8 ส.ค. 2022 เวลา 06:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ
SMEs หน่วยสำคัญทางเศรษฐกิจไทย ในวันที่ใกล้ตาย
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้ามายังประเทศไทย SMEs ถือเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่ไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงที่สุด แต่เป็นหน่วยเศรษฐกิจที่มีจำนวนมากที่สุดอย่างแน่นอน ซึ่งการที่ SMEs เป็นหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก นั่นทำให้ความสามารถในการบริหารความเสี่ยง เงินทุน การปรับตัว ที่น้อยกว่าหน่วยธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ SMEs เป็นกลุ่มเปราะบางหากเจอปัญหาทางเศรษฐกิจแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจถึงขั้นต้องพับฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องทุน สภาพคล่อง หรือรายได้
ในทางกลับกันหากมีเทรนด์การทำธุรกิจหรือการผลักดันจากภาครัฐ SMEs ก็พร้อมจะเบ่งบานกลับมาใหม่อยู่เสมอ แสดงถึงความยืดหยุ่นของการเติบโตแบบ SMEs แต่จะดีกว่าหรือไม่หาก SMEs จะเติบโตได้และไม่ล้มหายไปตามปัญหาทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ประกอบกับสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อกันมาแบบโดมิโน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิกฤตอาหาร ปัญหาราคาน้ำมัน รวมถึงปัญหาล่าสุดอย่างภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ซึ่งสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเผชิญกับปัญหาอันหนักหน่วงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องรับมือกับปัญหาเหล่านี้ซึ่งส่งผลกระทบให้ราคาต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้นและสัดส่วนกำไรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องหาทางเอาตัวรอดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเหล่านี้ ซึ่งการจะพยุงและเอาตัวรอดนั้นจำเป็นต้องใช้ “ทุน” นำไปสู่การหันหน้าเข้าหาสถาบันการเงินเพื่อกู้เงินมาเพิ่มสภาพคล่อง ทำให้สามารถมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจของตนไปอีกระยะ
อย่างไรก็ตามการกู้ยืมเงิน แม้จะมีข้อดีในการต่อสภาพคล่องทางการเงิน ให้มีเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นการสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบการเช่นกัน ด้วยเงินต้นที่ต้องจ่ายประกอบกับดอกเบี้ยจากการกู้ยืมที่กำลังจะเป็นขาขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต้องพบกับปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้น และด้วยสาเหตุจากปัญหาหนี้สินที่ตามติดผู้ประกอบการมานั้น ทำให้ผู้ประกอบการขาดเงินทุนในการพลิกฟื้นธุรกิจในระยะยาว รวมถึงไม่มีทุนในการขยายธุรกิจในอนาคต
ที่กล่าวไปในข้างต้นนั้นเป็นเพียงกลุ่ม SMEs ที่โชคดีมีภาพรวมของธุรกิจที่ดูดีมากพอให้สถาบันการเงินมีความเชื่อถือปล่อยเงินกู้ให้มาเสริมสภาพคล่อง แต่ยังมี SMEs จำนวนมากที่ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งอาจจะต้องบอกว่าเป็น SMEs ส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ
เพราะ SMEs จำนวนมากเริ่มต้นมาจากการกู้เงินมาลงทุนแต่แรก บางส่วนก็เพิ่งเริ่มทำธุรกิจได้ไม่นาน การจะทำให้พอร์ตของธุรกิจสวยหรูดูดีจนธนาคารให้ความเชื่อถือก็เป็นไปได้ยาก สุดท้ายเมื่อไม่ได้รับเงินทุนมาต่อชีวิตในช่วยวิกฤตก็ทำให้ SMEs เหล่านั้นต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด
สภาพเงินหมุนเวียนของ SMEs ที่เปราะบางเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของ SMEs ที่มีโอกาสจะล้มได้ไม่ยาก แต่ในอีกมุมหนึ่ง คือ อัตราหมุนของเงินภายในธุรกิจ SMEs จะเร็วกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ การสนับสนุนเงินทุนในจำนวนเท่ากันกับ SMEs จึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า เราจะเห็นนโยบายจาก
พรรคการเมืองหลายพรรคให้ความสำคัญกับรายย่อยไม่ว่าจะเป็นกับธุรกิจรายย่อยหรือบุคคลที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่การใช้นโยบายกับคนหมู่มากการบังคับใช้จะยุ่งยากกว่าและใช้งบประมาณมาก จึงต้องหวังให้นโยบายภาครัฐออกมาและสามารถนำมาใช้ได้จริง
ภาครัฐ จึงถือเป็นหนึ่งในคีย์แมนที่จะเข้ามาช่วยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งต้องเริ่มจากการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ โดยการแก้ไขหนี้สินโดยต้องทำควบคู่ไปกับการเติมทุนใหม่ให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ด้วยเช่นกัน
การเข้ามาช่วยของภาครัฐจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการประคับประคองให้ธุรกิจต่างๆ สามารถอยู่รอดพ้นวิกฤต และมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต หากภาครัฐยังไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยผู้ประกอบการเหล่านี้ ธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ดี มีคุณภาพ และสร้างรายได้กลับเข้ามาให้ประเทศก็จะล้มหายตายจากไปในที่สุด
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา