26 ส.ค. 2022 เวลา 02:17 • ประวัติศาสตร์
ผ้าเตี่ยวหรือที่เชลยศึกเรียกว่า Jap happy ผ้าที่เอาไว้ปิดของสงวนของเชลยศึก
เมื่อเชลยศึกมาถึงที่บ้านโป่งกระเป๋าที่ใส่เครื่องแบบและสัมภาระของส่วนตัวที่ขนมาจากสิงคโปร์นั้นมีจำนวนมาก ส่วนเชลยศึกนั้นจำเป็นจะต้องเดินเท้าไปยังค่ายต่างๆตามแนวการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ
จึงทำให้เชลยศึกจำเป็นต้องขนข้าวของและเสื้อผ้าที่จำเป็นจริงๆติดตัวไปเท่านั้น เพราะหากแบกของทั้งหมดคงไม่ไหว ข้าวของที่เชลยศึกแบกไม่ไหวจำนวนมากถูกกองทิ้งไว้ที่บ้านโป่ง โดยทหารญี่ปุ่นบอกว่าข้าวของพวกนี้จะถูกส่งตามเชลยศึกไปในภายหลัง (แต่ก็ไม่มีการส่งไปแต่อย่างใด และของเหล่านั้นได้หายสาบสูญไป)
เชลยศึกสัมพันธมิตรส่วนมากหากเป็นทหารที่มียศไม่สูงนักจะถูกส่งไปทำงานที่ลำบากในพื้นที่ที่ค่อนข้างห่างไกล ชุดเครื่องแบบของทหารแต่ละคนนั้นก็เอาไปพอที่จะขนได้
การเดินทางลำบาก บางครั้งเชลยศึกก็เอาเสื้อผ้าหรือข้าวของต่างๆแลกกับอาหารในเวลาหิว
เครื่องแบบทหารเมื่อใส่ไปนานวัน ในสภาพอากาศร้อนชื้นและเชลยศึกเองก็ถูกใช้งานอย่างหนัก
กางเกงหรือเสื้อผ้าเองก็ถูกใช้งานอย่างหนักเช่นกัน การเสียดสีของเนื้อผ้า ตลอดจนการขีดข่วนของต้นไม้และหนามต่างๆทำให้เสื้อผ้าและกางเกงที่มีอยู่เปื่อยและขาดลงจนหมด
ในการปกปิดของสงวนของเชลยศึกนั้นจึงจำเป็นต้องหาผ้ามาทำเป็นผ้าเตี่ยว เอาไว้ปิดบังอวัยวะสำคัญ
Jap เป็นคำที่เชลยศึกเรียกเหล่าทหารญี่ปุ่นซึ่งตัวเต็มมาจาก Japanese ผมไม่มีที่มาว่าทำไมเขาจึงเรียกแบบนี้ มีเพียงบันทึกที่ว่าเชลยศึกเรียกผ้าเตี่ยวที่สวมใส่ว่า Jap happy อาจจะเป็นเพราะเวลาทหารญี่ปุ่นเห็นเชลยศึกใส่ผ้าเตี่ยวคงดูตลกและสนุกสนาน จึงมีการเรียกว่า Jap happy หรือยุ่นดีใจ
โฆษณา