Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2022 เวลา 14:06 • ท่องเที่ยว
วัดชลธาราสิงเห หรือ วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย
วัดชลธาราสิงเห .. ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2416 โดยพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุฒ) อดีตเจ้าอาวาส ในช่วงปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
อาคารสถาปัตยกรรมแต่ละหลังมีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก .. ผสมผสานความเป็นพุทธ มุสลิม และจีน ภูมิทัศน์รอบวัดร่มรื่น เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากเป็นโบราณสถานของชาวไทยพุทธที่รัฐบาลไทยได้หยิบยกเป็นเหตุผลอ้างอิง ในการปกปันเขตแดนในปี 2441 ที่มีผลไม่ให้ดินแดนส่วนนี้ถูกผนวกเข้าในเขตของประเทศมาเลเซีย ทำให้ประเทศไทยไม่สูญเสียเอกราชไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงได้สมญานามว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”
วัดดังกล่าวยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทย ในเขตอำเภอตากใบและใกล้เคียง รวมทั้งชาวมาเลเซีย
ในบริเวณวัดชลธาราสิงเห บรรยากาศโดยทั่วไปเงียบสงบ มีสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาศิลปะฝีมือแบบไทยปักษ์ใต้ เป็นจุดเด่น และงดงามหลายชิ้น
โบราณสถาน/โบราณวัตถุ ภายในวัดชลธาราสิงเห
พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดวัดชลธาราสิงเห หลังนี้ปัจจุบันนี้ไม่ใช่หลังแรกของวัด .. เดิมเคยมีโบสถ์น้ำที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำมาก่อน สำหรับพระอุโบสถหลังนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัดหันหน้าไปทางทิศเหนือสู่แม่น้ําตากใบ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว
พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมบรัตนโกสินทร์สร้างเป็นอาคารทรงไทย โครงสร้างก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องดินเผา หลังคาเป็นชั้นซ้อนทางด้านหน้ามีหลังคาซ้อน ๓ ชั้น มีชายคาปีกนกลดหลั่นกันลงมา มีเสานางเรียงสี่เหลี่ยมไม่มีบัวหัวเสารับเชิงชายเครื่องบน ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีเทวดาคู่หนึ่งถือป้ายที่มีตัวเลข ๒๔๑๖ (ปีที่สร้าง)
ประตูและหน้าต่างก่อเป็นซุ้มมงกุฎ มีกําแพงแก้วและใบเสมาล้อมรอบจํานวน ๘ ซุ้ม มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ขนาด ๔ ห้อง รวมมุขด้านหน้าและด้านหลังเป็น ๖ ห้อง
หลังคาทรงจั่วมีขั้นลดที่ด้านหน้าและด้านหลัง มีลานประทักษิณ รอบอุโบสถมีเสารายรอบรับเชิงชายปีกนก มีประตูทางเข้าด้านหน้า ๓ ประตู ด้านหลัง ๓ ประตู ด้านข้างมีหน้าต่าง ๔ บาน เพดานรองรับความยาวของอุโบสถ ๒ ต้น ขวาง ๓ ต้น
มีลานประทักษินรอบกำแพงแก้วมีซุ้มประตู ใบเสมาปูนปั้นตั้งอยู่ในซุ้ม
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพ่อท่านใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยปิดทองทั้งองค์ ขนาดหน้าตัก กว้าง ๑.๕๐ เมตร สูง ๑.๗๐ เป็นศิลปกรรมแบบพระมอญ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกซุ้มเรือนแก้วทรงสอบสูง ๑.๕ เมตร ตั้งบนฐานชุกชีสูงเป็นฐานปูนปั้นประดับพระจก
จากลักษณะบุษบกสันนิษฐานว่าเป็นพระมอญตามผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยสังคโลกจากประเทศจีน เป็นพระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถสร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๖ พร้อมกับพระอุโบสถ
ภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง 3 ด้าน (ยกเว้นด้านหลังพระประธาน) โดยลักษณะจิตรกรรมเป็นสีฝุ่น เขียนสีตัดกันแรงกล้า สภาพยังสมบูรณ์ดี เขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา เขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม โดยแบ่งเรื่องราวเป็นตอนตามจังหวะช่วงเสา ด้านละ ๔ ช่วง แต่ละช่วงแบ่งออกเป็น ๓ ช่อง ช่องบนสุดเขียนเป็นเทพชุมนุมและอสูร มีเส้นคดกริชคั่นช่องกลางและช่องล่าง
ภาพพุทธประวัติ เริ่มจากมุมด้านทิศใต้มาทางทิศตะวันออก โดยแบ่งฝาผนังในแนวตั้งเป็น 4 ช่องเสา ในแต่ละช่องเสายังแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ บน-กลาง-ล่าง ซึ่งแปลกกว่าที่อื่นๆ
เขียนเริ่มตั้งแต่ตอนลาพระนางยโสธราและราหุลแล้วเรียงลำดับเรื่อง จนถึงตอนประทับรอยพระพุทธบาทด้านหน้าพระประธานมีภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ เป็นภาพขนาดใหญ่ผนังด้านล่างเป็นพื้นที่ว่างมีแต่ภาพมณฑปเหนือเศียรพระ เพดานเขียนลายบนพื้นแดง เริ่มจากมุมด้านทิศใต้มาทางทิศตะวันออก
การเขียนภาพแต่ละตอนแต่ละช่วงจะมีกรอบรูปเป็นลายเครือเถา มีรูปกระหนกเป็นองค์ประกอบ ภาพทุกภาพ เสาทุกต้นเขียนกระหนกลวดลายเล่นสีต่างกัน การใช้เส้นใช้สีและจัดองค์ประกอบต่าง ๆ จะเป็นลักษณะภาพเขียนไทยแบบเก่าที่มีลักษณะเด่นและมีความงดงาม
ลักษณะที่เด่นเป็นพิเศษของภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดชลธาราสิงเห คือการที่จิตรกรได้นําเอาวิถีชีวิตของชาวบ้านท้องถิ่นของภาคใต้ มาสอดแทรกเป็นองค์ประกอบของภาพเขียนในแต่ละตอน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ในวิถีชีวิตตามแง่มุมต่าง ๆ จากศิลปะการเขียนที่ประณีตสวยงามนี้ทําให้จิตรกรรมฝาผนังวัดนี้เป็นหนึ่งในภาาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของภาคใต้
วิหารพระพุทธไสยาสน์
วิหารพระพุทธไสยาสน์ตั้งอยู่บริเวณหน้าเจดีย์บริเวณฐานเจดีย์ทางด้านทิศใต้ เป็นวิหารคลุมพระไสยาสน์มีขนาดกว้าง ๕.๙๐ เมตร ยาว ๙.๙๐ เมตร สร้างโดยพระครูสิทธิสารวิหารวัตรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ภายหลังจากที่สร้างเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ แบบปูนปั้น ต้นพระเศียรไปด้านทิศใต้ พระพักตร์ลงรักปิดทอง มีขนาดความยาว ๗.๔๐ เมตร ความกว้าง ๒ เมตร ที่พื้นหลังพระกรมีอักษรจารึกว่า “พระครู สิทธิสาร วิหาร... พ.ศ. ๒๔๘๔ ม... รัตน พริขวัต” บริเวณฐานและฝาผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีฝาผนังทั้งสี่ด้านมีประตูทางเข้าทางทิศตะวันตก
องค์พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประดับด้วยกระจกสีทองโดยประทับอยู่บนนาค ประดิษฐานอยู่ในคูหาที่ประดับด้วยเครื่องถ้วยยุโรป จีน และ ญี่ปุ่นศาลาธรรม เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะภาคใต้และผสมอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมจีน มีการตกแต่งด้วยใบระกา หางหงส์และปูนปั้น
พลับพลาที่ประทับ
พลับพลาที่ประทับในรัชกาลที่ ๖ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จประพาสวัดชลธาราสิงเห และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาริมแม่น้ำตากใบเป็นที่ประทับ เพื่อสำหรับทอดพระเนตรการแข่งเรือยาวในอดีต ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำสำหรับนักท่องเที่ยว โดยสามารถชมทัศนียภาพรอบของแม่น้ำตากใบ และยังสามารถมองเห็นเกาะยาวของจังหวัดนราธิวาสได้
กุฏิอดีตเจ้าอาวาส
กุฏิอดีตเจ้าอาวาส สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๕ โครงสร้างเป็นอาคาร ไม้ ๒ ชั้นยกพื้นสูง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาซ้อนชั้นบน ๒ ชั้น เดิมมุงกระเบื้องดินเผา ลดลงมามีฝาไม้กั้นโดยรอบแล้วเป็นหลังคาอีกชั้นที่ยื่นออกโดยรอบ
เฉพาะด้านหน้า ทําเป็นมุข ๓ มุข ระหว่างมุขกลางกับมุขซ้าย-ขวา ทําเป็นซุ้มและบันไดขึ้นแคบ ๆ ขึ้นไปเป็นชานก่ออิฐฉาบปูน ทางซ้ายเป็นชานและบ่อน้ำ ซุ้มประตูระหว่างมุขทําเป็น หลังคาซ้อนกัน ๓ ชั้น คล้ายยอดซุ้มมงกุฎ
1
หน้าบันของกุฏิปรากฏจิตรกรรมรูปครุฑ ยุดนาค
ภายในกุฏิมีภาพจิตรกรรมบนเพดานเป็นรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมสิงห์ พระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้าและดวงดารา โดยมีพื้นหลังเป็นภาพนก ผีเสื้อ หงส์และลายดอกไม้ร่วง
เป็นศิลปะปักษ์ใต้ผสมอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีนแปลกตา สีสันแบบพาสเทลสวยงาม
กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ (อาคารพิพิธภัณฑ์วัดชลธาราสิงเห)
กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2498 โดยพระครูสิทธิสารวิหารวัตร .. เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา มีหลังคาซ้อนกันหลายชั้น ตรงยอดหลังคาและปลายมุมหลังคาทำเป็นรูปตัวนาคและหางหงส์
บันไดหน้าเป็นบันไดก่ออิฐถือปูน ยอดหลังคาตกแต่งด้วยปูนปั้นลายเครือเถา ..
ภายในมีภาพวัดฝาผนังเก่าแก่งดงาม เช่น บริเวณหน้าบันเป็นภาพพระพุทธประวัติตอนปรินิพพาน
ภาพถ่ายเก่าแก่ เหนือประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ด้านใน
บานประตูเป็นภาพทวารบาล ฝ้าเพดานตกแต่งด้วยรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์และเหล่าเทวดา
แต่เดิมเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ต่อมากุฏิพังทลายลง ทางวัดจึงสร้างขึ้นใหม่แต่รูปแบบค่อนข้างต่างไปจากเดิม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานวัดชลธาราสิงเหมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัด ส่วนใหญ่จะเป็นศาสนวัตถุ และเครืรองใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา
รูปปั้นจำลองการลงนามในสัญญาการปักปันเขตแดน .. อันเป็นเหตุให้วัดนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย อันทำให้ผืนดืนตรงนี้ยังเป็นของประเทศไทย
กุฏิพระครูวิมลถาปนกิจ
กุฏิพระครูวิมลถาปนกิจ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2482 เป็นกุฏิไม้ยกพื้นสูง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา มีไม้ฉลุประดับหลังคา ตอนหน้าเป็นมุข หลังคามุขประดับช่อฟ้าและหางหงส์ ภายในกุฏิตกแต่งด้วยจิตรกรรมแสดงฝีมือช่างพื้นถิ่นภาคใต้ เช่น รูปพระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้า และพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมราชสีห์ เป็นต้น
หอระฆังจัตุรมุข
หอระฆังจัตุรมุข ตั้งอยู่บริเวณหมู่กฏิสิทธิสารประดิษฐ์ เดิมเป็นหอไตรกลางน้ำ เมื่อชำรุดจึงได้ย้ายมาสร้างบนบกและดัดแปลงกลายเป็นหอระฆัง โดยมีลักษณะเป็นอาคารไม้ สูง 2 ชั้น ยอดมณฑปมุงกระเบื้องดินเผาประดับช่อฟ้าและหางหงส์ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา
หอระฆัง (หอกลอง)
หอระฆัง (หอกลอง) ภายในวัดชลธาราสิงเห มีหอระฆัง 2 หลัง โดยหอระฆังทางด้านตะวันออกของกุฏิเจ้าอาวาสมีลักษณะเป็นหอระฆัง 3 ชั้น หลังทรงมณฑป ฝาผนังหอระฆังชั้นบนเป็นฝาไม้ มีช่องหน้าต่างขนาดเล็ก มีลวดลายประดับคล้ายฝาผนังกุฏิเจ้าอาวาส โดยภายในหอระฆังมีระฆัง 2 ใบ มีจารึกปีที่สร้างใบที่หนึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ส่วนใบที่ ๒ สร้างปี พ.ศ. ๒๕๓๓
เมื่อเดินมาเรื่อยๆตามทางเดิน ... จะมองเห็นศาลาทรงไทยที่สวยมากอยู่หลายหลัง เดาเอาเองว่าคงจะเป็นศาลาเพื่อใช้พักผ่อน หลบร้อน
ภาพด้านบน .. ไม่แน่ใจว่าเป็นหอพระนารยณ์หรือไม่ค่ะ
บันทึก
5
1
4
5
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย