26 ส.ค. 2022 เวลา 04:22 • การศึกษา
กระปุกบัญชี-06.ภาษีหักณ.ที่จ่าย - ภงด 1, 3 และ 53
ภาษีหักณ.ที่จ่าย คืออะไร? คือภาษีที่เราต้องหักก่อนจ่ายเงินออกไป และนำส่งสรรพากรทุกเดือน
Ep. ที่แล้วเราพูดถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม มาแงะกระปุกหยิบขึ้นมาอ่านทวนกันสั้นๆ นิดนึง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามชื่อเลยก็คือภาษีที่เพิ่มขึ้น จากตัวของสินค้า ซึ่งจะมี ทั้งที่จ่ายออกไปจากการซื้อ หรือที่เราเรียกว่า ภาษีซื้อ และมีที่เราหักเอาไว้ จากการขาย หรือเรียกว่า ภาษีขาย
โดยสรุปสุดท้ายก่อนที่จะจ่ายภาษีให้สรรพากร เราก็จะเอาภาษีซื้อกับภาษีขายมาหักกลบลบหนี้กัน ก่อนที่จะจ่ายภาษีให้กับสรรพากร และยื่นรายงาน ภพ30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
■ ภาษีซื้อ > ภาษีขาย=ตั้งเป็น ลูกหนี้-สรรพากร ไว้หักเดือนหน้า หรือขอคืน
■ ภาษีซื้อ < ภาษีขาย=จ่ายเงินพร้อมยื่นแบบภพ.30
จะเห็นได้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มมีทั้งจ่ายออกไป และ หักเอาไว้ แต่ภาษีหักณ.ที่จ่าย จะมีแค่เฉพาะฝั่งที่ หักเอาไว้อย่างเดียว
■ หักเมื่อไหร่? ■
ชื่อก็บอกอยู่แล้ว " หัก ณ ที่จ่าย " ก็คือ หักตอนจะจ่ายนั่นเอง เพราะฉะนั้นจ่ายเมื่อไหร่ค่อยหักเมื่อนั้น
■ ใครที่มีหน้าที่ต้องหัก? ■
คนที่มีหน้าที่หัก จะเป็นบริษัทเท่านั้นค่ะ บุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้จดทะเบียนกิจการจะไม่มีสิทธิ์หักเวลาจ่าย
■ ค่าใช้จ่ายประเภทไหน ที่ต้องเอามาหักก่อนจ่าย? ■
ค่าใช้จ่ายที่จะเอามาหักได้นั้น จะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ ค่าบริการเท่านั้นค่ะ ค่าสินค้า ไม่ต้องเอามาหักก่อนจ่าย
■ ทำไมค่าสินค้าไม่เอามาคำนวณภาษีหัก ณ.ที่จ่าย ล่ะ? ■
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า " สินค้า" นั้น เป็นสิ่งที่สามารถ จับต้อง ส่งมอบได้ และเห็นเป็นรูปธรรม
ส่วน " ค่าบริการ " ถือเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ ส่งมอบเมื่อไหร่ หลักฐานก็อาจจะไม่แน่ชัด พอที่จะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปได้
ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินให้กับค่าบริการ   ซึ่งเป็นรายได้ของผู้รับเงินที่ต้องนำไปเสียภาษีสิ้นปี หากมีรายได้หรือกำไร ในปีนั้นๆ กฎหมาย จึงบังคับให้เรา ผู้จ่ายเงิน หักเงิน ภาษี จากค่าบริการเหล่านี้ขึ้นมาก่อนและนำส่งสรรพากร ในรูปแบบ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั่นเอง
■ สรุป คุณสมบัติ ของการหักณที่จ่าย ■
  • 1.
    ต้องจดทะเบียนในรูปบริษัท เท่านั้นถึงมีสิทธิ์ หักณ.ที่จ่าย บุคคลธรรมดาไม่มีสิทธิ์หัก
  • 1.
