24 ส.ค. 2022 เวลา 10:00 • การ์ตูน
ANIMATION คืออะไร ?
Animation หรือ แอนิเมชั่น รวมทั้งคำว่า Animate และ Animator มาจากรากศัพท์ละติน “Animare” และภาษาฝรั่งเศส “Anime” ซึ่งมีความหมายว่า ทำให้มีชีวิต ส่วน คำว่า “Anime” หรือ “อะนิเมะ” เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่เป็นคำเฉพาะของชาวญี่ปุ่นที่แปลว่า “ภาพยนตร์การ์ตูน” และประเทศอื่นๆ เข้าใจคำว่า Anime หมายถึง “ภาพยนตร์การ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่น”
“Animation” หรือ “ภาพเคลื่อนไหว” หรือ “ภาพการ์ตูนที่เคลื่อนไหวได้” คือการนำภาพนิ่งหลายๆ ภาพมาฉายต่อเนื่องกันด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดภาพลวงตาของการเคลื่อนไหวออกมา โดยปกติความเร็วของภาพเคลื่อนไหวจะฉายด้วยความเร็วที่ต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของการแสดงผล โดยถ้าฉายเป็นภาพยนตร์เมื่อสมัยก่อนจะฉายด้วยความเร็ว 16 เฟรม ต่อวินาที
แต่ในปัจจุบันจะอยู่ที่ 24 เฟรมต่อวินาทีถ้าฉายในระบบ PAL จะฉายด้วยความเร็ว 25 เฟรมต่อวินาที แต่ในระบบ NTSC จะฉายด้วยความเร็ว 29.97 หรือ 30 เฟรมต่อวินาที
แอนิเมชั่นส่วนใหญ่จะวาดขึ้นด้วยมือ แต่ปัจจุบันมีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยสร้างแอนิเมชั่นอย่างแพร่หลาย และกำเนิดออกมาหลากหลายประเภทตามรูปแบบนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน
แอนิเมชั่นนั้นมีต้นกำเนิดมานานแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มีการค้นพบภาพเขียนบนผนังถ้ำเป็นรูปสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งในภาพวาดมีการวาดการเคลื่อนไหวของขาทั้ง 4 ข้าง ในยุคต่อมา 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงยุคของฟาโรห์รามาเสสที่ 2 ได้มีการก่อสร้างวิหารเพื่อบูชาเทพีไอซิสโดยมีการวาดรูปการเคลื่อนไหวของเทพีไอซิสต่อเนื่องกันถึง 110 รูป จนกระทั่งถึงยุคกรีกโรมัน เมื่อดูจากภาพที่ปรากฏบนคนโทแล้ว จะเห็นว่าเป็นภาพต่อเนื่องของการวิ่ง
พัฒนาการของแอนิเมชั่น
แอนิเมชั่นในแต่ละพื้นที่ของโลกมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
แอนิเมชั่นฝรั่ง
แอนิเมชั่นฝรั่งยุคแรกๆ นั้นจะดัดแปลงจากภาพยนตร์เงียบ ในฝั่งยุโรป แอนิเมชั่นเรื่อง Fantasmagorie ของ Émile Cohl ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1908 ส่วนภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของโลก นั่นก็คือ Satire du Pt Irigoyen ของประเทศอาร์เจนติน่าในปี 1917 และตามมาด้วย The Adventure of Prince Achmed
ในขณะเดียวกันนั้นที่สหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มต้นพัฒนาด้านแอนิเมชั่นโดยในช่วงแรก ได้แก่ Koko the Clown และ Felix the Cat ในปี 1923 วอล์ท ดิสนีย์ ก็ได้เริ่มมีผลงานขึ้นด้วย
ต่อมาในปี 1928 มิกกี้ เมาส์ เริ่มออกสู่สายตาประชาชน ตามด้วย พลูโต กู๊ฟฟี่ โดนัลด์ ดั๊ก และในปี 1937 สโนว์ไวท์และคนแคระทั้ง 7 ได้เปิดตัวนับเป็นผลงานแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของ ดิสนีย์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ต่อมาได้ผลิตแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น Pinocchio, Fantasia , Dumbo, Bambi, Alice in Wonderland, Peter Pan จากนั้นก็มีการตั้งสตูดิโอของ Warner Brother, MGM และ UPA
ในช่วงปี 1960 หลังจากที่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากได้ก่อให้เกิดธุรกิจแอนิเมชั่นบนจอโทรทัศน์ขึ้น ซึ่งมีทั้งการ์ตูนของดิสนีย์และการ์ตูนเหล่าฮีโร่ทั้งหลาย เช่น Superman , Batman และในขณะเดียวกันก็ได้มีการศึกษาการทำแอนิเมชั่น 3 มิติอีกด้วย
แอนิเมชั่นญี่ปุ่น
แอนิเมชั่นญี่ปุ่นนั้นมีประวัติศาสตร์มายาวนานเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มต้นประมาณปี 1900 บนฟิลม์ขนาด 35 มม. เป็นแอนิเมชั่นสั้นๆเกี่ยวกับทหารเรือหนุ่มกำลังแสดงความเคารพ ส่วนแอนิเมชั่นเรื่องแรกของทางญี่ปุ่น ถูกสร้างขึ้นในปี 1917 คือเรื่อง เจ้าหญิงหิมะขาว ต่อมาในปี 1958 แอนิเมชั่นเรื่อง นางพญางูขาว(Hakujaden) เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ และจากจุดนั้นเองแอนิเมชั่นญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
-ปี 1962 Manga Calender การ์ตูนแอนิเมชั่นออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นเรื่องแรกของประเทศญี่ปุ่น
-ปี 1963 เจ้าหนูปรมาณู(Astro Boy) การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ดัดแปลงจากมังงะ (หนังสือการ์ตูน) โดยตรงและเป็นแอนิเมชั่นสีเรื่องแรกทั้งยังเป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้ออกฉายในสหรัฐอเมริกา
-ปี 1966 แม่มดน้อยแซลลี่ (Mahoutsukai Sally) การ์ตูนแอนิเมชั่นสำหรับเด็กผู้หญิงเรื่องแรก
-ปี 1967 Ribon no Kishi การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนผู้หญิง (ต้นฉบับก็เป็นหนังสือการ์ตูนเด็กผู้หญิงเรื่องแรกของญี่ปุ่นด้วย)
-ปี 1969 1001 Night จัดว่าเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่เจาะกลุ่มผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่
-ปี 1972 Mazinga จุดกำเนิดของการ์ตูนแอนิเมชั่นแนว Super Robot
-ปี 1975 Uchuu Senkan Yamato เปิดศักราชการ์ตูนแอนิเมชั่นยุคอวกาศ จนมาถึง Mobile Suit Gundam ในปีเดียวกัน
-ปี 1981 ถือกำเนิดไอดอลครั้งแรกในวงการการ์ตูนแอนิเมชั่น นั่นก็คือ ลามู จาก Urusei Yatsura
-ปี 1988 อากิระ การ์ตูนแอนิเมชั่นสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการแอนิเมชั่นทั่วโลก
-ปี 1995 ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริการ่วมมือกันสร้าง Ghost in the Shell ขึ้นและการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการสร้างหนัง The Matrix ที่โด่งดังในวงการภาพยนตร์
-ปี 1997 ฮายาโอะ มิยาซากิ นำ Princess Mononoke ก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์ และปี 2003 สามารถคว้ารางวัลออสการ์ครั้งที่ 75 สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจากเรื่อง Spirited Away รวมไปถึง Dragonball ของ อากิระ โทริยามะ ก็สร้างความนิยมไปทั่วโลกอีกด้วย
แอนิเมชั่นไทย
ในส่วนของประเทศไทยเรานั้น แอนิเมชั่นได้เริ่มต้นเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ตัวการ์ตูนแอนิเมชั่นพบได้ในโฆษณาทางโทรทัศน์ เช่น หนูหล่อของผลิตภัณฑ์ยาหม่องบริบูรณ์ปาล์ม ของ อ.สรรพสิริ วิริยสิริ ซึ่งเป็นผู้สร้างแอนิเมชั่นคนแรกของไทย และยังมีหมีน้อย ของผลิตภัณฑ์นมตราหมี แม่มดกับสโนว์ไวท์ของแป้งน้ำควินนาอีกด้วย
ต่อมา อ.เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน มีความคิดที่จะสร้างแอนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย แต่ต้องล้มโครงการไปเพราะกฎหมายควบคุมสื่อในสมัยนั้น และต่อมา ปี พ.ศ. 2498 อ.ปยุต เงากระจ่าง เป็นบุคคลท่านแรกที่ประสบความสำเร็จในการการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น จากเรื่อง “เหตุมหัศจรรย์” ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ ทุรบุรุษทุย ของ ส.อาสนจินดา
หลังจากนั้นมีโครงการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น “หนุมาน” การ์ตูนต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาแต่ต้องล้มเหลวเหตุเพราะโครงการเหมือนจะไปเสียดสี จอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์ ผู้นำในสมัยนั้นซึ่งเกิดปีวอก
ในปี พ.ศ. 2522 อ.ปยุต เงากระจ่าง ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูน “สุดสาคร” เรื่องยาวเรื่องแรกของไทยและประสบความสำเร็จมากพอสมควรในยุคนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2526 การ์ตูนแอนิเมชั่นทางโทรทัศน์เรื่องแรกที่เป็นฝีมือคนไทยนั่นเรื่อง “ผีเสื้อแสนรัก” ได้ออกแพร่ภาพซึ่งหลังจากนั้นได้มีการ์ตูนแอนิเมชั่นอีกหลายเรื่อง เช่น เด็กชายคำแพง หนูน้อยเนรมิต เทพธิดาตะวัน จ่ากับโจ้ฯ แต่เนื่องจากการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นนั้นมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงจึงทำให้การ์ตูนแอนิเมชั่นในเมืองไทยยุคนั้นต้องยุติลง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 วงการแอนิเมชั่นของไทยที่มีทีท่าว่าจะสูญหายไปก็ได้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งจากความพยายามของ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ได้นำการ์ตูนที่ดัดแปลงจากวรรณคดีฝีมือคนไทย ทั้ง ปลาบู่ทอง สังข์ทอง เงาะป่าและโลกนิทานมาผลิตและแพร่ภาพได้รับการตอบรับอย่างดี
จนในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นปีทองของวงการแอนิเมชั่นไทย โดยเฉพาะผลงานของ บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ได้ผลิตและแพร่ภาพ ภาพยนตร์การ์ตูน 3 มิติ “ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น ตอน ตะลุยโลกอนาคต” เป็นที่ฮือฮาและประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างสูง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ยังได้นำผลงานการ์ตูน 2 มิติ ชุด “รามเกียรติ์ มินิ แอนิเมชั่น” ออกแพร่ภาพเพื่อเฉลิมพระเกียรติเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ได้รับการตอบรับอย่างดี ประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม และมีแฟนๆ ติดตามจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งผลงานการ์ตูนแอนิเมชั่นทั้ง 2 เรื่องยังได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการแอนิเมชั่นและวงการธุรกิจในประเทศไทยในการขายลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์เพื่อใช้ในการโฆษณาและผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ ไม่แพ้แอนิเมชั่นของฝั่งญี่ปุ่นและตะวันตกเลยทีเดียว
ครั้งต่อไป วิธิตา แอนิเมชั่น จะนำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแอนิเมชั่นประเภทต่างๆ มานำเสนอ โปรดติดตามครับ
โฆษณา