4 ส.ค. 2022 เวลา 09:33 • ประวัติศาสตร์
ย้อนประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง จีน-ไต้หวัน
เกิดอะไรขึ้นกับสองดินแดนนี้ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน
ช่วงเวลานี้คงไม่มีอะไรที่ร้อนแรงไปกว่าสถานการณ์ระหว่างจีนและไต้หวัน ที่มาถึงจุดที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสองดินแดนที่อยู่ห่างกันเพียงร้อยกว่ากิโลเมตรขั้นกลางด้วยท้องทะเล อาจจะถึงคราวต้องปะทะกันในสักวันหนึ่ง เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ตามนโยบาย “จีนเดียว” หรือ “One China” ซึ่งรวมถึงฮ่องกง และมาเก๊า ที่จีนแผ่นดินใหญ่ยึดถือมาตลอด
หรือจะเป็นไต้หวันที่จะสามารถปลดแอกตัวเองเป็นประเทศอิสระ มีอธิปไตยเป็นของตัวเองที่เฝ้ารอคอยมาอย่างยาวนาน เนื่องจากไต้หวันไม่เคยยอมรับว่าเป็นเพียงมณฑล หรือจังหวัดหนึ่งของจีน และไม่มีวันที่จะยอมรับไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรืออนาคต
ความสัมพันธ์อันแสนจะไม่ลงรอยกันของทั้งสองดินแดนนั้น หากจะให้เข้าใจว่าในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดอะไรขึ้น ถึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน แต่เพียงอยู่คนละแผ่นดินถึงไม่สามารถญาติดีกันได้ Reporter Journey จะสรุปง่ายๆ ให้ได้อ่านกัน
🔵 ประวัติศาสตร์ระหว่างจีนและไต้หวัน
ย้อนกลับไปในช่วงหลายพันปีก่อนหน้า มีการสันนิฐานว่า ผู้ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกๆ บนเกาะไต้หวัน คือชนเผ่าออสโตรนีเซียน ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะอพยพมาจากจีนตอนใต้ในปัจจุบัน
เมื่อล่วงเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์แล้ว เกาะแห่งนี้ปรากฏในบันทึกของชาวจีนเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 239 เมื่อจักรพรรดิส่งกองกําลังสํารวจไปยังพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งนี้เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่รัฐบาลปักกิ่งใช้เพื่อสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนไต้หวันว่าเป็นของจีนมาตลอด
หลังจากตกเป็นอาณานิคมดัตช์ในช่วงสั้นระหว่างปี ค.ศ. 1624-1661 ไต้หวันได้ถูกปกครองโดยราชวงศ์ชิงของจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1683 – 1895
หลังศตวรรษที่ 17 ผู้อพยพจำนวนมากเริ่มอพยพออกจากประเทศจีน เพื่อหนีความวุ่นวายทางการเมืองและความยากลําบากแร้นแค้น โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนจากมณฑลฝูเจี้ยน และชาวจีนแคะซึ่งส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งชาวไต้หวันในปัจจุบันก็สืบเชื่อสายเป็นลูกหลานของผู้อพยพเหล่านี้ และตอนนี้ก็เป็นกลุ่มประชากรกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะ
ในปี 1895 ญี่ปุ่นชนะสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 และรัฐบาลในราชวงศ์ชิงต้องยกไต้หวันให้กับญี่ปุ่น แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยอมจำนนและยกเลิกการควบคุมดินแดนที่ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน (Republic of China) ซึ่งคือชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวัน ก็เป็นหนึ่งในผู้ชนะในสงคราม จึงได้สิทธิ์ปกครองตัวเองด้วยความยินยอมของพันธมิตรสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร ซึ่งนี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ไต้หวันแยกออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
2
แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศจีนและกองทหารของ “เจียง ไคเช็ก” ผู้นําในขณะนั้นพ่ายแพ้แก่กองทัพคอมมิวนิสต์ของ “เหมา เจ๋อตง”
เจียง และพรรคพวกของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง และผู้สนับสนุนของพวกเขาอีกประมาณ 1.5 ล้านคน จึงอพยพหนีไปยังไต้หวันในปี 1949
คนกลุ่มนี้ที่ถูกเรียกว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำการเมืองของไต้หวันเป็นเวลาหลายปี แม้ว่าพวกเขาจะสัดส่วนคิดเป็นเพียง 14% ของประชากรทั้งหมด เจียงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในไต้หวันซึ่งเขาเป็นผู้นําในอีก 25 ปีต่อมา
ตรงจุดนี้จีนพยายามชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์นี้ว่า ไต้หวันเดิมเป็นมณฑลของจีน แต่ชาวไต้หวันก็ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อีกด้านเพื่อโต้แย้งว่า พวกเขาไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐจีนสมัยใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกหลังจากการปฏิวัติในปี 1911 หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้ประธานเหมาในปี 1949
