19 ส.ค. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
อิสราเอล ตลาดสุดหิน ของ KFC
KFC คือแบรนด์ฟาสต์ฟูดระดับโลก ที่มีสาขากว่า 25,000 สาขา ใน 145 ประเทศ
เป็นหนึ่งในเชนร้านอาหาร ที่มีสาขาเยอะที่สุดในโลก
ไม่ว่าแบรนด์นี้ จะไปทำธุรกิจที่ประเทศไหน
เราก็มักจะเห็นว่าแบรนด์นี้ กลายมาเป็นที่นิยมแทบทั้งนั้น
แต่จริง ๆ แล้ว KFC ไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกประเทศ
และหนึ่งในประเทศที่บริษัทล้มเหลว ก็คือ “อิสราเอล”
อิสราเอล ถือเป็นหนึ่งประเทศที่ปราบเซียน เหล่าเชนฟาสต์ฟูดแบรนด์ดัง ๆ อย่าง Subway, Dunkin’ และ KFC
1
ที่น่าสนใจก็คือ KFC พยายามเจาะตลาดฟาสต์ฟูดในประเทศอิสราเอลถึง 3 ครั้ง
แต่กลับต้องคว้าน้ำเหลวทุก ๆ ครั้งที่พยายาม
ความน่าสนใจของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปเคสนี้ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ครั้งแรก ​KFC เริ่มต้นด้วยการเปิดสาขาแรก ในเมืองเทลอาวีฟ ในช่วงทศวรรษ 1980s
แต่หลังจากเปิดร้านได้ไม่นาน KFC ก็ปิดตัวลง เพราะกระแสตอบรับไม่ค่อยดี
KFC กลับมาให้บริการที่อิสราเอลอีกครั้ง ในปี 1993
แต่สุดท้ายแล้ว KFC ก็ต้องปิดตัวลงอีกครั้ง..
แล้วอะไรคือเหตุผลเบื้องหลัง ที่ทำให้ KFC ต้องปิดตัวลงถึง 2 ครั้ง ?
ปัญหาหลัก ๆ ที่ KFC เจอ คือ “วัฒนธรรมการกิน” ของชาวอิสราเอล
แม้ว่าชาวอิสราเอล จะเน้นการบริโภคเนื้อไก่เป็นหลัก
แต่ประเด็นคือ มันมีเมนูยอดนิยมของพวกเขาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเมนูไก่ทอด ที่ชื่อว่า Schnitzel
อีกทั้งชาวอิสราเอล ยังให้ความสำคัญกับการทานอาหารพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว และใช้เวลาร่วมกันบนโต๊ะอาหาร
จึงทำให้ร้านอาหารสไตล์ฟาสต์ฟูด ที่เน้นความรวดเร็ว รีบกินรีบไป อย่างเช่น KFC ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของชาวอิสราเอล
อีกประเด็นคือ ประชากรกว่า 70% ของอิสราเอล เป็นชาวยิว ที่กินอาหารตามหลัก “Kosher” (อ่านว่า โค-เชอร์)
ซึ่งมีที่มาจากภาษาฮีบรู ที่แปลว่า สะอาด, เหมาะสม หรือเป็นที่ยอมรับ
หลักการกินอาหารแบบ Kosher นั้น มีข้อกำหนดต่าง ๆ มากมาย เช่น
- ขั้นตอนการแปรรูปเนื้อสัตว์ ที่ซับซ้อนกว่าปกติ เช่น
เนื้อสัตว์ที่กินได้ ต้องเป็นสัตว์ที่มีเท้าเป็นกีบ และเคี้ยวเอื้อง
- สัตว์ปีกที่กินได้ คือ ไก่ เป็ด ห่าน และไก่งวง
และมีข้อห้ามสำคัญ คือ ห้ามทานผลิตภัณฑ์นม พร้อมกับเนื้อสัตว์
ซึ่งด้วยข้อห้ามนี้เอง ที่ทำให้ KFC ต้องตกที่นั่งลำบาก
เพราะสูตรลับไก่ทอดของ KFC มีส่วนผสมสำคัญคือ นมผง ที่จะทำให้ตัวแป้งกรอบและหอมมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังส่งผลต่อรสสัมผัสของเนื้อไก่ ที่จะนุ่มละมุนมากกว่าเดิม
1
KFC กลับมาอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 ด้วยการเปลี่ยนผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ และแก้เกมครั้งสำคัญอย่างการปรุงอาหารตามหลัก Kosher
ด้วยการเปลี่ยนวัตถุดิบสำคัญอย่างนมผงให้เป็น ผงถั่วเหลืองแทน และใช้เนื้อไก่ที่แปรรูปตามหลัก Kosher
แต่เรื่องกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะการเปลี่ยนวัตถุดิบหลักอย่างหัวนมผง
ทำให้รสชาติไก่ทอดที่ออกมาไม่อร่อยเหมือนเดิม อีกทั้งตัวแป้งทอดกรอบก็ไม่จับตัวกับเนื้อไก่
กลายเป็นว่า แม้จะทำถูกหลัก Kosher แล้ว แต่ก็แลกมากับการได้สูตรไก่ทอดที่อร่อยน้อยลง
อีกทั้งเนื้อไก่ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแบบ Kosher ยังมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเนื้อไก่ปกติ ซึ่งก็ส่งผลให้ต้นทุนการทำอาหารของ KFC สูงขึ้นอีก และคุ้มทุนยาก
1
สุดท้าย ก็ทำให้ KFC ต้องปิดตัวทั้ง 10 สาขา ในอิสราเอลลง เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2012
หากเป็นเชนฟาสต์ฟูดแบรนด์อื่น ๆ คงไม่เลือกที่จะกลับไปบุกตลาดอิสราเอลอีกแล้ว
แต่ KFC กลับมาเปิดสาขาในอิสราเอล เป็นครั้งที่ 4
คราวนี้ Yum! Brands เจ้าของแฟรนไชส์ KFC เลือกที่จะบุกตลาดด้วยตัวเองในปี 2020
จากที่ก่อนหน้านี้เป็นลักษณะให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับบริษัทท้องถิ่น
ซึ่งพวกเขาก็ทำการบ้านมาอย่างดี และปรับสูตรให้ตอบโจทย์ลูกค้าในอิสราเอลมากที่สุด เพื่อหวังเอาชนะใจคนที่นี่อีกครั้ง
ด้วยจำนวนสาขาปัจจุบันที่ 13 สาขา ยังมีแผนที่จะขยายสู่ 100 สาขาในอนาคต
จึงเป็นเรื่องที่เรายังต้องติดตามกันต่อว่า KFC จะสามารถตีตลาดอิสราเอล ที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ได้หรือไม่
หรือจะต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านแบบแบรนด์ฟาสต์ฟูดเจ้าอื่น ๆ ที่ต้องยอมแพ้ให้ตลาดสุดหิน อย่าง อิสราเอล..
โฆษณา