    หักตอนจ่าย เพราะฉะนั้น ถ้าจ่ายเช็ควันที่ 25 ม.ค. แต่ลงวันที่ในเช็คไว้ 05 ก.พ. ⇒ หัก ณ ที่จ่ายจะต้องออกให้เดือนกุมภาพันธ์ ไม่ใช่มกราคม
  • 1.
    อัตราภาษีหักณที่จ่ายมีหลายอัตรา จะหัก 1%, 3% , 5% หรือ 10% ขึ้นอยู่กับ ประเภทของค่าใช้จ่ายนั้นๆ ซึ่งสรรพากร มีตาราง และหลักเกณฑ์ในการหักไว้อยู่
  • 1.
    ฐานภาษีที่จะเอามาคำนวณหักณ.ที่จ่าย จะต้องเป็นยอด ก่อน ภาษีซื้อ 7% เช่น
** ค่าบริการ =100 บ.
** ภาษีซื้อ =7 บ.
** ราคาค่าบริการที่เรียกเก็บ =107บ.
** ภาษีหัก ณ.ที่จ่าย =100×3% (หรือ 1% , 5% , 10% ตามอัตรา)=3 บ.
** ดังนั้น เงินค่าบริการที่ต้องจ่าย=107-3=97บ.
เหนื่อยกันรึยังคะ อีกนิดนึงจะจบครบลูปการหักภาษีตัวนี้แล้ว ไปต่อค่ะ สู้ๆ
ดังนั้นในการจ่ายค่าใช้จ่ายทุกๆครั้ง ของบริษัท ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ตามนี้
A : เป็นค่าบริการ
B : เช็คอัตรา ที่จะต้องหักจากประเภทของการจ่าย
C : ใข้ฐานมาคำนวณการหัก ก่อนภาษีซื้อ 7%
D : หักแล้ว ให้นำส่งสรรพากรพร้อมยื่นแบบ ภงด.1 , ภงด.3และ 53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
โดย แบบทั้ง 3 ข้างต้น ก็จะมีรูปแบบในการหัก จาก 3 กลุ่ม คือ
ภงด.1 - หัก พนักงาน จาก เงินเดือน
ภงด.3 - หัก บุคคล จาก ค่าบริการที่จ่าย
ภงด.53 - หัก บริษัท จาก ค่าบริการที่จ่าย
หลายคนเริ่มสงสัยว่า พนักงานมาเกี่ยวอะไรด้วย และภงด 1 คืออะไร เราเป็นพนักงานบริษัท เราก็โดนหักไปทุกเดือนใช่หรือไม่
คำตอบคือใช่ค่ะ ไปดูที่สลิปเงินเดือน จะเห็นว่าเราโดนหักภาษีเอาไว้ทุกเดือนจากฝ่ายบุคคล และฝ่ายบุคคลของบริษัทก็ต้องนำส่ง เงินส่วนนี้พร้อมกับแบบภงด 1 ให้กับสรรพากรทุกเดือน
แล้วทุกๆ สิ้นปีไม่เกินเดือน มกราคมปีถัดไป ถ้าเราคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเอง บริษัทก็จะรวบรวมยอดที่หักทั้งปี ทำใบหักณ.ที่จ่าย สรุปยอดทั้งปี มาให้เรายื่นภาษีบุคคลธรรมดา ภงด.90,91 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
ทั้งหมดทั้งมวลของภาษีหักณ.ที่จ่ายเบื้องต้น และที่เกี่ยวข้องกับเรามากที่สุด ก็จะประมาณนี้ค่ะ
♧♧ มาค่อยๆ หยอดกระปุกบัญชีวันละนิด พิชิตการเงินในอนาคตกันค่ะ ♧♧
◇ กระปุกบัญชี : Kapookbunchee ◇
Yuu : ยู
กระปุกบัญชี-06.ภาษีหักณ.ที่จ่าย - ภงด 1, 3 และ 53

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา