10 ส.ค. 2022 เวลา 07:47 • ท่องเที่ยว
อุโมงค์ปิยะมิตร ชมต้นไทรพันปี .. เบตง จังหวัดยะลา
สถานที่บางแห่งแม้เราจะมาบ่อยจนคุ้นเคย แต่หากเปลี่ยนบรรยากาศการเดินทางมา มันก็เป็นการเปลี่ยนอรรถรส ช่วยเพิ่มเสน่ห์สีสันความแปลกใหม่ให้กับการเดินทางได้ไม่น้อย ... วันนี้จึงจะพามาเที่ยวเบตงกันค่ะ
อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย พื้นที่สวนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ทัศนียภาพที่สวยงาม แถมยังมีหมอกให้ชมกันตลอดทั้งปีเฉกเช่นดังคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า .. “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”
“เบตง” ชื่อนี้หมายถึง “ไม้ไผ่” หรือ “ไผ่ตง” ในภาษามลายู (Buluh Betong)
สถานที่ท่องเที่ยวในเบตงแบ่งเป็น 2 โซนหลัก คือ โซน “ในเมือง” กับ “นอกเมือง” ... เราจะไปเที่ยวนอกเมืองกันก่อนนะคะ
อุโมงค์ปิยะมิตร .. สถานที่ประวัติศษสตร์ แล้วชมต้นไทรพันปี
อุโมงค์ปิยะมิตร .. สถานที่ที่เป็นความทรงจำของใครหลาย ๆคน ซึ่งแม้กาลเวลาอาจทำให้ประวัติศาสตร์ของอุโมงค์ปิยะมิตรจืดจางลงไปจากความทรงจำ แต่ร่องรอยของสถานที่แห่งนี้กลับขับเน้นให้ได้ทบทวนถึงอดีต ด้วยความรู้สึกใหม่
ปัจจุบันจึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาตร์ที่ผู้มาเยือนจะได้ย้อนอดีตชมอุโมงค์เก่าแก่ที่อดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 สำหรับเป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมือง และเป็นแหล่งสะสมเสบียง รวมถึงเคยถูกใช้เป็นฐานในการหลบซ่อนตัว ของกลุ่มผู้ขัดแย้งทางการเมืองในคาบสมุทรมาลายาในช่วงของความขัดแย้งในอดีต ..
อุโมงค์ปิยะมิตร .. ตั้งอยู่ที่ บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ปัจจุบันได้รับกานอนุรักษ์ และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ร่องรอยการต่อสู้ และสงครามระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่มีความน่าสนใจให้ศึกษา
ซุ้มประตู .. จากจุดนี้ต้องเดินขึ้นเนินเล็กๆไปราว 50 เมตร
แล้วจะพบกับสวนขนาดเล็ก ที่มีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมให้ได้ไหว้สักการะขอพร
ซุ้มประตูพร้อมป้ายชื่อทางเข้าจุดเริ่มเดินทางเข้าอุโมงค์ .. ในการไปชมอุโมงค์ปิยะมิตร ต้องเดินเท้าเข้าไป ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจะถึงตัวอุโมงค์
เส้นทางเดินค่อนข้างลาดชัน แต่เดินไม่ยากด้วยเส้นทางเดินเป็นเส้นทางบันไดตลอดเส้นทาง ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ และมีทางน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาขนาบไปเกือบตลอดทาง
.. แมกไม้นานาพรรณที่อยู่บริเวณก่อนถึงทางเข้าอุโมงค์นั้น ช่วยพรางอุโมงค์ความยาว 1 กิโลเมตรได้เป็นอย่างดี
ไกด์ของเราเล่าว่า .. อุโมงค์นี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2520 การสร้างใช้กำลังคน 40 – 50 คน ขุดเข้าไปในภูเขา และใช้เวลาเพียง 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ อุโมงค์มีความกว้าง 50-60 ฟุต ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถจุคนได้เกือบ 200 คน มีทางเข้าออกทั้งหมด 9 ทาง เชื่อมต่อถึงกันหมด ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง กระจายไปตามจุดต่างๆ จะเลือกเข้าชมอุโมงค์ไหนและออกตรงจุดไหนก็ได้
.. แต่หากออกที่ทางออกอุโมงค์ ที่ 1 จะเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดสำหรับเดินไปชมต้นไม้พันปีต่อ
ระหว่างทาง มีจุดที่น่าสนใจ ที่เราแวะเข้าไปเก็บภาพมาฝาก
เมื่อเดินมาถึงจุดพักภายนอกอุโมงค์ที่สร้างเหมือนศาลา เจ้าหน้าที่ได้อธิบายเรื่องราวของวิถีความเป็นอยู่ของคนที่เคยอยู่ที่นี่ให้ฟัง ..
