28 ส.ค. 2022 เวลา 03:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Private Banking แข่งดุ เศรษฐีไทยรวยทะลุ 10 ล้านล้านบาท ตั้ง Family Office บริหาร อะไรทำให้?...ครอบครัวเศรษฐีเร่งส่งต่อความมั่งคั่งสู่ทายาท
Private Banking แข่งดุ เศรษฐีไทยรวยทะลุ 10 ล้านล้านบาท ตั้ง Family Office บริหาร อะไรทำให้?...ครอบครัวเศรษฐีเร่งส่งต่อความมั่งคั่งสู่ทายาท
โควิด-19 ไม่กระทบความมั่งคั่งของกลุ่มบุคคลมั่งคั่งสูง (High Net Worth) ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป โดยในประเทศไทยพบมีจำนวนเศรษฐีถือครองสินทรัพย์มากกว่า 50 ล้านบาท 40,000 คน โดยมีสินทรัพย์รวมทั้งในประเทศและนอกประเทศกว่า 10 ล้านล้านบาท ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ ส่งมืออาชีพ Private Banking ลงสนามแข่ง เร่งตอบ เป็นที่ปรึกษาช่วยครอบครัวเศรษฐีตั้ง Family Office บริหารความมั่งคั่งส่งต่อสู่ทายาทรุ่นต่อไป
แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสร้างผลกระทบต่อประชากรโลกในทุกส่วน แต่กลุ่มบุคคลมั่งคั่งสูง หรือ High Net Worth เป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยในปี 2021 ทั้งโลกมีกลุ่มบุคคลมั่งคั่งสูง 22.5 ล้านคน เพิ่ม 7.8% ซึ่งสหรัฐอเมริกายังคงครองแชมป์พื้นที่ที่มีจำนวนกลุ่มมั่งคั่งสูงเพิ่มมากที่สุด 13.2% รองลงมาคือ ยุโรป ที่เพิ่มขึ้น 6.7% ตะวันออกกลาง มีจำนวนเพิ่มขึ้น 5.5% ส่วนเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่ม 4.2%
นอกจากนี้ ในภาพรวมของมูลค่าสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุน (Asset under Management : AUM) ของทั้งโลกมีขนาด 86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% ก็ยังเห็นได้ชัดที่สุดว่า สหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นโซนที่มีการเติบโตทางสินทรัพย์สูงที่สุด โดยอเมริกามีการเติบโตมากสุดที่ 13.8% ยุโรป 7.5% ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 6.3% และเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้น 5.4%
SCB ชี้ 6 เทรนด์ใหม่ มุ่งเป้าหมาย Top of Mind
นางสาวลลิตภัทร ธรณวิกรัย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
นางสาวลลิตภัทร ธรณวิกรัย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผย การเงินธนาคาร ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูง (High Net Worth) ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตลาดที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าความมั่งคั่งมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา จากการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้แรงสนับสนุนจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่รับกับโควิด-19 ทำให้มูลค่าความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมาก
รองลงมาที่ยังมีความมั่งคั่งเติบโตได้ดีคือ ยุโรป ตามมาด้วยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมประเทศไทยที่ความมั่งคั่งยังเติบโตได้ราว 5% ในปี 2021 แต่หากมองไปถึงปี 2024 มีการคาดการณ์ว่าความมั่งคั่งในเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตได้ 7%
สำหรับภาพรวมความมั่งคั่งในประเทศไทย แม้ยังเป็นสัดส่วนที่เล็กมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่มูลค่าสินทรัพย์ในประเทศสามารถเติบโตได้ดี สะท้อนผ่านมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น เพราะลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งสูงของไทยจะมีการถือครองที่ดินหรือสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในสัดส่วน 40-50% ของทรัพย์สินทั้งหมดมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกจะมีสัดส่วน 15-20% ของทรัพย์สิน
อย่างไรก็ดี ลูกค้ากลุ่ม High Net Worth ที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป ในประเทศไทยคาดว่าจะมีจำนวนประชากร 30,000-40,000 คน และมีการถือครองสินทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 8.8 ล้านล้านบาท ยังไม่นับสินทรัพย์ที่คนกลุ่มนี้ถือครองในต่างประเทศที่คาดว่าจะมีอีก 2 ล้านล้านบาท ซึ่งโดยรวมหากนับทั้งสินทรัพย์ที่อยู่ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทำให้คาดการณ์ได้ว่ามูลค่าสินทรัพย์ของกลุ่ม High Net Worth ในประเทศไทยมีราว 10 ล้านล้านบาท
สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีส่วนแบ่งตลาดราว 1 ใน 3 ซึ่งจำนวนลูกค้าในกลุ่มนี้ ปัจจุบันมี 10,000 คน ที่อยู่ในความดูแลของไทยพาณิชย์ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้บริหาร (AUM) ราว 800,000-900,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนับรวมทุกประเภทสินทรัพย์ และแนวโน้มยังคงมีความมั่งคั่งเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การรักษาความมั่งคั่งให้การลงทุนของลูกค้าเติบโตต่อเนื่องในปี 2022 เป็นเรื่องที่มีความท้าทายสูงมาก เนื่องจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นคล้ายกันทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้ลดทอนความน่าสนใจของการแข่งขันในด้าน Private Banking ในประเทศไทยไปได้
KBank Private Banking ช่วยสร้าง Perfect Wealth
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBank)
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดเผย การเงินธนาคาร ว่า ภาพรวมการเติบโตของกลุ่มบุคคลมั่งคั่งสูง (HNWIs) ในปีที่ผ่านมายังสามารถรักษาการเติบโตไว้ได้ต่อเนื่อง แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย
ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มประเทศที่มีการเติบโตของตลาดบุคคลมั่งคั่งสูงได้มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการเติบโตจากเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่มี Digital เป็นพื้นฐาน ทั้งบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพประกอบกับในช่วงโควิด-19 สหรัฐฯมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมากเป็นแรงส่งให้เกิดธุรกิจใหม่ที่เติบโตได้เร็ว ส่งผลให้มีเศรษฐีใหม่เพิ่มจำนวนมาก
“2 ปีที่ผ่านมา ตลาดกลุ่มบุคคลมั่งคั่งสูงถือว่ามีภาพที่แตกต่างไปจากช่วงก่อนหน้านั้น เพราะเห็นการเติบโตในฝั่งสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนเศรษฐีใหม่และทรัพย์สินใหม่อีกครั้ง ต่างจากปกติจะเห็นการเติบโตอยู่ในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกมากกว่า เพราะเป็นตลาดเกิดใหม่มีประชากรเยอะ ต้องยอมรับว่าหลังโควิด-19 สหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่จีนยังไม่ฟื้น การเติบโตของกลุ่มมั่งคั่งสูงจึงย้อนกลับไปที่สหรัฐฯ”
ส่วนในประเทศไทยความมั่งคั่งยังเติบโตได้ระดับ 4-5% สำหรับ KBank Private Banking มีลูกค้าที่ขยับขึ้นจากกลุ่มที่มี AUM น้อยกว่า 50 ล้านบาทขึ้นมาเป็น Private Banking ที่มี AUM 50 ล้านบาทขึ้นไปประมาณ 400-500 ราย จากเดิมที่มีลูกค้า 10,000 ราย คิดเป็นการเติบโต 5% สอดคล้องกับภาพรวมของตลาดระดับภูมิภาค อย่างไรก็ดี KBank Private Banking มีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มที่มี AUM ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป 30% โดยปัจจุบันมี AUM รวม 600,000-700,000 ล้านบาท
โดยกลุ่มอายุของลูกค้า KBank Private Banking แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เจ้าของธุรกิจที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังบริหารธุรกิจอยู่ จะมีอายุ 60-70 ปีขึ้นไป กลุ่มที่ 2 คือ เจ้าของธุรกิจอายุ 50-60 ปี กลุ่มที่ 3 คือ Next Gen เป็นกลุ่มที่เข้ามารับไม้ต่อจากพ่อแม่อายุราว 35-50 ปีขึ้นไป และอีกกลุ่มคือตระกูลเศรษฐีที่ติดอันดับโลก
“กระแสหนึ่งที่พบคือ ในกลุ่มเจ้าของกิจการเริ่มมองว่าโลกหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม คนอายุมากๆ คิดว่าตามโลกดิจิทัลไม่ทัน เด็กรุ่นใหม่เก่งเร็วขึ้น กระแสการส่งผ่านธุรกิจครอบครัวให้ทายาทเริ่มมาเร็วการส่งมอบ Wealth Tranfer จากเจ้าของธุรกิจอายุ 60 ปีขึ้นไป ไปสู่กลุ่มอายุ 35-50 ปีเห็นเป็นกระแสที่เพิ่มขึ้น”
นายจิรวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์ของ KBank Private Banking คือการเป็น International Comprehensive Wealth Service คือการเป็นผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานสากลอย่างครอบคลุมเพราะการดูแลลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่ใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่มีทรัพย์สินทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ รวมทั้งโอกาสในการลงทุนมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การให้บริการต้องเป็นมาตรฐานสากล
ซึ่ง KBank Private Banking มีพันธมิตรเป็นธนาคาร LOMBARD ODIER ที่เป็นผู้ให้บริการระดับสากลที่พิสูจน์ความยั่งยืนมา 7 รุ่นผ่านร้อนผ่านหนาวมา 40 วิกฤติสามารถทำธุรกิจมาได้ 225 ปี ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่มาได้ถูกทางแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องให้บริการได้อย่างครอบคลุมไม่ใช่แค่เรื่องลงทุนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสำหรับกลุ่มบุคคลมั่งคั่งสูงการลงทุนอาจจะตอบโจทย์ในแง่ทรัพย์สิน แต่ลูกค้ากลุ่มนี้จะมี 3 เรื่องที่ต้องการคือ การจัดเก็บ สร้างการเติบโต และส่งต่อ
บล.KKP เน้นจุดแข็ง เชี่ยวชาญการลงทุน
นายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร (บล. KKP)
นายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร (บล. KKP) เปิดเผย การเงินธนาคาร ว่า ลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งสูงของ บล.เกียรตินาคินภัทร จะมี AUM ตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป เป้าหมายของเกียรตินาคินภัทร ในธุรกิจบุคคลมั่งคั่งสูงในปีนี้จะเน้นการเติบโตของ AUM ราว 13% จากปัจจุบันมี 680,000 ล้านบาทซึ่งคาดว่าสิ้นปี 2022 จะเห็นการเติบโตของ AUM เป็น 770,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เห็นการแข่งขันในบริการด้าน Private Banking เพิ่มขึ้นในประเทศไทยจากการเข้ามาของผู้เล่นที่เป็นธนาคารต่างประเทศที่สนใจตั้งธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเห็น Digital Wealth เครื่องมือการลงทุนต่างๆ ที่เพิ่มอีกหลายราย แต่ Digital Wealth ก็มีความท้าทายเพราะลูกค้ากลุ่มที่มีเงินขนาดใหญ่ของประเทศไทยยังมีความสบายใจที่จะเจอกับคนมากกว่าจะใช้ช่องทางดิจิทัลอย่างเดียว
“ผู้เล่นใหม่ๆ ที่เข้ามาแข่งขันต้องใช้ความอดทนสูง แต่ไม่ค่อยกังวลมากเพราะเป็นการแข่งขันบนเค้กที่ยังโตอยู่ ทำให้ไม่มีการใช้ราคาเข้ามาแข่งขัน การแข่งในตลาดที่ยังเติบโตจะเน้นเรื่องคุณภาพและความเฉพาะตัวมากกว่าราคา”
นายณฤทธิ์กล่าวอีกว่า การแข่งขันที่สูงขึ้นถ้ามองถึงจุดแข็งในธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคลมั่งคั่งสูงของเกียรตินาคินภัทร คือ เรื่องการลงทุนที่มีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมหลากหลายมากที่สุด มีเครื่องมือครบถ้วนตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีกว่า และเปิดกว้างทางการลงทุนเป็น Open Architecture และมีที่ปรึกษาทางการลงทุนของ เกียรตินาคินภัทร ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง
“RM ของ เกียรตินาคินภัทร จะมี 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าได้ ระดับสูงขึ้นมาหน่อยจะไม่ใช่แค่เสนอขายได้ แต่ให้คำแนะนำและหาทางเลือกให้ลูกค้าได้ด้วย ส่วนระดับสูงคือ สามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าได้ เพราะลูกค้าอาจจะไม่รู้ว่าต้องการลงทุนแบบไหนเป็นหน้าที่ของ RM ระดับสูงที่ต้องคาดได้ว่าลูกค้าเหมาะกับการลงทุนแบบไหน”
นายณฤทธิ์กล่าวอีกว่า บทบาทสำคัญของ เกียรตินาคินภัทร ในการดูแลกลุ่มลูกค้าบุคคลมั่งคั่งสูง คือหน้าที่รักษาความมั่งคั่งของลูกค้าท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่เกียรตินาคินภัทรเริ่มนำเครื่องมือการลงทุนที่เรียกว่า Private Market มาใช้ก่อนหน้านี้จึงมีส่วนช่วยรักษาพอร์ตของลูกค้าเอาไว้ได้
โดย Private Market เป็นการลงทุนที่เน้นระยะยาวและลงทุนสินทรัพย์ที่ราคาไม่ได้ผันผวนตามภาวะตลาด นักลงทุนจึงสบายใจได้ระดับหนึ่ง โดยการลงทุนประเภทนี้จะไม่ใช่แค่เข้าไปลงทุนแต่จะมีส่วนในการช่วยให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ อีกเครื่องมือการลงทุนคือ การลงทุนในผลิตภัณฑ์ด้าน Structure Products ที่สามารถออกแบบการลงทุนได้หลากลาย เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตของลูกค้าได้มากขึ้นด้วย
“10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารทั่วโลกเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ส่งผลให้การลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้นักลงทุนได้เผชิญกับความจริงว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ซึ่งการแนะนำของเราจะไม่เชียร์ซื้อเชียร์ขาย แต่จะตั้งเป้าผลตอบแทนร่วมกับลูกค้า ได้พูดคุยเรื่องความเสี่ยงตั้งแต่ต้น เวลาเกิดความผันผวน ตลาดลงมากๆลูกค้าจะไม่ตกใจมากเพราะรับรู้ตั้งแต่แรก”
โฆษณา