9 ส.ค. 2022 เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป!! ขั้นตอนการอ่านงบการเงิน
ช่วงนี้จะเป็นช่วงงบไตรมาส 2/2565 ของบริษัทต่างๆ ออกมาให้ได้อ่านกัน ซึ่งปกติงบไตรมาสจะอออกภายใน 45 วัน หลังจากวันที่ปิดงบ ซึ่งงวดงบ 2/2565 ปิดงบเมื่อ 30 มิ.ย. 65 มาลองค่อยๆ อ่านงบการเงินในหุ้นที่เราสนใจกัน โดยโพสนี้ แนะนำวิธีการอ่านงบการเงินที่ออกมานี้กัน
ใครรู้สึกว่างบการเงินอ่านยาก ลองนำขั้นตอนเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะ แล้วจะเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ในงบการเงินมากขึ้น
สรุป!! ขั้นตอนการอ่านงบการเงิน
1. รู้จักบริษัท
การจะอ่านงบการเงิน และตีความหมายที่ซ่อนอยู่ ในตัวเลขเหล่านั้นได้ดีขึ้น เราต้องรู้จักบริษัทที่เรากำลังอ่านงบว่า บริษัททำมาหากินอะไร มีอะไรที่มากระทบกับบริษัทได้บ้าง คู่แข่งเป็นยังไง
ถ้าใครยังไม่รู้จักบริษัทที่เรากำลังจะอ่าน แนะนำให้อ่าน “แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี” จะมีให้โหลดอ่านได้ในเว็บไซต์ของ set ตรงหุ้นที่เราสนใจ ในหัวข้อ "บริษัท/หลักทรัพย์" แต่ถ้าใครรู้จักและเข้าใจบริษัทที่เราจะอ่านงบอยู่แล้ว ก็ข้ามไปขั้นตอนที่ 2 กันได้เลย
2. อ่านรายงานผู้สอบบัญชี
Auditor report ที่เป็นไฟล์ที่อยู่ใน zip file เดียวกับงบการเงินฉบับเต็มนะ ซึ่งรายงานผู้สอบบัญชีจะมี 5 แบบ ถ้าเป็นแบบ “ไม่มีเงื่อนไข” และ “ไม่เงื่อนไขแต่มีข้อสังเกต” แสดงว่างบการเงินจัดทำตามมาตรฐานทางบัญชี สามารถนำข้อมูลงบนั้นไปใช้ได้ และถ้ามี “ข้อสังเกต” ควรอ่านนิดนึงว่าผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตอะไรในรอบบัญชีนั้น เพราะข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีนี้จะเป็นส่วนที่จะกระทบกับงบการเงินได้
ส่วนถ้ารายงานผู้สอบบัญชีเขียนว่า “มีเงื่อนไข” มีข้อมูลทางงบการเงินบางประเด็นไม่ถูกต้องตามหลักบัญชี หรือมีการจำกัดขอบเขตของการสอบทานในบางประเด็น
และถ้าเป็น “ไม่แสดงความเห็น หรือไม่แสดงความเชื่อมั่นต่องบการเงิน” ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตอย่างมาก ในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ไม่สามารถรวบรวมหลักฐานการตรวจทานที่เพียงพอที่จะให้ข้อสรุปได้
หรือ “งบการเงินไม่ถูกต้อง” พบว่าข้อมูลในงบการเงินนั้นไม่ถูกต้องที่ส่งผลต่อภาพรวมในงบการเงินอย่างมาก ซึ่งถ้าเราเห็นแบบนี้ก็ควรเลี่ยงๆ ที่จะอ่านงบการเงินของบริษัทนั้น
ถ้าเป็นงบปี ในรายงานผู้สอบบัญชี จะมีหัวข้อ “ประเด็นสำคัญในการตรวจสอบ” ซึ่งก็จะเป็นเรื่องสำคัญๆ ที่มีผลต่องบการเงินของบริษัทตามลักษณะธุรกิจนั้นๆ ได้
3. อ่านคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ
