14 ส.ค. 2022 เวลา 21:27 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิดอัตราดอกเบี้ย ‘สินเชื่อ-เงินฝาก’ 10ธนาคารพาณิชย์ก่อนปรับดอกเบี้ย
เปิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เงินกู้ 10ธนาคารพาณิชย์ หลังกนง.ปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% เป็น 0.75% จับตาแบงก์พาณิชย์ขยับดอกเบี้ยเงินกู้ “รายใหญ่”กลุ่มแรก ขณะที่รายย่อย ยังเปราะบางสูง แบงก์อาจตรึงดอกเบี้ยยาวช่วยลูกหนี้
ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เพิ่งปรับ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย”ไปหมาด ด้วยเสียง 6 ต่อ 1 เสียงให้ปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% เป็น 0.75% จากระดับ 0.50% หลังภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จากการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวได้ปกติ
อีกทั้งการปรับดอกเบี้ยของกนง.ครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญ เพื่อต้องการคุมการคาดการณ์ “เงินเฟ้อ”ไม่ให้ไปไกล สะท้อนหน้าที่หลักของธนาคารกลาง ในการคุมเสถียรภาพด้านราคา การดูแลเงินเฟ้อ ควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจ และระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ
ซึ่งหากเป็นภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์ จะปรับขึ้น “ดอกเบี้ย”ทันทีหลังกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในวันเดียวกัน หรือวันถัดไป สอดรับกับกระดานดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยสินเชื่อ แต่ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า อยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ เพราะวันนี้ มีประชาชนค่อนประเทศ ที่ยังลำบาก และมีกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ที่อ่อนไหวต่อต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
โดย “ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีการคาดการณ์ว่า การ “ส่งผ่าน”ดอกเบี้ยครั้งนี้ไปสู่ธนาคารพาณิชย์ อาจทำได้ไม่มากนัก แต่อาจเห็นการส่งผ่านบ้าง แต่ไม่ใช่ 1ต่อ1 ซึ่งหากเทียบกับภาวะปกติ ที่มักจะเห็นการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายราว 50% หากเทียบกับ การปรับดอกเบี้ยของกนง.ทั้งหมด
ล่าสุด ก็ยังไม่เห็น “ธนาคารพาณิชย์” ปรับดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อาจเป็นไปได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่รอดูท่าที จาก 4แบงก์ใหญ่
คือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY)ธนาคารกรุงไทย(KTB) ก่อนขยับดอกเบี้ยตาม
 แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการปรับดอกเบี้ยตามกนง.โดยทันที
แต่เริ่มเห็น “ธนาคารพาณิชย์”มีการออกมาตรการช่วยช่วยเหลือลูกหนี้ออกมาเพิ่มเติมเช่น ธนาคารกสิกรไทย ที่ออกมาลดลดอัตราผ่อนสินเชื่อลง 10% สำหรับธุรกิจ ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ก็ได้เร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มผ่านทุกมาตรการที่มีอยู่ เพื่อหวังเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤติ จากความเปราะบางด้านรายได้ที่ยังคงมีต่อเนื่อง
ทั้งนี้หากสำรวจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ในปัจจุบัน พบว่าใกล้เคียงกันทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
โดยเริ่มต้นที่เงินฝากออมทรัพย์ ที่เป็นบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ที่โดยรวม คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ทั้ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรี ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) ธนาคารทิสโก้(TISCO) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH BANK)
ยกเว้น ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต(TTB) ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออทรัพย์ที่ 0.125% และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT)ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ 0.20%
ด้าน “ดอกเบี้ยเงินกู้” พบว่าส่วนใหญ่แตกต่างกัน ทั้งอัตราดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดี(MLR) ดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดีเบิกเกินบัญชี(MOR) และดอกเบี้ยรายย่อย(MRR)
เริ่มต้นที่ดอกเบี้ย MLR โดยแบงก์ที่ให้อัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำที่สุด คือ ไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ให้ดอกเบี้ยเท่ากันที่ 5.25% ถัดมาคือ กสิกรไทย 5.47% และกรุงศรี 5.58%
ส่วนทีเอ็มบีธนชาต  คิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.125% และ ซีไอเอ็มบีไทย 6.35% ,ทิสโก้ 6.45% ,เกียรตินาคินภัทร คิดดอกเบี้ยสินเชื่ออยู่ที่ 6.525% และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่ 6.625% 
      ถัดมาคือ ดอกเบี้ย MOR ส่วนใหญ่แบงก์ใหญ่ดอกเบี้ยใกล้กัน ทั้งไทยพาณิชย์ 5.84% กรุงเทพ 5.87% กสิกรไทย 5.84% กรุงไทย 5.82% กรุงศรี 5.95%
ขณะที่แบงก์ขนาดกลาง และแบงก์ขนาดเล็ก ดอกเบี้ย MOR เริ่มสูงขึ้น โดยทีเอ็มบีธนชาต 6.15% เกียรตินาคินภัทร และทิสโก้ 6.45% ขณะที่ซีไอเอ็มบีไทย 6.85% และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 7.25%
สุดท้าย ดอกเบี้ยรายย่อย MRR โดย 3 แบงก์ใหญ่ ให้ดอกเบี้ยใกล้เคียงกัน ไทยพาณิชย์ที่ 5.995% กรุงเทพ 5.95% กสิกร 5.97%
ขณะที่กรุงไทย 6.22% กรุงศรี 6.05% ทีเอ็มบีธนชาต 6.28% เกียรตินาคินภัทร 6.65% ทิสโก้ 6.725% และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และซีไอเอ็มบีไทยที่ 7.35% 
       ดังนั้นหลังจากนี้ คงต้อง “จับตา”ว่า ธนาคารพาณิชย์ จะเริ่มทยอยออกมา ขยับดอกเบี้ยหรือไม่ หรืออาจเห็นการขยับดอกเบี้ยเฉพาะบางกลุ่ม เช่นสินเชื่อรายใหญ่ เพราะจากที่ผ่านมา หลายธนาคารมีการให้ดอกเบี้ยบนต้นทุนถูกเกินจริง ที่อาจเห็นกลุ่มนี้ ถูกปรับดอกเบี้ยขึ้นกลุ่มแรกๆ
มมม ซึ่งต่างกับดอกเบี้ยรายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มส่งสัญญาณว่าอาจ “ตรึง”ดอกเบี้ย เพื่อช่วยลูกหนี้รายย่อย ที่ยังเผชิญกับความเปราะบางด้านรายได้ จากวิกฤติโควิด-19 ค่อนข้างมาก
โฆษณา