3 ส.ค. 2022 เวลา 06:06 • ท่องเที่ยว
เรือกอและ .. วิจิตรศิลป์บนพลิ้วคลื่น
นราธิวาสไม่ใช่ดินแดนที่โปรดปรานที่สุด แม้จะมีโอกาสไปเดินถ่ายภาพมาแล้วหลายครั้ง .. แต่จากทริปครั้งล่าสุดที่ได้ไปเยือนและสัมผัส ฉันกลับพบว่านราธิวาสเป็นอีกที่หนึ่งที่เราสามารถจะไปผ่อนพักอยู่เงียบๆเพื่อฟังเสียงของหัวใจ ไปซ่อมสร้าง ปะผุ สร้างกำลังใจให้คิดบวก
.. ก่อนที่จะก้าวต่อไปในครรลองของโลกกว้างใหญ่ เปี่ยมด้วยสีสันของแผ่นดิน และผู้คน .. รอยยิ้ม-หยาดน้ำตา ด้านดี-ด้านร้าย อย่างที่โลกควรจะเป็น
One finest morning in Narathiwat .. ในเช้าที่ท้องฟ้าแจ่มใส ฉันและเพื่อนที่รักคนหนึ่ง ก้าวเดินช้าๆ ผ่านตึกรามบ้านช่องกลางเมือง มุ่งหน้าไปที่ท่าเทียบเรือ เพื่อไปสบตากับโลกอีกด้านหนึ่ง ที่มีความท้าทายอยู่ในรายทาง
เรือกอและที่จอดเรียงรายริมน้ำหลายลำที่ท่าเทียบเรือ มีลวดลายสวยงามสะดุดตา .. ใครบางคนบอกว่า หากมาในช่วงกลางวัน อาจจะได้สัมผัสกับวิถีประมงที่เรียบง่าย เห็นชาวบ้านนั่งซ่อมเรือ เก็บแหและอุปกรณ์ทำประมงต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์จากชุมชนแห่งนี้ที่ยังมีวิถีชาวเลแบบดั้งเดิมให้ได้เห็น
ว่ากันว่า .. ความร่ำรวยไม่มีความหมายมากไปกว่าการที่ครอบครัวมีชีวิตสุขสบายตามอัตภาพ .. ชาวเลจะออกเรือเดินทางที่ยาวไกลหลายๆวัน เพื่อไปจับปลาในน่านน้ำที่คุ้นเคย บนเส้นทางที่โดดเดี่ยวและยากลำบากด้วยสายลม เกลียวคลื่น และเปลวแดด .. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัจจธรรมในชีวิตของชาวเลที่นี่
เรือกอและหลายลำจอดสงบนิ่ง เมื่อเราไปถึงท่าเทียบเรือ ด้วยเป็นช่วงเช้าที่ไร้แรงลม .. ก่อเกิดภาพสะท้อนน้ำที่สวยคลาสสิค แม้แสงเช้าในมุมที่เฉียงเข้าหาพระอาทิตย์จะทำให้ภาพมีสีออกเหลืองไปบ้างก็ตาม
ลวดลาย สวยงาม ที่ประณีตละเอียดละอ่อนของเรือกอและ .. เป็นสิ่งที่สะท้อนความภาคภูมิใจ ที่จะบอกให้แก่ผู้มาเยือนรู้ว่า ที่นี่คือดินแดนของชาวไทยมุสลิมผู้มีพื้นฐาน ในการเขียนลวดลายบนลำเรืออันเป็นเอกลักษณ์มาช้านาน
ลวดลายบนลำเรือกอและ เป็นการผสมผสานระหว่างลายมาลายู ลายชวาและลายไทย โดยมีสัดส่วนของลายไทยอยู่มากที่สุด เช่น ลายกนก ลายบัวคว่ำ บัวหงาย ลายหัวพญานาค หนุมานเหิรเวหา รวม ทั้งลายหัวนกในวรรณคดี เช่น “บุหรงซีงอ” สิงหปักษี (ตัวเป็นสิงห์หรือราชสีห์ หัวเป็นนกคาบปลาไว้ ที่หัวเรือ) เชื่อกันว่ามีเขี้ยวเล็บและมีฤทธิ์เดชมาก ดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวเรือกอและมาแต่โบราณ
งานศิลปะบนลำเรือเปรียบเสมือนวิจิตรศิลป์บนพลิ้วคลื่น และเป็นศิลปะเพื่อชีวิต เพราะเรือกอและมิได้อวดโชว์ความอลังการของลวดลายเพียงอย่างเดียว ทว่ายังเป็นเครื่องมือในการจับปลา เลี้ยงชีพของชาวประมงด้วย .. กล่าวกันว่าลูกแม่น้ำบางนราไม่มีเรือกอและหาปลา ก็เหมือนไม่ใส่เสื้อผ้า
ความนิยมในการวาดลวดลายข้างลำเรือให้วิจิตรตา นับวันจะยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันเรือกอและจำลอง เป็นสินค้าของที่ระลึกที่มีคุณค่าสำหรับผู้มาเยือน และกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ พื้นบ้านมาเลเซีย ซึ่งได้สั่งซื้อเรือกอและจำลองเข้ามามากจนชาวบ้านผลิตไม่ทัน จนต้องมีการสั่งจองล่วงหน้า
วันวานเป็นรากฐานของวันนี้ และวันนี้ยังเป็นรากฐานของวันพรุ่งนี้ เมื่อชีวิตของผู้คนจะคงเดินทางต่อไป ..
ลวดลายบนกาบเรือ .. ชาวเลถักทอชีวิตของเขาผ่านการวาดและการตวัดฝีแปรงลงสีต่างๆ และจะส่งต่อให้ลูกหลานขอเขาทำต่อไป เพื่อให้ชีวิตและวัฒนธรรมของเขาคงอยู่
ช่องว่างระหว่างลวดลายมีให้เห็นอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะเติมช่องว่างนั้นอย่างไร .. ตราบใดที่ผู้คนยังใช้เรือกอและเหล่านี้อยู่ ตราบนั้นมรดกวัฒนธรรมของพวกเขาก็จะยังคงอยู่ตลอดไป
ประวัตฺการใช้เรือกอและของภาคใต้
ชื่อเรือกอและ หรือ “ฆอและ” เป็นคำภาษามลายู หมายถึง โคลงเคลง หรือล่องลอย สารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 3 (2505 : 1448) ได้ให้ความหมายไว้ว่ากุแหละหรือกอและ เป็นคำภาษามาลายู ใช้เรียกเรือประมงขนาดเล็กหรือขนาดกลาง แต่บางโอกาสก็นำมาเรียกเรือขนาดใหญ่ได้เหมือนกัน ข้อมูลหลายแห่งสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม และการเข้ามาตั้งรกรากของชาวมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างของไทย
การเข้ามาของมุสลิมในประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1800-1921) นั้น มุสลิมอาศัยอยู่ในนครศรีธรรมราชตลอดจนถึงมะละกา และมีหลักฐานที่แสดงว่าในสมัยสุโขทัยนั้นประเทศไทยมีการติดต่อกับประเทศมุสลิม เช่น อินโดนีเซีย อาหรับทั้งนี้ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2133-2148) ตำแหน่งเสนา-บดีทางการคลังและการท่าเรือนั้นนิยมใช้ชาวเปอร์เซีย ซึ่งก็ใช้กันเป็นประเพณีสืบต่อมาจนตลอดสมัยอยุธยาและธนบุรี
มุสลิมในภาคใต้มีความชำนาญในการใช้เรือ คนไทยทางภาคใต้รู้จักการใช้เรืออย่างชำนิชำนาญมากกว่าคนไทยในภาคกลางเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ การอยู่ติดลำน้ำและฝั่งทะเลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ขุนนางเชื้อสายอาหรับมุสลิมมีความสามารถเป็นอย่างยิ่งในด้านกิจการค้าทางทะเล รับราชการได้ตำแหน่งเป็นเจ้ากรมท่าสังกัดกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นตำแหน่งสืบทอดแบบประเพณี
จึงสันนิษฐานได้ว่าชาวมุสลิมในภาคใต้ความคุ้นเคยและชำนาญในการใช้เรือมาตั้งแต่สมัยโบราณและสืบทอดความชำนาญทางด้านการเดินเรือและการประมงให้แก่ลูกหลาน
ปรากฏเรื่องราวของเรือและในสมัยสุโขทัย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอสรุปและสันนิษฐานได้ว่าเรือกอและและการเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานในภาคใต้ตอนล่างของชาวมุสลิมและเนื่องจากชาวมุสลิมในภาคใต้มีความชำนาญพิเศษในการออกทะเลดังนั้นกลุ่มชนนี้จึงยึดอาชีพการประมงและเนื่องจากเป็นชาวพื้นเมืองที่มีทุนทรัพย์น้อย จึงมีการคิดประดิษฐ์เครื่องมือในการออกทะเลเพื่อทำการประมง ทำให้เกิด “เรือกอและ”ขึ้น
ลวดลายบนเรือกอและ
ลวดลายที่ปรากฎบนเรือกอและ เป็นลวดลายที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์และอิทธิพลที่ได้รับจากสภาพแวดล้อม ทั้งปัจจัยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรมและวิถีความเป็นอยุ่ร่วมในจังหวัดปัตตานี ลวดลายบนเรือกอจึงปรากฏสีสันลวดลายที่มาจากอิทธิพลศิลปะของ 4 ชนชาติ อันได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ชาวชวา และชาวจีน นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ซึ่งเป็นผลของวัฒนธรรมสัมพันธ์ที่มีคุณค่าสมควรอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง
จิตรกรรมที่นำมาตกแต่งเรือและส่วนใหญ่จึงเป็นภาพสัตว์น้ำ สัตว์ในจินตนาการจากประเพณี ศาสนา วรรณคดี ศิลปะการแสดงต่างๆ สัตว์หิมพานต์และภาพทิวทัศน์จิตรกรรมประเภทสัตว์น้ำภาพสัตว์น้ำที่นิยมวาด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสวยงามและอาจจะเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรือกอและลำนั้นทำการประมงเพื่อจับสัตว์น้ำประเภทนั้นที่ปรากฎบนเรือกอและ ได้แก่ ปู ปลา กุ้ง หมึก
ภาพสัตว์ในจินตนาการจากประเพณี ได้แก่ ภาพนกกาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ นกกรุดา หรือนกครุฑนกบือเฆาะมาศ หรือนกยูงทอง นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์ภาพสัตว์ในจินตนาการจากศาสนาภาพสัตว์ในจินตนาการจากวรรณคดี เช่น หงส์ภาพสัตว์ในจินตนาการจากศิลปะการแสดงต่างๆภาพสัตว์หิมพานของไทย เช่น ภาพหนุมาน นาค เงือกภาพสัตว์ในจินตนาการของจีน เช่น ภาพมังกร นกยูง นกกระเรียนจิตรกรรมประเภทภาพทิวทัศน์ (วุฒิ วัฒนสิน. 2542)
โฆษณา