ซึ่งจะอยู่ตรงหัวข้อ “ข่าว” ในเว็บไซต์ของ set และออกมาพร้อมกับงบการเงินงวดนั้นๆ ตรงส่วนนี้ บริษัทจะชี้แจง อธิบาย และวิเคราะห์ข้อมูลจากงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงวดนั้นว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เวลาที่เราอ่านบทวิเคราะห์ตรงนี้ เราก็จะเห็นศัพท์อยู่ 2 คำ ที่เราควรเข้าใจ คือ QoQ(Quarter on Quarter) เป็นการเทียบผลการดำเนินงานระหว่างไตรมาสต่อไตรมาส คือ เทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อนหน้า เช่น เทียบไตรมาส 2/2565 กับไตรมาส 1/2565
และ YoY (Year on Year) เป็นการเทียบผลการดำเนินงานระหว่างไตรมาสเดียวกันของปีนี้กับปีที่ผ่านมา เช่น เทียบไตรมาส 2/2565 กับไตรมาส 2/2564
ซึ่งการเทียบแบบ QoQ นั้นจะทำให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของผลประกอบการของธุรกิจได้ แต่เนื่องจากธุรกิจบางอย่าง เช่น กลุ่มท่องเที่ยว/ โรงแรม ซึ่งมีผลเรื่อง seasonal (ฤดูกาล) ด้วย บางไตรมาสจะมีนักท่องเทียวมาก (high season) บางช่วงก็นักท่องเที่ยวน้อย (low season) การเทียบ YoY เพื่อให้เห็นผลการดำเนินงาน ตามลักษณะของธุรกิจได้ดีกว่า
การอ่าน “คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ” ทำให้เข้าใจว่ามีเหตุการณ์อะไรที่มากระทบงบการเงินงวดนั้นๆ ช่วยให้เห็นภาพสถานการณ์ที่ผ่านมาของบริษัทได้ชัดเจนขึ้น พร้อมกับแสดงตัวเลขงบการเงินที่สำคัญ
4. ดูสรุปงบการเงิน ที่อยู่ในหน้า “สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน”
จะทำให้เราเห็นภาพรวมงบการเงิน ก่อนที่เราจะเข้าไปดูงบเต็ม และที่นอกจากนั้นในหน้านี้ยังมีอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอัตรากำไรขั้นต้น อัตรากำไรสุทธิ, ROE และยังมีแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงให้ดูด้วย ทั้งอัตราการเปลี่ยนแปลงรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร รวมถึงวงจรเงินสด ก็มีให้ดูในหน้านี้ แนะนำให้อ่านส่วนนี้ก่อนเข้าไปอ่านงบเต็มนะ เข้าใจภาพรวมก่อน เมื่อเข้าไปอ่านรายละเอียดจะง่ายยิ่งขึ้น
5. อ่านงบการเงินฉบับเต็ม
เมื่อเราพอเข้าใจบริษัท ดูแล้วว่างบการเงินเชื่อถือได้ อ่านบทวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ดูภาพรวมของงบการเงินมาแล้ว การอ่านงบการเงินงบการเงินแบบเต็มก็จะง่ายขึ้น งบการเงินฉบับเต็มนี้จะเป็น zip file ที่จะรวมรายงานผู้สอบบัญชี(file word) งบการเงิน(file excel) และหมายเหตุงบการเงิน (file word) สงสัตรงไหนในงบการเงินก็ลองดูเลขหมายเหตุที่เข้าเขียนไว้ แล้วตามไปอ่านต่อในหมายเหตุงบการเงิน (Notes)
ซึ่งในงบการเงินฉบับเต็มนั้นจะมีแสดงเป็น 4 งบการเงินคือ งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกระแสเงินสด และงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#งบการเงิน
#งบดุล
#งบกำไรขาดทุน
#งบกระแสเงินสด
#หุ้น
#อ่านงบการเงินไม่ยาก
โฆษณา