11 ส.ค. 2022 เวลา 09:01 • ท่องเที่ยว
ชิลล์ ชิลล์ กินเที่ยวในเบตง
ตัวอำเภอเบตงตั้งอยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะที่มีขุนเขาแวดล้อม ตัวเมืองเบตง (เขตเมืองเก่า) เป็นตัวเมืองเล็ก ๆ แต่จัดอยู่ในประเภทเมืองที่มีวิถีสีสัน และมีสิ่งน่าสนใจให้เที่ยวกันเ
เบตงวันนี้ .. เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวฮอตฮิตของดินแดนด้ามขวาน ช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลย์เดินทางมาเยือนเบตงกันอย่างคึกคัก ด้วยการเดินทางสะดวกมากขึ้น จากการที่มีเครื่องบินบินตรงมาลง และมีการเปิดด่านชายแดน
แถมที่เที่ยวส่วนใหญ่ในตัวเมืองเบตงจะอยู่ไม่ไกลกัน นำโดยบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา ที่มี “หอนาฬิกาเบตง” ตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
หอนาฬิกาเบตงนอกจากจะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของเมืองเบตงแล้ว ยังเป็นย่านศูนย์กลางการค้าขายทั้งกลางวัน-กลางคืน และศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองเบตงอีกด้วย
สำหรับบริเวณตั้งแต่หอนาฬิกา ตู้ไปรษณีย์ เรื่อยมาลอดผ่านอุโมงค์เบตงฯ มาทะลุทางฝั่งเมืองใหม่ เราสามารถเดินทอดน่องเที่ยวชิลล์ ๆ ถ่ายรูปเช็กอินตามจุดต่าง ๆ ได้อย่างสบาย ถือเป็นการเดินทัวร์เมืองเล็ก ๆ แต่น่ารัก และมากไปด้วยเสน่ห์ที่น่ารื่นรมย์ทีเดียว
พระพุทธธรรมกายมงคลปยุรเกศานนท์สุพพิธาน
วัดพุทธาธิวาส .. เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของเมืองเบตง ภายในวัดมีการสร้างสิ่งต่าง ๆ ไล่เรียงไปตามระดับของเนินเขา
Credit ภาพจาก Internet
เริ่มตั้งแต่ “พระพุทธธรรมกายมงคลปยุรเกศานนท์สุพพิธาน” ที่ตั้งอยู่ริมถนนโดดเด่น เป็นพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูง 14.29 เมตร ขนาดหน้าตัก กว้าง 9.99 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเบตง
จากองค์พระใหญ่เดินไล่ไต่ขึ้นไปตามเนินเขาจะเป็นส่วนของโบสถ์ “วิหารหลวงปู่ทวด” (เหยียบน้ำทะเลจืด) และ “วิหารพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” ที่อยู่ในระนาบเดียวกันให้สักการะบูชา
จากนั้นเดินบันไดสูงไปอีกจะเป็นที่ตั้งของ “พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ” ที่ชื่อมีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงประกาศเป็นชื่อ
” เจดีย์องค์นี้มีสีทองอร่าม สร้างด้วยศิลปะศรีวิชัยประยุกต์อันสวยงามสมส่วน และใหญ่ที่สุดในภาคใต้ กว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร
ภายในองค์พระธาตุเจดีย์มี 3 ชั้น ชั้นล่างประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ชั้น 2 ประดิษฐานพระพุทธรูป “พระพุทธธรรมประกาศ” ส่วนชั้น 3 ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
มื้ออร่อยที่ร้านอาหารต้าเหยิน เบตง
เบตง เป็นเมืองท้องถิ่นเล็กๆ ในแดนใต้ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนทำมาหากินและตั้งรกรากที่นี่อยู่มาก .. อาหารการกินที่เลื่องชื่อเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจึงเป็น อาหารจีน
ร้านอาหารต้าเหยิน .. มีเมนูดังเมนูเด็ดที่ชวนให้นักท่องเที่ยงพากันคิดถึง อาหารถิ่นเมืองเบตง ซึ่งบางเมนูก็อาจจะมีความหมายพิเศษ เช่น .. ลูกชิ้นแคะน้ำแดง (หมายถึง สมบูรณ์พูนสุข) .. เต้าหู้น้ำแดง (หมายถึง ความร่ำรวย) .. เคาหยก (หมายถึงความมั่งคั่งสมบูรณ์) .. ซี่โครงสวรรค์ (หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์).. หมี่เบตงผัดแห้ง (หมายถึง อายุมั่นขวัญยืน) .. ลูกชิ้นกุ้งน้ำแดง (หมายถึง ยศ ตำแหน่ง) .. หน่อไม้ทะเลเจี๋ยน (หมายถึง ความร่ำรวย มีเงินมีทอง) .. ไก่เบตงต้าเหยิน (หมายถึง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน)
อาหารอร่อยทุกเมนู .. เมื่อิ่มอร่อยแล้ว เราจะเดินเล่นในเมืองกันนะคะ
หอนาฬิกาเบตง สัญลักษณ์สำคัญที่อยู่คู่เบตงมาช้านาน
หอนาฬิกาเบตง ตั้งอยู่เป็นวงเวียนกลางจุดตัดระหว่างถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ เป็นสถาปัตยกรรม หินอ่อนสีขาวนวลในสไตล์ไทยผสมจีน มีรูปทรงสมส่วนดูสวยงามคลาสสิก
ในช่วงเดือน ก.ย.-มี.ค. ของทุก ๆ ปี จะมี “นกนางแอ่น” หนีหนาวจากไซบีเรียมายังเบตง พอตกเย็นไปถึงค่ำเจ้านกพวกนี้มันจะมาเกาะเรียงรายบนสายไฟ รอบข้างด้านบนหอนาฬิกา พร้อมส่งเสียงร้องเซ็งแซ่
ตู้ไปรษณีย์สีแดงสูง-ใหญ่ ในตำนาน
เบตงโด่งดังมากในเรื่องของ “ตู้ไปรษณีย์สูง-ใหญ่” คลาสสิคตู้แรกนี้เป็นต้นฉบับของ “ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยตู้แรกตั้งอยู่ใจกลางเมือง มุมถนนสุขยางค์ บริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา มีอายุกว่า 80 ปี สูง 3.2 เมตร
... สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 โดยนาย “สงวน จารุจินดา” อดีตนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอเบตง เพื่อสื่อสัญลักษณ์ว่า เบตงในอดีตการเดินทางติดต่อสื่อสารไปยังเมืองอื่นๆเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก ... การส่งจดหมายสื่อสารถึงกันนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในตอนนั้น จนมีผู้คนส่งจดหมายส่งโปสการ์ดกันเป็นจำนวนมาก
นายสงวน จิระจินดา นายกเทศมนตรีตำบลเบตงในขณะนั้น ที่มีความผูกพันกับตู้ไปรษณีย์ไม่น้อยเนื่องจากเคยเป็นนายไปรษณีย์มาก่อน ได้จัดสร้างตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการสื่อสารที่ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงไปโดยปริยาย เป็นสถานที่ที่ใครมาเบตง ก็ต้องไปเช็กอินที่ตู้ไปรษณีย์แห่งนี้เป็นที่ระลึกกัน
ตู้ไปรษณีย์ที่สี่แยก .. เคยเป็น “ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ที่ใช้งานได้จริง มีความสูง ราว 2.9 เมตร ถ้ารวมฐานจะสูง 3.2 เมตร (ปัจจุบันเบตงมีตู้ไปรษณีย์ใหญ่ยักษ์กว่าสร้างขึ้นภายหลัง ตั้งอยู่หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งใหญ่กว่าเดิมถึง 3 เท่า)
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์โฉมใหม่
“อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์” .. ตั้งอยู่ใกล้ๆหอนาฬิกา ภายในอุโมงค์ติดไฟสว่าง พร้อมตกแต่งด้วยงานอะลูมิเนียมฉลุลาย ทำเป็นรูปสัญลักษณ์และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของเบตง ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินคู่เมืองเบตงที่ไม่ควรพลาด
สร้างขึ้นเพื่อให้รถยนต์วิ่งลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย มีความยาว 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร เชื่อมต่อระหว่างชุมชนเมืองเก่าเบตงกับชุมชนเมืองใหม่หมู่บ้านแกรนด์วิว
ประติมากรรม “ไก่เบตง” สัญลักษณ์ความอร่อยคู่เบตง
เมื่อนั่งรถหรือเดินลอดอุโมงค์จากฝั่งหอนาฬิกาไปทะลุฝั่งเมืองใหม่แกรนด์วิว จะพบกับ “สวนสาธารณะเทศบาลตำบลเบตง” หรือ “สวนสุดสยาม” ที่มีพื้นที่กว้างขวาง บริเวณด้านหน้าสวนมีประติมากรรม “ไก่เบตง” ตัวอวบยืนอวดโฉม ใกล้ ๆ กัน เป็นป้าย “เบตง ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”
พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง
ถัดจากรูปปั้นไก่เบตงขึ้นไป เป็น “สนามกีฬาเบตง” และ “พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง” ที่ตั้งอยู่บนเขา สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ในสไตล์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์ ตัวอาคารมี 3 ชั้น ส่วนหลังคาสร้างซ้อนหลายชั้นลดหลั่นกันไป
ภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะเป็นสถานที่จัดแสดงศิลปะวัตถุ และข้อมูลบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองเบตงแล้ว ที่ชั้น 3 ยังมีหอคอยชมวิว ซึ่งสามารถมองลงมาเห็นเมืองเบตงได้อย่างสวยงามกว้างไกล โดยเฉพาะมุมมองต่อบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา
Credit ภาพ : Internet
สตรีทอาร์ตมีชีวิต
“สตรีทอาร์เมืองเบตง” เป็นสีสันที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเช็กอินกันไม่รู้เบื่อ ..เริ่มต้นวาดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เนื่องในโอกาสงานฉลอง 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง โดยการนำเอาวิถีวัฒนธรรมของชาวเบตง .. ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวเบตงที่ผสมผสานอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนสงบงาม .. สถานที่ท่องเที่ยว อาหารการกิน และอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของเมืองเบตงมานำเสนอผ่านงานศิลปะได้อย่างสวยงาม
Credit ภาพ : Internet
ต่อมาในช่วงปี 2563 ก็ได้มีโครงการ “ATM Spray X Betong Street Art” ที่เป็นการรวมศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตระดับแนวหน้าของประเทศไทยกว่า 30 ชีวิต มาร่วมสร้างสีสันบนผนังอาคารใจกลางเมืองเบตง
จากนั้นก็ภาพศิลปะบนผนังเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวอันโดดเด่นของเบตงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวันนี้ภาพสตรีทอาร์ตเมืองเบตงก็ยังคงมีการวาดเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ ตามพื้นที่ว่างต่าง ๆ
โฆษณา