10 ส.ค. 2022 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รายจ่ายเดือน ก.ค.คนไทยยังสูง 1.8 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน
รายจ่ายเดือน ก.ค.ยังสูง 18,061 บาทต่อเดือน ของหลายอย่างยังแพงขึ้น สวนทางเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวเล็กน้อย
ค่าใช้จ่ายเดือน ก.ค.2565 ล่าสุด ของประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 18,061 บาท  โดยยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย หลักพันบาท ต่อเดือน เช่น
- ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโทรศัพท์มือถือ รวมแล้ว 4,350 บาท มีสัดส่วน 24.08% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และเครื่องใช้ในบ้าน  ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3,961 บาท คิดเป็น 21.93% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด
รวมถึง
1.​ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ อยู่ที่ 1,760 บาท (9.74% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด)
2.​ อาหารบริโภคในบ้าน  เดลิเวอรี อยู่ที่ 1,607 บาท (8.90% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด)
3. อาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เคเอฟซี พิซซ่า ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,236 บาท (6.84% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด)
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อ ก.ค. 2565 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 0.16% โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง
ส่งผลให้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง  1.10%
ขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.25% จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ เช่น ผักสด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน
ส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย รวมทั้งอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
ทำให้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น  7.61%
ปัจจัยสำคัญเป็นการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม) และค่าโดยสารสาธารณะ
นอกจากนี้ ราคาสินค้ากลุ่มอาหารยังคงสูงขึ้นโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป
ส่วนในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 8.02% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 13.68% โดยเฉพาะราคาไก่สดและปลาช่อน
กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม 4.34% จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่และไข่เป็ด
กลุ่มผักสด 8.80% จากการสูงขึ้นของราคาพริกสดและต้นหอม
กลุ่มผลไม้สด   0.71% จากการสูงขึ้นของราคาแตงโม ส้มเขียวหวาน และมะละกอสุก
กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร 11.58% จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันพืชและกะปิ
กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  2.73% จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กาแฟผงสำเร็จรูป และน้ำ ปั่นผลไม้/ผัก
กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน  8.71% จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง
กลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน 8.43% จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ผักสด (ถั่วฝักยาว ขิง และมะนาว)และเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น และเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่  2.99%
โฆษณา