไหร่ ด้วยราคาเท่าไหร่ แต่ก็แน่นอนว่า คงยังไม่ใช่อนาคตอันใกล้นี้
espn อธิบายว่า "เราบอกได้เลยว่า ไม่มีผู้ลงทุนคนไหน จ่ายเงินไปหลายร้อยล้านยูโร ถ้าคุณซื้อคืนลิขสิทธิ์ง่ายๆ แบบนั้น พวกเขาต้องมั่นใจว่าดีลนี้ ทำกำไรให้พวกเขาจริงๆ" ดังนั้นเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์คืน อาจไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น
เรื่องนี้ที่ต่างประเทศก็หยิบเอามาดีเบทกันเยอะ ว่าการหาเงินของบาร์ซ่าด้วยวิธีนี้ การเอาเงินในอนาคตมาใช้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือไม่? เพราะถ้าหากผู้บริหารชุดนี้ เอาเงินไปละลายแม่น้ำ ผู้บริหารยุคต่อไป จะทำงานอย่างยากลำบากมาก
2
แซม วอลเลซ นักเขียนจากเดลี่ เทเลกราฟวิจารณ์ว่า "ประธานสโมสรโจน ลาปอร์ต้าขายอนาคตเพื่อเอามาใช้จ่ายวันนี้ บาร์เซโลน่าเล่นเดิมพันแบบสไตล์ลาสเวกัส"
ขณะที่ มิเกล เดลานี่ นักข่าวจากดิ อินดิเพนเดนท์เขียนว่า "บาร์เซโลน่ารอดจากวิกฤติการเงินมาได้ แต่พวกเขาเอาอนาคตที่ยั่งยืนของสโมสรมาพนัน"
2
บทสรุปสุดท้ายนั้น ผมคิดว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าดีลนี้จะปัง หรือจะพัง มันอยู่ที่ฝีมือการบริหารการเงินของฝั่งบาร์ซ่านั่นล่ะ คือถ้าเอาเงินก้อน 600-700 ล้านที่ได้มา เอามาสร้างมูลค่าต่อยอดให้ทีมประสบความสำเร็จได้มากๆ จนได้กำไรทะลุเป้า เงินที่ได้มา ก็ถือว่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า
1
แต่ถ้าเอาเงินก้อนนี้ ใช้จ่ายแบบเรื่อยเปื่อยไร้สาระเหมือนยุคบาร์โตเมวอีก ไม่มีการควบคุมการเงินอย่างเข้มงวด ก็ถือว่าเงินก้อนนี้สูญเปล่า อีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยความที่คุณเอาเงินจากอนาคตมาใช้แล้ว ยุคนั้นก็จะเหลืองบให้ใช้น้อยมาก และอาจส่งผลให้บาร์ซ่าอาจจะลดขนาดจากทีมขนาดใหญ่กลายเป็นทีมขนาดกลางก็ได้
1
ดังนั้นไม่มีใครรู้อนาคตได้จริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ ณ วันนี้พวกเขาต้องทำแบบนี้ เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤติให้ได้ก่อน
พอรอดจากปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว ค่อยมาลุ้นเอาว่า ภายใต้การบริหารของลาปอร์ต้า และการคุมทีมของชาบี จะพาทีมคัมแบ็กกลับมารุ่งเรืองได้ไหมในระยะเวลาอันใกล้นี้
#MassiveGamble
โฆษณา