11 ส.ค. 2022 เวลา 09:00 • ธุรกิจ
“บ้านปะการัง จากเทคโนโลยี 3D Printing ” เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชาติ สร้างประโยชน์ได้เกินคาด
ทช. X คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ x SCG
เราคงเคยได้ยินแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในหลายเมืองทั่วโลก นำเอาสิ่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วอย่าง ตู้รถไฟ ซากรถถัง เครื่องบิน ยางรถยนต์ โครงสร้างคอนกรีตต่าง ๆ ไปจัดวางใต้ท้องทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งฟื้นฟูปะการัง ที่เป็นเสมือนบ้านหลังหนึ่งให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลได้อยู่อาศัย
เหตุผลเพราะเวลานี้ปะการังจริง ๆ ใต้ท้องทะเล เกิดความเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีต้นเหตุมาจากทั้งธรรมชาติและมนุษย์ โดยจากผลการสำรวจในปี 2558 อ่าวไทยมีพื้นที่ปะการัง 148,955 ไร่
ซึ่งมีแนวปะการังเสียหายสูงถึง 78.4% จากทั้งหมด และคาดการณ์ว่าความเสียหายดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แม้รูปแบบการใช้วัสดุเหล่านี้ จะมีผลการวิจัยจากหลายหน่วยงานว่าเป็นสถานที่สำหรับให้สัตว์น้ำมาอยู่อาศัย
แต่…ก็ต้องยอมรับว่าโครงสร้างทางกายภาพก็ยังไม่เหมือนปะการังจริง ๆ
จะดีกว่านี้ไหม หากมีการสร้างบ้านปะการัง ที่มีความกลมกลืนใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่ของปะการังจริงมากที่สุด มีความแข็งแกร่งทนทานต่อคลื่นและกระแสใต้น้ำ
คำถามนี้เองที่ได้จุดประกายทางความคิดให้กับ SCG ในกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง,
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกันพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง หรือ บ้านปะการัง ผ่านโครงการ “รักษ์ทะเล”
บ้านปะการัง คืออะไร ?
แล้วมีความสมจริงเหมือนปะการังจากธรรมชาติ มากน้อยแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
“เทคโนโลยี” กับ “ปะการัง” ฟังดูก็รู้สึกได้ทันทีว่าทั้งสองสิ่งนี้ มันช่างห่างไกลกันเสียเหลือเกิน
แต่ทาง SCG กับพันธมิตรในโครงการ “รักษ์ทะเล” กำลังทำให้มันกลายเป็นเรื่องเดียวกัน
รู้หรือไม่ว่า ระบบนิเวศทางทะเลมีขนาดใหญ่ และซับซ้อนที่สุดในโลก
ปะการัง คือสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่มีความซับซ้อนไม่แพ้กัน
เพราะหากสังเกต จะพบว่า โครงสร้างพื้นผิวด้านนอกของปะการัง จะเป็นหินปูนละเอียดยิบ ที่เกิดจากการสะสมตัวของแร่อะราโกไนต์ โดยพื้นผิวนี้เองก็จะมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ เกาะอาศัยอยู่
ทีนี้การจะทำให้เกิดวัสดุพื้นผิวแข็ง ที่มีความเหมาะสมกับตัวอ่อนของปะการัง สามารถลงเกาะ และเจริญเติบโตได้ จำเป็นต้องพึ่งพา 2 เรื่องหลัก ๆ นั่นคือ เทคโนโลยี และคุณสมบัติของปูนที่มีความเหมาะสมในการทำปะการัง
1
ขอเริ่มในเรื่องเทคโนโลยีก่อน หากใครอยู่ในแวดวงธุรกิจก่อสร้าง
คงเคยได้ยินเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution ของทาง SCG ที่เป็นโซลูชันสร้างภาพ 3 มิติ โดยสามารถขึ้นภาพเสมือนจริง แล้วขึ้นรูปปูนซีเมนต์ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบทำให้ในงานก่อสร้าง ผู้รับเหมาสามารถคำนวณการก่อสร้าง และลดความผิดพลาดในตัวงาน เป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านวัสดุก่อสร้างไปในตัว
โดยเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในงานออกแบบพัฒนา “บ้านปะการัง” ที่ดึงความโดดเด่นทางโครงสร้าง ทั้งแสงและช่องว่าง ลักษณะพื้นผิว ให้เหมาะสมกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังจริง ๆ คุณสมบัติของปูนซีเมนต์ที่นำมาใช้มีค่าความเป็นกรดและด่าง ใกล้เคียงกับค่าของน้ำทะเล เพื่อช่วยย่นระยะเวลา ให้ตัวอ่อนปะการังลงมาเกาะได้มากขึ้น ขณะเดียวกันสามารถเคลื่อนย้าย ขนส่ง และการติดตั้งได้ง่าย
โครงการ “รักษ์ทะเล” ได้นำร่อง ดำเนินการความร่วมมือ นำ“บ้านปะการังไปจัดวางในพื้นที่ต่าง ๆ
เช่น เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต, เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี, เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี, เขาหลัก จังหวัดพังงา และเกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี ตามลำดับ และวางแผนที่จะนำไปวางที่เกาะล้านพัทยา ในเดือนพฤศจิกายนที่ใกล้จะถึงนี้
ตรงนี้เองที่สามารถนำไปต่อยอด ในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมากมาย
เช่น ต้นแบบแหล่งฟื้นฟูปะการังในธรรมชาติ, หรือเป็นแหล่งเพาะปะการังเพื่อการท่องเที่ยว ทดแทนแนวปะการังธรรมชาติ หรือ สวนปะการังใต้น้ำ ลดการรบกวนปะการังในแหล่งธรรมชาติ
 
อย่างนี้คงพอจะเห็นแล้วว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ที่จะกลับมา แต่ยังรวมถึงมนุษย์ทุกชีวิต
เมื่อคิดดี ๆ ก็จะพบว่า สารพัดประโยชน์ที่เกิดขึ้นจาก “บ้านปะการัง”
สอดคล้องกับแนวทางของโลกใบนี้ ที่กำลังมุ่งสู่แนวคิด ESG
ซึ่งก็เป็นวิถีทางธุรกิจของ SCG ที่กำลังขับเคลื่อน
ความร่วมมือของโครงการ “รักษ์ทะเล” เป็นการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ที่นำเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาร่วมมือกันสร้าง “บ้านปะการัง”
โดยได้ระดมทุน ผ่านมูลนิธิ Earth Agenda ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเปิดขอรับการสนับสนุนระดมทุนเพื่อผลิตและจัดวางบ้านปะการัง ซึ่งสามารถร่วมสมทบทุน และติดตามรายละเอียดได้ที่ www.lovethesea.net
พออ่านมาถึงตรงนี้ ก็น่าจะทำให้หลายคนที่เคยมองว่า หากทุกคนร่วมมือกัน นำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญของแต่ละส่วน ผนวกกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ก็สามารถนำมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยโลก เปลี่ยนโลกได้
References
-งานแถลงข่าวโครงการ “รักษ์ทะเล”
โฆษณา