“เจียง ชิงกั๋ว” บุตรชายของเจียง ไคเช็ก ยอมให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหลังจากเข้าขึ้นมามีอำนาจแทนพ่อ เขาเผชิญกับการต่อต้านจากคนในท้องถิ่นที่ไม่พอใจการปกครองแบบเผด็จการและอยู่ภายใต้แรงกดดันจากขบวนการประชาธิปไตยที่กําลังเติบโต
ประธานาธิบดี “ลี เติง-ฮุย” หรือที่รู้จักในนาม "บิดาแห่งประชาธิปไตย" ของไต้หวันเป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่สุดก็เปิดทางให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่งผลให้ “นายเฉิน สุยเปี่ยน” ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคก๊กมินตั๋ง ในปี 2000
🔵 ไต้หวันเคยได้รับการยอมรับเป็นประเทศก่อนถูกสกัด
ความสับสนเกี่ยวกับสถานะของไต้หวันเป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันมายาวนานว่า ตกลงแล้วควรจะรับเป็นประเทศหรือเป็นเพียงแค่มณฑล เพราะไต้หวันมีรัฐธรรมนูญของตัวเอง มีผู้นําที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และกองกําลังที่ประจำการอยู่ประมาณ 300,000 นายในกองทัพ
รัฐบาลไทเปของเจียงถูกเนรเทศในตอนแรกอ้างว่า เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนทั้งหมดซึ่งเขามีตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าสักวันหนึ่งจะต้องกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ให้ได้เพื่อที่จะครอบครองอีกครั้ง ทำให้ได้ที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และได้รับการยอมรับจากหลายประเทศตะวันตกว่าเป็นรัฐบาลไตหวันเป็นรัฐบาลจีนเพียงประเทศเดียว
แต่ในช่วงทศวรรษ 1970 บางประเทศเริ่มโต้แย้งว่ารัฐบาลไทเปไม่สามารถถือเป็นตัวแทนที่แท้จริงของผู้คนหลายร้อยล้านคนที่อาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกต่อไป
จากนั้นในปี 1971 สหประชาชาติได้เปลี่ยนการยอมรับทางการทูตไปยังรัฐบาลปักกิ่ง และรัฐบาลไต้หวันก็ถูกบังคับให้ออกจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในปี 1978 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนก็เริ่มเปิดเศรษฐกิจเช่นกัน ทำให้ทั่วโลกมองเห็นถึงโอกาสในการค้าขายและความจําเป็นในการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่แทน ซึ่งตอนนั้นสหรัฐฯ ก็ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลปักกิ่งอย่างเป็นทางการในปี 1979
ตั้งแต่นั้นมาจำนวนประเทศที่ยอมรับรัฐบาลไต้หวันว่าเป็นประเทศอิสระ และความความสัมพันธ์ทางการทูตได้ลดลงอย่างมากเหลือประมาณ 15 ประเทศ และปัจจุบันเหลือเพียง 13 ประเทศเท่านั้น
ตอนนี้แม้ว่าไต้หวันจะมีลักษณะทางการปกครองเป็นรัฐอิสระและระบบการเมืองที่แตกต่างจากจีน แต่สถานะทางกฎหมายของไต้หวันในฐานะที่เป็นประเทศยังไม่ชัดเจน
🔵 ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนที่ลุ่มๆ ดอนๆ
ไต้หวันและจีนเคยมีความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้นในทศวรรษ 1980 เนื่องจากไต้หวันผ่อนคลายกฎเกี่ยวกับการเดินทางและการลงทุนในประเทศจีน และในปี 1991 ก็ประกาศว่าสงครามกับสาธารณรัฐประชาชนจีนสิ้นสุดลงแล้ว
จีนเสนอทางเลือกที่เรียกว่า "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ซึ่งจีนกล่าวว่าจะยอมให้ไต้หวันมีเอกราชอย่างมีนัยสําคัญหากตกลงที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน ระบบนี้สนับสนุนการกลับมาสู่การเป็นจีนเดียวเหมือนกับฮ่องกงในปี 1997 และลักษณะการปกครองของฮ่องกงที่เคยมีความอิสระกว่าจีน จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนพยายามเพิ่มอิทธิพลของตนในฮ่องกง โดยใช้กำลังทางทหารกวาดล้างผู้ต่อต้านอละกลืนฮ่องกงให้เป็นของจีนโดยสมบูรณ์
ไต้หวันปฏิเสธข้อเสนอนี้ แต่รัฐบาลจีนยืนกรานว่ารัฐบาลไต้หวันผิดกฎหมาย แต่ตัวแทนอย่างไม่เป็นทางการจากจีนและไต้หวันก็ยังคงจัดการเจรจาอย่างจํากัด ไม่เคยมีการเจรจาอย่างเป็นทางการเพราะต่างฝ่ายต่างไม่อยากให้อยู่ภายใต้อำนาจของใคร
จากนั้นในปี 2000 ไต้หวันได้เลือกนายเฉิน สุ่ยเปียนเป็นประธานาธิบดี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากนายเฉินและพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้สนับสนุน "ความเป็นอิสระ" อย่างเปิดเผย
1 ปีหลังจากที่นายเฉินได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2004 จีนได้ผ่านกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนโดยระบุสิทธิของจีนในการใช้ "วิธีการที่ไม่สันติ" กับไต้หวันหากพยายาม "แยกตัว" ออกจากจีน
1
นายเฉินได้ประกาศลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนลงในปี 2008 และหันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกภายนอกมากขึ้น
8 ปีต่อมาในปี 2016 ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของไต้หวัน “ไช่ อิงเหวิน” ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นําพรรค DPP ที่สนับสนุนการมีเอกราขอย่างชัดเจนได้รับเลือกตั้ง
ความตึงเครียดของทั้งสองดินแดนเริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2018 เมื่อรัฐบาลจีนเพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทต่างชาติโดยระบุว่า หากไม่ระบุข้อมูลลงไปว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนบนเว็บไซต์ของพวกเขา ก็ขู่ว่าจะปิดกั้นไม่ให้พวกเข้าไปทำธุรกิจในประเทศจีน
ไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2020 ด้วยคะแนนเสียง 8.2 ล้านเสียงที่ทำลายสถิติครั้งมโหฬาร ซึ่งนี้เป็นการตีความได้นี่เป็นการดูหมิ่นรัฐบาลปักกิ่งอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตอนนั้นเกาะฮ่องกงได้เกิดเห็นเหตุการณ์ความไม่สงบหลายเดือน โดยมีผู้ประท้วงจำนวนมากต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนแผ่นดินใหญ่ และหลายคนในไต้หวันก็จับตามองอย่างใกล้ชิด
ต่อมาในปีนั้น จีนได้ออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ซึ่งถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการยืนยันของรัฐบาลจีนว่าฮ่องกงไม่ใช่พื้นที่ที่สามารถมีเสรีภาพในการการปกครองตัวเองได้อีกต่อไป
🔵 ความเป็นอิสระในไต้หวันเป็นปัญหาต่อจีนมากน้อยเพียงใด?
แม้การเมืองของทั้งปักกิ่งและไทเปจะมีลงรอยกันอีกต่อไป แต่ในด้านเศรษฐกิจทั้งสองดินแดนกลับเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยระหว่างปี 1991 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2021 การลงทุนของไต้หวันในจีนมีมูลค่ารวม 193,500 ล้านดอลลาร์
ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยมีความกังวลว่าเศรษฐกิจของพวกเขาจะขึ้นอยู่กับจีน แต่ก็มีบางส่วนที่เชื่อว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จะทำให้การดำเนินการทางทหารของจีนมีโอกาสน้อยลงที่จะกล้าโจมตี เนื่องจากจะกระทบต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจของจีนเอง
โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จีนจำเป็นต้องพึ่งพาไต้หวันสูงมาก และทั่วโลกก็เช่นกัน เพราะ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC เป็นบริษัทผู้ผลิตชิปประมวลผล ที่จำเป็นต่อการผลิตโทรศัพท์สมาร์ตโฟน แล็ปท็อป นาฬิกา รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำคัญ แม้แต่เครื่องเกมคอนโซล ต่างใช้ชิปคอมพิวเตอร์ที่ผลิตจาก TSMC ของไต้หวันทั้งสิ้น และครองส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกเกินกว่า 65%
ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 2 อย่าง Samsung จากเกาหลีใต้ที่มีส่วนแบ่งเพียง 18% ขณะที่จีนแม้จะมีอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ กลับเป็นประเทศที่ผลิตชิปฯ ได้เองเพียงแค่ 5% ของทั้งตลาดโลกเท่านั้น และโรงงานที่ผลิตยังเป็นของ TSMC ที่เข้าไปตั้งโรงงาน
นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจีนคว่ำบาตรการส่งออกสินค้าไต้หวันถึง 2,000 รายการ แต่เป็นเพียงสินค้าเกษตร อาหาร ขนมขบเคี้ยว และสินค้าอื่นๆ แต่ไม่กล้าแบนการนำเข้าชิปประมวลผล เพราะรู้ว่าหากทำแบบนั้นก็จะกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดในภาพรวมของจีนด้วยนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ความบาดหมางที่เป็นรอยร้าวลึกของจีนและไต้หวันนั้น เป็นสิ่งที่หลายชาติมักมองเป็นเรื่องของพี่น้องทะเลาะกัน แต่จริงๆ แล้วการมีเชื้อสายชาติพันธุ์เดียวกันไม่จำเป็นต้องเป็นญาติพี่น้องกัน และข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อแห่งชาติ ระบุว่า ชาวไต้หวันเกือบ 90% ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นคนจีน โดยเฉพาะคนที่เกิดในยุคหลังปี 1990 และภูมิใจที่เป็นคนไต้หวัน การเรียกเหมารวมคนไต้หวันว่าเป็นคนจีนเป็นสิ่งที่รับไม่ได้
2
แม้ไม่รู้ว่าอนาคตทั้งจีนและไต้หวันจะมีทิศทางไปอย่างไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นก็คงหนีไม่พ้นภาพรวมของโลกทั้งใบที่หลีกเลี่ยงที่จะได้รับผลตามมาเช่นกัน เพราะโลกทุกวันนี้เชื่อมต่อถึงกันหมด ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ทั้งสองดินแดนคือคู่ค้า และพันธมิตรที่สำคัญเช่นกัน
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา