3 ส.ค. 2022 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
โครงการนอร์ดสตรีม อาวุธลับพิชิตยุโรป ของรัสเซีย
หากวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมา แล้วพบว่ารัฐบาลออกคำสั่งให้เราลดการใช้ไฟฟ้าลง
เราจะใช้ชีวิตอย่างไร ?
1
หากเป็นเราคงนึกภาพกันไม่ค่อยออก
แต่เรื่องดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นจริงกับชาวยุโรป ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติพลังงาน
หนึ่งในต้นตอหลักมาจากโครงการท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีม
ซึ่งเป็นโครงการท่อส่งแก๊สธรรมชาติ ระหว่างประเทศในยุโรปกับรัสเซีย
แล้วโครงการนี้ คืออะไร
ทำไมถึงส่งผลกระทบต่อชาวยุโรปทั้งทวีป ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น รัสเซียและยุโรปก็เริ่มเป็นคู่ค้าด้านพลังงานกัน
รัสเซียเป็นประเทศที่มีแก๊สธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก
แถมยังมีการส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดีอาระเบีย
โดยสาเหตุที่สหภาพยุโรปเลือกใช้พลังงานจากรัสเซีย คือ
- รัสเซียมีอาณาเขตติดกับสหภาพยุโรป ทำให้ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง
- การขนส่งจากรัสเซีย มีความปลอดภัยจากการก่อการร้าย มากกว่าส่งมาจากตะวันออกกลาง
2
โดยโครงการท่อส่งแก๊สธรรมชาติแรก ที่ส่งมาจากรัสเซีย คือ ท่อส่งแก๊ส Brotherhood
ซึ่งมีการเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 1967 ปัจจุบันก็ยังเปิดใช้งานอยู่
2
แต่ข้อเสียของโครงการนี้คือ เส้นทางการขนส่งทางบกที่ผ่านหลายประเทศ
ทำให้ค่าขนส่งแก๊สธรรมชาติมีราคาสูง เพราะความยาวของท่อส่งแก๊สนี้ ยาวถึง 4,000 กิโลเมตร
ซึ่งมีระยะทางเทียบเท่ากับการเดินทางจากเหนือจรดใต้ในประเทศไทยแบบไป-กลับ เลยทีเดียว
นั่นจึงทำให้รัสเซียและสหภาพยุโรปมองหาเส้นทาง ในการขนส่งแก๊สธรรมชาติที่มีเส้นทางสั้นกว่า
และก็ได้ข้อสรุปเป็น “โครงการท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีม”
1
ในปี 2005 รัฐบาลรัสเซียได้ทำข้อตกลงกับสหภาพยุโรป เพื่อก่อสร้างโครงการท่อส่งแก๊สธรรมชาติ จากแหล่งผลิตแก๊สธรรมชาติทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย พาดผ่านทะเลบอลติก ไปสู่เยอรมนี
โดยมีทั้งบริษัทพลังงานจากรัสเซีย และชาติอื่น ๆ ในยุโรป
เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการท่อส่งแก๊สนี้ เช่น
- Gazprom บริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย
- Wintershall บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี
- Royal Dutch Shell บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร
1
โดยท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีมนั้น เป็นท่อส่งแก๊สธรรมชาติใต้น้ำ 2 ท่อ ที่มีขนาดความยาวรวม 1,224 กิโลเมตร
การก่อสร้างเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และเยอรมนี เริ่มเปิดใช้ในปี 2011
โดยท่อส่งแก๊สนี้ สามารถส่งแก๊สธรรมชาติเข้าสู่ยุโรป ได้ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
จึงช่วยให้ยุโรปประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา ในการขนส่งแก๊สธรรมชาติได้เป็นอย่างมาก
เพราะแต่เดิมนั้น ยุโรปขนส่งแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียทางบก ผ่านยูเครนและโปแลนด์เท่านั้น
2
มูลค่าการลงทุนทั้งหมดของโครงการนี้ อยู่ที่ 274,000 ล้านบาท
ซึ่งกว่า 70% ของเงินลงทุน มาจากการกู้ยืมธนาคาร
ส่วนอีก 30% มาจากเงินลงทุนของบริษัทผู้ร่วมลงทุนในโครงการนี้
สำนักงานของบริษัทนอร์ดสตรีม
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมืองซูค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โดยมีบริษัท Gazprom เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 51%
และบริษัท Gazprom ก็เป็นบริษัท ที่รัฐบาลรัสเซียเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นว่ารัฐบาลรัสเซีย สามารถควบคุมการส่งแก๊สธรรมชาติ ผ่านท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีมได้
ในขณะที่ บริษัทพลังงานจากยุโรปอย่าง Wintershall และ E.ON ถือหุ้นเพียงบริษัทละ 15% เท่านั้น
โดยโครงการดังกล่าวก็ได้ถูกเรียกว่า โครงการนอร์ดสตรีม 1
เพราะต่อมาในปี 2018 ก็ได้มีการสร้างโครงการนอร์ดสตรีม 2 ขึ้น
ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างใกล้เคียงกับโครงการแรก อยู่ที่ราว 296,000 ล้านบาท
โครงการนอร์ดสตรีม 2 เป็นโครงการท่อส่งแก๊สธรรมชาติ ที่มีเส้นทางคู่ขนานกับโครงการนอร์ดสตรีม 1
ซึ่งสามารถส่งแก๊สธรรมชาติเข้าสู่ยุโรปได้เทียบเท่ากับโครงการก่อนหน้า อยู่ที่ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
โครงการนี้บริหารโดยบริษัทนอร์ดสตรีม 2 ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับโครงการแรก เนื่องจากมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แตกต่างกัน
1
โดยบริษัท Gazprom ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 50%
และบริษัทพลังงานอื่น ๆ ของยุโรป เช่น Wintershall, E.ON, ENGIE, Royal Dutch Shell และ OMV
ถือหุ้นบริษัทละ 10%
อย่างไรก็ตาม โครงการนอร์ดสตรีม 2 ถูกคัดค้านอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรปตอนกลาง เพราะไม่ต้องการให้รัสเซียมีอิทธิพลด้านพลังงาน เหนือประเทศพันธมิตรในยุโรป
บวกกับกลุ่มประเทศยุโรปตอนกลางก็กลัวว่าจะสูญเสียรายได้ จากการเก็บค่าขนส่งแก๊สธรรมชาติที่ผ่านมาทางประเทศของตัวเอง เพราะการขนส่งผ่านท่อนอร์ดสตรีม มีระยะทางที่สั้นกว่าท่อส่งแก๊สทางบกที่ผ่านประเทศเหล่านั้น
2
และในที่สุดท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีม 2 ก็ถูกระงับการใช้งานโดยรัฐบาลเยอรมนี
เพื่อเป็นเครื่องมือในการคว่ำบาตร จากการการรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย
2
รัสเซียพยายามแผ่อิทธิพลด้านพลังงานเหนือชาติอื่น ๆ ในยุโรปมาโดยตลอด
และปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่รัสเซียอยู่ใกล้ชิดกับยุโรป
ส่งผลให้รัสเซียสามารถส่งออกถ่านหิน คิดเป็น 49% แก๊สธรรมชาติ 38% น้ำมันดิบ 25% ของการนำเข้าของสหภาพยุโรปทั้งหมด
5
ล่าสุด รัสเซียจึงปรับลดปริมาณการส่งแก๊สธรรมชาติผ่านโครงการนอร์ดสตรีม 1
เหลือเพียงวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่สามารถส่งได้ 170 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
เพื่อตอบโต้ประเทศยุโรปที่ส่งอาวุธช่วยเหลือยูเครน
7
ส่งผลให้ราคาแก๊สธรรมชาติในยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น 450% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
และได้กลายมาเป็นต้นตอของวิกฤติในยุโรปในตอนนี้
1
นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ต่างได้ออกมาคาดการณ์ว่า ยุโรปอาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากปัญหาวิกฤติพลังงานด้วยเช่นกัน
จึงน่าติดตามว่าท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังไม่คลี่คลายระหว่างรัสเซียและยูเครน
สหภาพยุโรปจะแก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนพลังงานอย่างไร
จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากสงครามที่เกิดขึ้นแล้ว
โครงการระหว่างประเทศที่เคยสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
กลับกลายมาเป็นอาวุธที่กำลังทิ่มแทง ให้ชาวยุโรปเดือดร้อนแบบหลีกเลี่ยงอะไร ไม่ได้เลย..
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา