7 ส.ค. 2022 เวลา 05:36 • กีฬา
ลาลีกา กำลังจะเริ่มในสัปดาห์หน้า แต่บาร์เซโลน่ากำลังปวดหัวอย่างหนัก เพราะไม่สามารถลงทะเบียนผู้เล่นได้ถึง 7 คน มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ อุตส่าห์ซื้อมาซะแพง จะใช้ไม่ได้หรือเปล่า ไปไล่เรียงกันตั้งแต่แรก
7 คนที่ลงทะเบียนไม่ได้นั้น 5 คน เป็นผู้เล่นใหม่ ได้แก่ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, ชูลส์ กุนเด้, อันเดรส คริสเตนเซ่น, ราฟินญ่า และ ฟรองค์ เกสซิเยร์ ส่วนอีก 2 คน คือนักเตะที่เซ็นสัญญาฉบับใหม่ ได้แก่ อุสมาน เดมเบเล่ และ เซร์จี้ โรแบร์โต้
1
ปัญหาของเรื่องนี้ มันคืออะไรแน่ เราจะไปลำดับเรื่องราวกันอย่างเข้าใจง่ายที่สุด
ก่อนอื่น เราต้องอธิบายว่า ในลีกยุโรปนั้น ในขณะที่พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา และ เซเรีย อา จะจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะได้แบบไม่มีขีดจำกัด แต่ลาลีกา สเปน จะมีลักษณะเฉพาะ นั่นคือ คือมีกฎ Salary Cap หรือเพดานเงินเดือนค้ำไว้อยู่ ในชื่อภาษาสเปนว่า Limite Salarial
ถ้าเป็นในอเมริกันเกมส์ Salary Cap จะระบุตัวเลขไว้ชัดเจน เช่น อเมริกันฟุตบอล NFL ฤดูกาลที่กำลังจะมาถึง จะถูกกำหนดไว้ที่ 208.2 ล้านดอลลาร์ คือทุกทีมต้องบริหารค่าเหนื่อยของทั้ง Squad ไม่ให้เกินตัวเลขนี้ ที่ NFL กำหนด
1
แต่ Salary Cap ของลาลีกานั้นต่างกัน เพราะทั้ง 20 ทีมในลีกสูงสุด และ 22 ทีมในลีกเซกุนด้า จะมีเพดานเงินเดือนไม่เท่ากัน ส่วนใครจะได้เพดานมากหรือน้อย อยู่ที่ว่า คุณได้กำไรเท่าไหร่ในแต่ละปี
รายรับ หักค่าใช้จ่าย เหลือเท่าไหร่ คุณสามารถเอาเงินก้อนนั้นมาจ่ายค่าเหนื่อยได้ ดังนั้นถ้าสโมสรหาเงินได้เยอะ ก็สามารถมีเพดานค่าเหนื่อยได้สูง
วิธีนี้ลาลีกาเลือกใช้ เพราะไม่อยากให้สโมสรฟุตบอล ลงทุนมือเติบเกินควร เช่นไปกู้หนี้ยืมสิน เอามาจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆ เพราะเดี๋ยวทีมจะล้มละลายเอา
1
หากหาเงินได้เยอะ มีกำไรสวยๆ ก็จ่ายค่าเหนื่อยได้เยอะ ถ้าหาเงินได้น้อย ก็จ่ายค่าเหนื่อยได้น้อย อยู่แบบพอมีพอกิน นี่คือหลักการของลาลีกา
กฎ Salary Cap ถูกใช้ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งทีมใหญ่ๆ อย่างเรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ลอยตัวมาตลอด เนื่องจากเป็นทีมที่สร้างรายได้มหาศาลทุกๆ ปีอยู่แล้ว พวกเขามีฐานแฟนบอลทั่วโลก ดังนั้นกำไรแต่ละปีทะลุ 5-6 ร้อยล้านยูโรสบายๆ
ตัวอย่างเช่น ในฤดูกาล 2019-20 บาร์เซโลน่า มีเพดาน Salary Cap มากถึง 671 ล้านยูโรต่อปี
671 ล้านยูโรมันมากขนาดไหน? ถ้าหากนักเตะในทีมมี 25 คน ต่อให้จ่ายค่าเหนื่อยคนละ 500,000 ยูโรต่อสัปดาห์ ก็ยังไม่เกินเพดานเงินเดือน แสดงให้เห็นว่า ในช่วงนั้นบาร์เซโลน่าร่ำรวยมากขนาดนั้นเลย
แต่อย่างที่ทุกคนทราบ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2020 เกิดโควิดเล่นงานโลกใบนี้ บาร์เซโลน่าได้รับผลกระทบมากที่สุดยิ่งกว่าสโมสรไหน เพราะรายได้หลักมาจากการเข้าชมในสนามคัมป์นู (ที่มีความจุ 98,000 คน) ตั๋วขายไม่ได้ ของที่ระลึกในแมตช์เดย์ขายไม่ได้ เม็ดเงินเหล่านี้หายเกลี้ยง
นั่นทำให้ในฤดูกาล 2020-21 บาร์เซโลน่า มี Salary Cap ลดลงมาเกือบครึ่ง เหลือแค่ 347 ล้านยูโรเท่านั้น
ปีต่อมา สถานการณ์โควิดยังไม่ดี หนี้สินก็มีเยอะทำให้ Salary Cap ในฤดูกาล 2021-22 ลดลงมาอีก 3 เท่า เหลือแค่ 98 ล้านยูโรเท่านั้น
Salary Cap จำนวน 98 ล้านยูโร แปลว่า ถ้าในทีมมีนักเตะ 25 คน หนึ่งคนจะได้ค่าเหนื่อยเฉลี่ยแค่ 75,000 ยูโรต่อสัปดาห์เท่านั้น นั่นคือเหตุผลที่บาร์ซ่าไม่สามารถรั้งลีโอเนล เมสซี่ อยู่กับทีมได้ต่อไปในซัมเมอร์ปีที่แล้ว เพราะเมสซี่ค่าเหนื่อยสูงมาก ถ้าเก็บเมสซี่ไว้ มันยากมาก ที่จะบริหารให้คนอื่นได้ค่าเหนื่อยในระดับที่รับไหว
ต่อให้เมสซี่แสดงความตั้งใจจะลดค่าเหนื่อยลงครึ่งหนึ่งแล้ว มันก็ยังไม่พอ สุดท้าย เมสซี่จึงต้องโดนปล่อยออกไปให้เปแอสเช มันเป็นอะไรที่ช่วยไม่ได้จริงๆ
เดือนมีนาคม 2022 ลาลีกา ออกเอกสารการเงิน แจ้งบาร์เซโลน่าว่า พวกเขามีค่าเหนื่อยทะลุ Salary Cap ในฤดูกาลหน้าไปแล้ว ด้วยตัวเลข "ติดลบ 144 ล้านยูโร"
คำเตือนของลาลีกา แปลว่า บาร์ซ่าต้องทำอย่างไรก็ได้ ในการลดค่าใช้จ่ายลง หรือ เพิ่มรายได้ขึ้น เพื่อให้ตัวเลขติดลบ 144 ล้านยูโรหายไป
ลาลีกา มีข้อเสนอเข้ามาให้บาร์ซ่าพิจารณา คือยอมขายลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดลาลีกา 10% เป็นจำนวน 50 ปี ให้กับบริษัทชื่อ CVC แต่บาร์ซ่าไม่ยอมขาย เพราะ 50 ปี เป็นระยะเวลาที่นานเกินไป อีกอย่าง ทีมอย่างบาร์ซ่าเอาไปแยกขายเองน่าจะทำกำไรได้ดีกว่า สุดท้ายจึงปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าวไป
1
เมื่อปฏิเสธข้อเสนอจาก CVC ทำให้ตัวเลข ติดลบ จาก -144 ล้าน ไม่ลดลง คือนอกจากจะไม่ลดลงแล้ว ยังมีเรื่องต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโดนธนาคารโกลด์แมน แซ็คส์ ร้องขอให้จ่ายหนี้ที่กู้ยืมไปสร้างสนามโยฮันครัฟฟ์ สเตเดี้ยม รวมถึงครบกำหนดเวลา ที่ต้องจ่ายหนี้ให้สโมสรอื่นๆ ที่ค้างค่านักเตะที่เคยซื้อไว้
และ แน่นอน ยังไม่รวมค่าใช้จ่าย ที่พวกเขาลงทุนอย่างหนัก ในการคว้าตัวนักเตะใหม่อีกจำนวนมากเพื่อยกระดับทีมของชาบี เอร์นันเดซให้แกร่งขึ้น โดยซัมเมอร์นี้ บาร์ซ่าเป็นทีมที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในโลก
3
จริงอยู่ว่าบาร์ซ่าลดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่งจากการขายคูตินโญ่ และปล่อยดานี่ อัลเวสไปจากทีม รวมถึงเซ็นสัญญากับ Spotify เป็นเมนสปอนเซอร์ด้วย แต่ว่ากำไรก็ยังไม่พอ ถ้าหากพวกเขาต้องการให้มี Salary Cap มากพอที่จะลงทะเบียนนักเตะใหม่ได้ทุกคน บาร์ซ่าต้องหาเงินอีก "667 ล้านยูโร"
ถ้าหาเงิน 667 ล้านยูโรไม่ทัน บาร์ซ่าจะไม่สามารถลงทะเบียนนักเตะใหม่ ในฤดูกาล 2022-23 ที่กำลังจะมาถึงนี้ได้ พวกเลวานดอฟสกี้, ราฟินญ่า, คริสเตนเซ่น เหล่านี้ก็จะเล่นไม่ได้ว่างั้นเถอะ
1
นั่นคือเหตุผลที่บาร์เซโลน่าต้องใช้ กลยุทธ์คันโยกทางเศรษฐกิจ (Economic Lever) ถึง 2 ครั้งติดๆ กัน
คันโยกแรก คือการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 10% ของสโมสรในลาลีกา เป็นเวลา 25 ปี ให้กับบริษัทชื่อ Sixth Street
ตามด้วยคันโยกที่ 2 คือขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มอีก 15% ให้กับบริษัทเดิม โดยสองคันโยกนี้ จะได้เงิน 667 ล้านยูโรเป๊ะพอดี
ทุกอย่างก็ดูจะราบรื่นดี เพราะบาร์ซ่าก็หาเงิน 667 ล้านยูโรได้แล้ว ดังนั้นก็น่าจะลงทะเบียนนักเตะที่ซื้อมาใหม่ทุกคน บวกกับพวกที่ต่อสัญญาใหม่ ทั้งเดมเบเล่ และ โรแบร์โต้ ด้วย
แต่ที่มันเป็นดราม่า เพราะฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา ออกมาแถลงการณ์ว่า ตัวเลข 667 ล้านยูโร ที่บาร์ซ่าแจ้งว่า ได้รับจากดีลของ Sixth Street ทางลาลีกา จะนับแค่ "517 ล้านยูโรเท่านั้น" ส่วนอีก 150 ล้านยูโร ไม่นับ
1
ทำไมทางลาลีกาถึงไม่นับ? อธิบายคือ หลังจากบาร์ซ่าตัดสินใจขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับ Sixth Street ทั้งสององค์กร (สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า , บริษัท Sixth Street) ได้ร่วมกันตั้งบริษัทลูกชื่อ Logksley Investments SL โดยสองฝ่ายถือหุ้น 50-50
3
จากนั้น บริษัท Logksley Investments SL แจ้งกับลาลีกาว่า ดีล 2 คันโยกเศรษฐกิจ มีราคาทั้งสิ้น "667 ล้านยูโร" แต่ปัญหาคือเมื่อลาลีกาไปจ้างออดิทมาตรวจสอบ ก็พบว่า ตัวเลข 667 นั้น เป็นเงินจากฝั่ง Sixth Street แค่ 517 ล้านยูโร ส่วนอีก 150 ล้านยูโร เป็นเงินของฝั่งบาร์เซโลน่า
3
การที่บริษัท Logksley Investments SL ตัดสินใจยื่นตัวเลข 667 ล้านยูโร เพื่อสับขาหลอกลาลีกา ว่าสโมสรหาเงิน 667 ล้านยูโรได้แล้ว จะได้ลงทะเบียนนักเตะใหม่ได้ซะที ซึ่งทางเตบาส ประธานลาลีกาไม่ยอมรับวิธีการนี้ เขาตัดสินใจนับกำไรแค่ 517 ล้านยูโรเท่านั้น คุณจะทำแบบอัฐยายซื้อขนมยายไม่ได้
2
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือถ้าบาร์เซโลน่าอยากลงทะเบียนนักเตะให้ได้ทุกคน จำเป็นต้องหาเงิน 150 ล้านยูโรให้ทัน ภายในวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคมนี้ เพื่อให้นักเตะได้ลงเล่นเกมแรกของฤดูกาล
แต่ถ้าหาไม่ทันในวันศุกร์นี้ นักเตะก็จะยังลงเล่นไม่ได้ จนกว่าจะหาเงินได้ โดยเดดไลน์คือก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2022 ซึ่งจะเป็นวันลงทะเบียนนักเตะวันสุดท้าย
สรุปแล้ว ทางเลือกของบาร์เซโลน่าตอนนี้ มี 3 ทาง
1) เจรจาทางกฎหมาย ให้ลาลีกา ยอมรับตัวเลข 667 ล้านยูโรให้ได้ ให้ทันก่อนเดดไลน์ แต่ด้วยความสัมพันธ์ของบาร์ซ่า กับ เตบาส ที่มีปัญหากันมาตลอด ตั้งแต่บาร์ซ่าปฏิเสธข้อเสนอจาก CVC จึงเชื่อได้ว่า คงตกลงกันยากมาก
3
2) ปิดดีลคันโยกเศรษฐกิจที่ 3 ให้ได้เร็วที่สุด โดยบาร์ซ่า อนุมัติขายหุ้น 24.5% ของบริษัทลูกที่ชื่อ Barca Studios ให้กับบริษัทชื่อ Socios.com เรียบร้อยแล้ว ได้เงิน 100 ล้านยูโร เหลือแค่ขั้นตอนเอกสาร
1
แต่ด้วยความที่ลาลีกา ต้องการ 150 ล้านยูโร แปลว่าคันโยกที่ 3 ก็ยังไม่พอ บาร์ซ่าต้องเปิดใช้คันโยกที่ 4 คือขายหุ้นของ Barca Studios เพิ่มอีก 24.5% ซึ่งก็จะได้เงินเพิ่มอีก 100 ล้านยูโร
จริงอยู่ถ้าเปิดใช้คันโยก 4 ครั้ง บาร์ซ่าจะมีเงินพอ ที่จะลงทะเบียนนักเตะได้ครบ แต่คุณเอาสินทรัพย์ตัวเองไปขายหมดแม็กซ์แบบนั้น ก็มีการวิจารณ์ว่า ไม่ใช่วิธีที่ดีหรอก
2
3) ขายนักเตะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนตลาดปิด โดยเป้าหมายหลักคือ เฟรงกี้ เดอ ยอง ปัจจุบันค่าเหนื่อยของเดอ ยอง รับแพงที่สุดของสโมสรบาร์เซโลน่า ที่ปีละ 29 ล้านยูโร บวกกับดีลการซื้อขาย ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ค่าตัวก็จะอยู่ในระดับ 70-80 ล้านยูโร แปลว่า การปล่อยเดอ ยองออกไป สโมสรจะมีเงินเพิ่มขึ้น 100 ล้านยูโร แบบนี้ พวกเขาก็ไม่ต้องเปิดใช้คันโยกที่ 4 คือแค่ใช้ 3 คันโยก + ขายเดอ ยอง ก็พอแล้ว
1
บาร์เซโลน่าจำเป็นต้องตัดสินใจว่า จะใช้วิธีไหน เพราะเดดไลน์ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว ถ้าซื้อนักเตะมาซะเยอะแต่ใช้การไม่ได้ มันจะมีความหมายอะไร
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้ว เชื่อว่า บาร์ซ่าหาทางออกได้แน่นอน คุณจะซื้อนักเตะอย่างเลวานดอฟสกี้ หรือ ราฟินญ่าเข้ามา แล้วลงทะเบียนนักเตะไม่ได้เนี่ยนะ ทีมอย่างบาร์ซ่าไม่ตายน้ำตื้นแบบนั้นอยู่แล้ว พวกเขาจัดการได้ ไม่ได้น่าห่วงอะไรขนาดนั้น เพียงแต่จะทันวันศุกร์ที่จะถึงเลยหรือเปล่า ยังตอบไม่ได้
สุดท้ายแล้ว บาร์เซโลน่าจะจัดการแบบไหน เจรจาใต้โต๊ะสำเร็จให้ลาลีกายอมรับตัวเลข 667 ล้าน, เปิดใช้คันโยกที่ 4 หรือ ขายเดอ ยอง พ้นจากทีม เราจะได้เห็นคำตอบที่ชัดเจนจาก โจน ลาปอร์ต้า ในระยะเวลาอันใกล้นี้
โฆษณา