7 ส.ค. 2022 เวลา 15:09 • ศิลปะ & ออกแบบ
#ลายไทย_รู้หมือไร่? : ความแตกต่างระหว่าง ‘คชสีห์’ กับ ‘ทักทอ’
วันที่ 29 ก.ค. 2565 ช่วงวันหยุดยาว เกิดปรากฏการณ์ล้วงคองูเห่า ที่สื่อต่างๆ รายงานว่า รูปปั้น “พญาคชสีห์” (สัญลักษณ์ของกระทรวงกลาโหม) สูง 10 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว ถูกขโมยในเขตทหาร แต่...คล้อยหลังเพียง 1 วัน ข่าวรายงานว่า “จับกุมได้แล้วหนุ่มแสบคลั่งคุณไสยอายุ 38” โดยคนร้ายอ้างว่า ต้องการนำไปทำพิธีสืบชะตาเมือง ช่วยบ้านเมืองที่กำลังแย่ (อืม....จริงรึ?)
จากข่าวนี้ทำให้ผมนึกถึงสัตว์หิมพานต์ 2 ชนิด ที่มีความคล้ายกันมาก และมักทำให้สับสนอยู่เสมอคือ #คชสีห์ กับ #ทักทอ ที่ว่าคล้ายกันคือเป็น #สัตว์หิมพานต์ ที่ผสมกันระหว่างสิงห์กับช้าง โดยลำตัวทั้งหมดเป็นสิงห์ มีเฉพาะส่วนหัวเท่านั้นที่มีงวงและงาแบบช้าง
ภาพ ก.
ภาพ ก. : คือภาพที่ผมหาข้อมูลมาให้ดู เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “คชสีห์” กับ “ทักทอ” ภาพทั้งหมดล้วนเป็นผลงานครูช่างโบราณ ที่มีอายุเกินกว่า 100 ปีทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงภาพที่ 5 “ทักทอ” (อ่านว่า ทัก-กะ-ทอ หรือ ทัก-ทอ ก็ได้) เป็นผลงานของช่างยุคปัจจุบัน
ภาพที่ 1 ภาพคชสีห์ จากจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ (เสาชิงช้า กทม.) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของครูช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ 3 ในผนังด้านนี้วาดรูป #ป่าหิมพานต์ และสัตว์หิมพานต์ หลากหลายชนิด ฝีมืองดงามเป็นเลิศควรค่าแก่การศึกษา
ภาพที่ 3 (ภาพขาว-ดำ) เป็นภาพคชสีห์ลายรดน้ำ ฝีมือครูช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่ผมชวนสังเกตคือภาพคชสีห์ทั้งภาพที่ 1 และภาพที่ 3 หัวจะโหนกนูนสูงขึ้นแบบหัวช้าง ให้ดูเปรียบเทียบกับภาพที่ 4 รูป #กุญชรวารี หรือช้างน้ำ (จากจิตรกรรมฝาผนังฝีมือครูช่างโบราณ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี) การวาดรูปช้างของช่างไทยโบราณ จะวาดให้หัวโหนกนูนสูง จึงทำให้รูปคชสีห์ที่เป็นสัตว์ผสมระหว่างช้างกับสิงห์ จึงมีหัวโหนกนูนสูงแบบเดียวกับช้าง
ภาพที่ 5 ทักทอ ลักษณะโดยรวมไม่ได้แตกต่างจากคชสีห์เลย คือมีลำตัวแบบสิงห์ หัวมีงวงและงาแบบช้าง แต่ที่ต่างกันจริงๆ คือ หัวทักทอจะไม่โหนกนูนสูงแบบหัวช้าง จะเรียบๆ (เหมือนกับหัวของ #ราชสีห์ ในภาพที่ 2) จุดสังเกตอีกอย่างคือ ทั้งคชสีห์และทักทอ จะมีหงอนยาวบนหัว ที่ชี้ไปทางด้านหน้า ต่างจากราชสีห์ (ภาพที่ 2) หงอนยาวบนหัวจะชี้ไปทางด้านหลังหัว (ไปทางท้ายทอย) ไม่ชี้ไปทางด้านหน้า
ภาพ ข.
ภาพ ข. : ผมลากเส้นสีแดงให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “คชสีห์” กับ “ทักทอ” รวมไปถึง “ราชสีห์” ให้เห็นได้ชัดขึ้น จะได้เข้าใจคำอธิบายทั้งหมดได้ง่าย
จริงๆ ในงานไทย ยังมีข้อเปรียบเทียบและเกร็ดน่ารู้ต่างๆ อีกมากมาย ไว้มีโอกาสจะหยิบมาเล่าสลับกับโพสต์อื่นๆ ให้ฟังกันเรื่อยๆ ถือเป็นเรื่องสนุกๆ ประดับความรู้กันนะครับ
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
#ปกิณกะลายไทย #เกร็ดความรู้ลายไทย #งามอย่างไร_อย่างไรเรียกงาม #วิจารณ์ศิลปะในทัศนะจิดตระธานี
ป.ล. บางคนอาจคิดว่า ผมตั้งชื่อหัวข้อเรื่องที่จะเล่า ได้กวนทรีนจริมๆ 555+ ก็...เป็นภาษาวัยรุ่นที่ฟังดูสบายๆ ทำให้เรื่องที่จะคุยกันลดความซีเรียส ลงได้ระดับหนึ่ง
คำว่า #รู้หมือไร่ เป็นการเล่นมุกสลับคำ ผวนมาจากคำว่า “รู้หรือไม่” นั่นแหละ โดยมีที่มาจากเพจ มุกแก๊กกวนประสาท อย่าง #สัตว์โลกอมตีน (คำนี้น่าจะถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) ที่จงใจตั้งเพื่อล้อเลียนเพจ National Geographic Thailand ที่ชอบขึ้นต้นโพสต์ประกอบรูปภาพด้วยคำว่า “รู้หรือไม่?....” ก่อนจะตบท้ายบรรยายด้วยสาระเน้นๆ แบบจุกๆ ซึ่งต่างจากเพจเกรียนสุดติ่งอย่าง “สัตว์โลกอมตีน” อย่างชิ้นเชิง คือไร้สาระสุดๆ หาสาระไม่ได้ เน้นเอาฮาเข้าว่า แต่กลับถูกใจมนุษย์เมืองจอมเครียดเสียนี่
จริงๆ ศัพท์แสลงที่เป็นสำเนียงของวัยรุ่น ก็มีออกมาใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ล่าสุดน่าจะเคยได้ยินคำว่า #เกินปุยมุ้ย (ที่ฟังดูน่ารัก กวนๆ) ก็เพี้ยนมาจากคำว่า “เกินไปมั้ย” นั่นแร
โฆษณา