3 ส.ค. 2022 เวลา 08:02 • ท่องเที่ยว
เขื่อนท่าพระยาสาย พระพิฆเนศ และศาลเจ้าโก้วเล่งจี่ แห่งนราธิวาส
เขื่อนท่าพระยาสาย จุดพักผ่อนสุดชิลของชาวนราธิวาส
เขื่อนท่าพระยาสาย ตั้งอยู่ใน ตำบลกะลุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เป็นบริเวณของสันเขื่อนที่มีความยาว 600 เมตร อยู่ริมแม่น้ำบางนรา ทำให้มีบรรยากาศที่สวยงามของแม่น้ำบางนรา สลับกับแนวทิวสนและภูเขาตันหยง ไปจนถึงบาเละฮิเลในฝั่งตรงข้าม
ในอดีต .. ท่าเทียบเรือพระยาสาย เคยเป็นที่รับเสด็จ ส่งเสด็จของพระยาสายบุรี ชาวบางนราจะเรียกท่าเรือนี้ว่า กาแลรายอสาย (ท่าพระยาสาย)
ท่าพระยาสาย .. เดิมมีสภาพเป็นบริเวณแนวป่าชายเลนริมฝั่งแม่น้ำบางนรา เมื่อบริเวณท่าพระยาสายถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพังเสียหาย นายผัน จันทรปาน ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น ได้ขอสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างเขื่อนกั้นดินพังจากกรมโยธาธิการในวงเงิน ๒๔ ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยได้มีการขุดดินขึ้นมาถมป่าชายเลนไปจนถึงบาเละฮีเล
หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ เขื่อนท่าพระยาสายก็ได้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวนราธิวาส และยังเป็นจุดชมการแข่งขันเรือกอและและเรือยาวประจำปี ในงานของดีเมืองนรา ช่วงเดือนกันยายนของทุกปีอีกด้วย
ลานนกเงือก ริมเขื่อนท่าพระยาสาย .. เป็นแลนด์มาร์ก และจุดเช๊คอินของจังหวัดนราธิวาส ที่มีรูปปั้นนกเงือกกว่า 100 ตัว ไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วบริเวณ
รูปปั้นนกเงือกที่เรียงรายอยู่บนลาน เป็นนกเงือก 10 ชนิดที่พบในผืนป่าฮาลาบาลา จากทั้งหมด 13 ชนิดที่มีในเมืองไทย .. ที่เราชอบคือ ไอเดียของการทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับนกเงือกไว้ด้วย
พระพิฆเนศ เมืองนราธิวาส
พระพิฆเนศเมืองนราธิวาส .. เป็นเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างขวัญกําลังใจให้กับผู้เลื่อมใสศรัทธา ผู้ที่ได้สักการะบูชาถือเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ประติมากรรมพระพิฆเนศ ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ ความเมตตา และความสําเร็จ การสร้างเกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาของชาวนราธิวาส โดยมีลักษณะเป็นเทวรูปประทับนั่งในท่าลลิตาสนะ (ท่านั่งพับขาซ้าย และห้อยขาขวาลงพื้นฐานดอกบัว) สวมศิลาภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) ประดับโมเสกแก้วหลากหลายสี ห่มพัตราภรณ์ ลักษณะนุ่งแบบอินเดีย
มีแท่นประทับอยู่บนดอกบัว ขนาดหน้าตักกว้าง 7 เมตร สูง 16 เมตร มี 4 กร พระหัตถ์ขวาบนถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาล่างแสดงท่าประทานพร พระหัตถ์ซ้ายบนถือศาสตราวุธ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือขนมโมทกะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง
บริเวณที่สร้างเป็นพื้นที่ติดกับศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ เข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ มีประตูเชื่อมถึงกัน จากบริเวณพระพิฆเณศเดินข้ามถนนไปจะเป็นวัดไทยอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของประชาชนต่างศาสนาอย่างสันติ
ศาลเจ้าโก้วเล่งจี่
ศาลเจ้าโก้วเล่งจี่ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง เป็นศาลเจ้าแห่งแรกของชาวจีนในตัว จ.นราธิวาส เดิมเป็นศาลไม้เก่าแก่ อายุประมาณ ๔๐ ปี คนไทยเชื้อสายจีนที่ได้มาอาศัยอยู่ใน จ.นราธิวาส ที่มีความศรัทธาต่อองค์เทพเจ้าจีน จึงได้สร้างศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อประกอบพิธีมงคลต่างๆ และให้ลูกหลานกราบไหว้ขอพรเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ที่แปลกไปจากศาลเจ้าอื่นๆ คือ ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ มีเจ้าที่หรือเจ้าศาล เป็น “หัวมังกรคาบแก้ว” ซึ่งมีลำตัวใหญ่ยาวมาก คอยปกปักรักษาดูแลลูกหลานชาวไทยโดยแต่ละวันจะมีคนมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวขอพรเป็นประจำ
ภายในศาลเจ้าได้จัดจำลองรูปเหมือนองค์เทพเจ้าหลายองค์ อาทิ พระยูไล พระอรหันต์จี้กง เทพเจ้ากวนอู เจ้าพ่อเสือ องค์เห้งเจีย เจ้าแม่กวนอิม
บริเวณฝาผนังมีภาพปูนปั้นที่สวยงามมาก เป็นปูนปั้นองค์เทพเจ้าต่างๆ เป็นการปั้นของช่างชาวจีนในสมัยก่อนโดยไม่ได้ใช้แม่พิมพ์ แต่เป็นการปั้นขึ้นจากจินตนาการของช่าง รวมทั้งเสามังกรปูนปั้น แบบปั้นมือโดยเป็นจินตนาการของช่างซึ่งหาดูได้ยาก ส่วนผนังภายนอกเป็นปูนปั้นบอกเล่าเรื่องราวทางขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมจีน ตามตำนานพงศาวดารจีน มีความวิจิตรสวยงามมาก
โฆษณา