2 ส.ค. 2022 เวลา 06:06 • ท่องเที่ยว
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ และ หมุดเขตแดนไทย มาเลเซีย .. สุคิริน นราธิวาส
วัฒนธรรมหนึ่งที่กลมกลืนอยู่ในตำบลภูเขาทอง คือ ความเลื่อมใสศรัทธาใน “เจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ” เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ซึ่งมีหลายตำนานอันโด่งดัง เล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ .. เป็นสถานที่สำคัญอันเป็นที่นับถือของชาวสุไหงโกลกและชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวจีนในมาเลเซีย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลสุไหงโกลก
เดิมทีเจ้าแม่โต๊ะโมะนี้ประดิษฐานอยู่ที่บ้านโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน ต่อมาชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่อำเภอสุไหงโกลก เป็นที่นับถือของชาวสุไหงโกลก และชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวจีนในประเทศมาเลเซีย ทุกๆ ปี จะมีการจัดงานประเพณีประจำปีที่บริเวณศาลเจ้า ตรงกับวันที่ 23 เดือนสามของจีน หรือประมาณเดือนเมษายน
ตำนานศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ
ตำนานกล่าวว่า แต่เดิมนั้น เจ้าแม่เป็นชาวจีน บิดาเป็นผู้ตรวจราชการมณฑลฮกเกี้ยน เจ้าแม่มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน เจ้าแม่คือผู้ที่ทางครอบครัวได้บนบานเพื่อขอจากเจ้าแม่กวนอิม โดยถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ.1503 และเชื่อว่าเจ้าแม่เกิดในวันที่ 23 เดือน 3
ในวัยเด็กเจ้าแม่เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดมาก อ่านท่องตำราเล่มโตๆ เพียงครั้งเดียวก็จดจำได้หมด .. เมื่อเจ้าแม่อายุ 16 ปี ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ เมื่อได้พบกับเซียนตนหนึ่งซึ่งปรากฏตัวจากบ่อน้ำแล้วลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า สาวใช้ที่อยู่กับเจ้าแม่ตกใจ วิ่งหนีไปจนหมด เหลือแต่เจ้าแม่เท่านั้น
เจ้าแม่เมื่อเห็นเซียนแล้ว ก็จึงคุกเข่าแสดงความเคารพ เซียนจึงมอบคัมภีร์ให้เจ้าแม่หนึ่งเล่ม เจ้าแม่ศึกษาคัมภีร์อย่างแตกฉาน จนชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างพิสดาร เพราะสามารถช่วยปกป้องผองภัยให้ชาวเมืองได้ และยังมีฤทธิ์เหาะเหินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในท้องทะเล .. จึงทำให้ชาวเมืองผู้อาศัยอยู่ริมทะเลพากันเลื่อมใสศรัทธาในคุณความดีของเจ้าแม่ และชาวเมืองได้ร่วมกันสร้างศาลเพื่อสักการบูชาเจ้าแม่
ตำนานระบุว่า ในปี พ.ศ.1523 วันที่ 8 เดือน 9 เจ้าแม่เบื่อความวุ่นวายทางโลก จึงออกแสวงหาความสงบ โดยได้เดินทางไปยังเหมยซาน หรือภูเขาเหมย บรรดาญาติพี่น้องและผู้คนเห็นเจ้าแม่เดินบนอากาศ โดยมีก้อนเมฆอยู่ใต้เท้า จากนั้นก็มีลมพัดพาร่างเจ้าแม่หายลับไปในกลีบเมฆ แล้วก็ไม่มีใครเห็นเจ้าแม่อีกเลย
หากอ้างตามตำนาน ก็จะเห็นได้ว่าเจ้าแม่มาจู หรือเจ้าแม่โต๊ะโมะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับจังหวัดนราธิวาสเลย .. แล้วเหตุใด ผู้คนจึงสร้างศาลเจ้าแม่ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส?
หากจะย้อนไปในยุคที่มีการหาทองคำในเขตภูเขาโต๊ะโมะ (ปัจจุบันคือตำบลภูเขาทอง) อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 .. หัวหน้าขุดหาทองคำ ชื่อกัปตันคิว และคนงานล้วนนับถือเจ้าแม่มาจู จึงอัญเชิญท่านไปในการขุดหาแหล่งทองคำ และก่อนจะสำรวจก็จะต้องอัญเชิญเจ้าแม่ให้ประทับร่างทรง
1
.. มีอยู่ครั้งหนึ่งร่างทรงของเจ้าแม่บอกว่าบริเวณที่จะสำรวจนั้นอันตราย และห้ามสำรวจต่อไป แต่ชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับสัมปทานหาแร่ทองคำไม่เชื่อ แล้วสั่งให้สำรวจต่อไป จนในที่สุดได้เกิดดินถล่มทับคนงานกว่าร้อยชีวิต
เมื่อเจ้าของสัมปทานเห็นเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น จึงเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ แล้วสั่งให้กัปตันคิวเดินทางไปประเทศจีนเพื่ออัญเชิญองค์จำลองของเจ้าแม่มาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าที่แหล่งสำรวจในอำเภอสุคิริน
 
จากนั้นทุกครั้งก่อนจะสำรวจหาทองคำ เจ้าแม่ในร่างประทับทรงก็จะชี้แนะให้ขุดหาพบแร่ทองคำทุกครั้ง จนทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่แพร่กระจายไปทั่วจังหวัด และเมืองใกล้เคียง .. แล้วต่อมาก็มีการถวายนามว่า เจ้าแม่โต๊ะโมะ
เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็จำต้องยุติการทำเหมืองทองคำ ผู้คนก็หนีกระจัดกระจายไป แล้วทิ้งศาลเจ้าแม่ให้ร้าง .. จนกระทั่งสงครามยุติลง ลูกชายของกัปตันคิวได้กลับขึ้นไปยังเขาโต๊ะโมะ แต่ไม่พบรูปปั้นเจ้าแม่ จึงนำกระถางธูปจากศาลไปไว้ในศาลที่หมู่บ้านเจ๊ะเห อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ต่อมาได้นำกระถางธูปนี้ไปไว้ที่บ้านสามแยก อำเภอแว้ง แล้วสร้างองค์จำลองของเจ้าแม่ขึ้นมา จากนั้นต่อมาก็ได้มีการสร้างศาลถวายเจ้าแม่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2495 โดยในวันที่ 23 เดือน 3 ตามปฏิทินจีน ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน จะถือว่าเป็นวันเกิดของเจ้าแม่มาจู ซึ่งจะมีการจัดงานสมโภช มีเทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีให้กับเจ้าแม่ ซึ่งงานเฉลิมฉลองนี้ยังจัดต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
หมุดเขตแดนไทย มาเลเซีย
จุดผ่อนปรนบ้านภูเขาทอง (ชายแดนไทย-มาเลเซีย สุดปลายด้ามขวาน) เป็นเขตชายแดนระหว่างอำเภอสุคิริน (ประเทศไทย) กับ อำเภอเยอลี (ประเทศมาเลเซีย) ที่ในอดีตเคยเปิดชายแดนให้พี่น้องจากประเทศไทยและพี่น้องจากประเทศมาเลเซียไปมาหาสู่กันได้ ก่อนที่จะได้ทำการปิดในภายหลัง และกำลังเจรจาที่จะขอเปิดเขตแดนอีกครั้งในอนาคต
เขตแดนจะมีเพียงรั้วลวดหนามกั้นอยู่เท่านั้น .. ดินแดนอีกฝั่งของรั้วก็คือ ประเทศมาเลเซีย ที่มีป้อมสังเกตการณ์ขนาดใหญ่ และมีทหารของมาเลเซียประจำการอยู่บนป้อมตลอดเวลา
โฆษณา