10 ส.ค. 2022 เวลา 13:42 • ความคิดเห็น
เมาแล้วขับ....
ไม่เป่าเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์
โทษเล็กน้อยแค่ปรับ ๑ พันบาท....?!
ในยุคโซเชียลมีเดียครองโลก การแพร่ระบาดของ Fake News หรือข่าวที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว
ปัญหาที่น่าวิตกกังวลก็คือว่า บางครั้งเฟคนิวส์ที่มีการเผยแพร่กันทางโซเชียลมีเดียนั้น อาจแฝงไว้ด้วยภยันตรายที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เฟคนิวส์” ที่อำพรางไว้ด้วยข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 411/2565 ยกขึ้นอ้างกันเป็นตุเป็นตะว่า เป็นบรรทัดฐานของการปลดปล่อยบรรดาขี้เมาที่ขับรถยนต์หรือจักรยานยนต์ขณะเมาสุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่น
ฎีกาที่ ๔๑๑/๒๕๖๕ ฉบับย่อสั้นที่นำมาเผยแพร่กันนั้น...มีสาระสำคัญว่า....
“การที่จำเลยไม่ยอมทดสอบว่าเมาสุราหรือไม่ตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่สั่งตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งบัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา ๑๔๒ วรรคสอง....
ความว่าในกรณีเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าที่เห็นว่า ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒)ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันจะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่
ซึ่งหากฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้จะมีส่วนที่ว่าด้วยบทกำหนดโทษในมาตรา ๑๕๔ (๓) โดยระวางโทษ
ปรับครั้งละไม่เกินหนึ่งพันบาท
จึงเห็นได้ว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนี้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่เป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามความหมายของมาตรา ๓๖๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นกฎหมายทั่วไป
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง
ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕”
คำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น ทำให้บรรดาคอสุราและผู้คนทั่วไปจำนวนมากเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปใหญ่โตมาก กล่าวคือ เข้าใจว่าถ้าถูกตำรวจจับกุมขณะเมาแล้วขับ เพียงแต่ไม่ยอมเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ ก็ถูกปรับเพียง 1 พันบาทแล้วจบกัน จะเอาผิดข้อหาอื่นไม่ได้อีก
ความจริงที่ควรเข้าใจให้ถูกต้องก็คือว่า คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๑๑/๒๕๖๕ นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความผิดข้อหาขับรถในขณะมึนเมาสุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่น หากแต่เป็นประเด็นเรื่องการลงโทษผู้กระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาฎีการดังกล่าวข้างต้นระบุชัดเจนว่า.... การที่จำเลยไม่ยอมทดสอบว่าเมาสุราหรือไม่ตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน....เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งบัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา ๑๔๒ วรรคสอง....
ซึ่งมีบทกำหนดโทษในมาตรา ๑๕๔ (๓) โดยระวางโทษปรับครั้งละไม่เกินหนึ่งพันบาท....
การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนี้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่เป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามความหมายของมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นกฎหมายทั่วไป
หลายท่านอาจยังไม่เข้าใจเท่าไรนัก เพราะกรณีนี้มีการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายฉบับกล่าวคือ ความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้วเป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๘ ด้วย
แต่ศาลให้ลงโทษได้แต่เฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรเท่านั้น
กรณีนี้นักกฎหมายทุกคนเข้าใจกันดีครับ หลักการง่ายๆก็คือ การกระทำเพียงกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทศาลจะลงโทษด้วยบทหนักที่สุดเพียงบทเดียว แต่ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว ต้องลงโทษตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนของบรรดาเหยื่อเฟคนิวส์ทั้งหลายก็คือ ไปเข้าใจว่าถ้าเมาแล้วขับแต่ไม่ยอมเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์จะมีความผิดเพียงแค่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวน ซึ่งมีโทษปรับเพียง ๑ พันบาทเท่านั้น
ข้อความจริงที่อาจหลงลืมกันไปก็คือว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๔๒ วรรคสี่บัญญัติสันนิษฐานปิดปากไว้ว่า
“....ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๒)”
โทษของการกระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๒) ก็คือ....”ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่”
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมาแล้วขับแล้วไม่ยอมเป่า...ถูกปรับ 1 พันบาทแน่นอน...แต่ไม่ได้จบกันแค่นั้นนะครับ คุณยังจะต้องรับโทษฐานฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๒) อีกกระทงหนึ่งต่างหาก
ใครหลงเคลิ้มไปตามกระแสโซเชียลมีเดียก็ลองดูได้ครับผม
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ปรึกษาปัญหากฎหมาย โทร. 0860400091
โฆษณา