ที่น่าสนใจคือ กรรมวิธีของการหุงหาอาหาร โดยที่ควบคุมไม่ให้มีควันลอยขึ้นด้านบน ซึ่งจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามมองเห็น และที่ตั้งของฐานหลบซ้อนทันที
เตาขงเบ้ง ... คืออุปกรณ์ในการประกอบอาหารของคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ในสมัยก่อน ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นให้มีช่องลมปล่อยควันให้ออกไปทิศทางอื่น แล้วมีวิธีควบคุมไม่ให้เกิดเป็นควัน นับว่าเป็นนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมมาก
ด้านหนึ่งภายนอกอุโมงค์ ปัจจุบันได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ สำหรับให้ความรู้นักท่องเที่ยว .. ทำให้ผู้มาเยือนได้รู้เรื่องราวของพรรคคอมนิวนิสต์มลายาได้มากขึ้น
มีสิ่งของที่เคยใช้งานจริงในสมัยนั้น ถูกรวบรวมมาจัดแสดงไว้มากมาย เช่น ภาพถ่ายที่เล่าเรื่องความเป็นมา ที่แสดงถึงเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรค เครื่องใช้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หนังสือและตำราเก่า จักรและเครื่องมือในการตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น
ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ... ตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์
เราเลือกเดินภายในอุโมงค์หมายเลข 1 ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่เดินไม่ไกล ใช้เวลาน้อยที่สุด .. ภายในอุโมงค์มีการติดตั้งไฟฟ้าตลอดแนว มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน อากาศภายในเย็นสบายไม่อึดอัด และไม่ต้องก้มตัว หรือคลาน
ภายในอุโมงค์ถูกแบ่งออกเป็นห้องหรือช่องต่าง ๆ ตามการใช้งาน เช่น ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง เป็นต้น
... มีสถานีวิทยุของ จคม. ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง มีซอกมีมุมให้ลดเลี้ยวลัดเลาะ ด้านบนเป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่มากมายปกคลุม ยากแก่การค้นหาและถูกค้นพบ .. แต่ที่สุดแล้วก็ถูกค้นพบโดยทหารฝ่ายรัฐบาล
.. ตลอดอุโมงค์จะพบเห็นร่องรอยของการดำเนินชีวิตที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น ห้องนอนที่มีเตียงดิน ก่อติดกับผนัง อุปกรณ์ในการสู้รบ และเครื่องไม้เครื่องมือในการเดินป่า รวมทั้งห้องบัญชาการรบ ซึ่งจุคนได้ถึง 200 คน .. เหล่านี้เป็นร่องรอยที่ถูกไว้ และยังคงถูกจารึกเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง ได้ใช้ประโยชน์จากการรำลึกถึงอดีตแห่งการต่อสู้อันเจ็บปวด
เมื่อเดินออกมาภายนอกอุโมงค์ก็จะพบทั้งป่าไม้ และลำธารที่ค่อนข้างสะอาดและสดชื่น ..
รวมถึงจะพบกับต้นไทรยักษ์ที่มีขนาดลำต้นสูงใหญ่มาก .. ชาวบ้านแถวนี้เรียกกันว่า ต้นไม้พันปี วัดโดยรอบได้ 60.8 เมตร สูง 40 เมตร และได้รับการจัดให้เป็น รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี
.. นับเป็นเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการเที่ยวอุโมงค์ปิยะมิตร เป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินที่สำคัญของนักท่องเที่ยวก่อนเดินทางกลับ ทริปเที่ยวชมอุโมงค์ปิยะมิตรของเราได้มาถึงจุดสุดท้ายกันอย่างประทับใจเลยทีเดียว
เรื่องราวของสถานที่อันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ และความน่าสนใจของการก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้กลางป่าลึก .. อุโมงค์ปิยะมิตร จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดที่จะมาเยือน หากได้มีโอกาสมาเที่ยวอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
โฆษณา