#รู้จัก..."บุหงาเซิงพะงัน" พรรณไม้เกียรติประวัติไทย
“บุหงาเซิงพะงัน” 𝘍𝘳𝘪𝘦𝘴𝘰𝘥𝘪𝘦𝘭𝘴𝘪𝘢 𝘱𝘩𝘢𝘯𝘨𝘢𝘯𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 Leerat. วงศ์ : Annonaceae
​พรรณไม้ชนิดนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.จรัล ลีรติวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตีพิมพ์เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 49(2) หน้า 221 ค.ศ. 2021 ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข 𝘓𝘦𝘦𝘳𝘢𝘵𝘪𝘸𝘰𝘯𝘨 20-1558 เก็บจากเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 คำระบุชนิด “𝘱𝘩𝘢𝘯𝘨𝘢𝘯𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴” ตั้งตามชื่อเกาะพะงัน สถานที่ที่พบพรรณไม้ชนิดนี้ เป็นแห่งแรก
​ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูงได้ถึง 3 ม. กิ่งมีขนสีน้ำตาลข้มถึงสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกแคบถึงรูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปรี กว้าง 1.5-5.5 ซม. ยาว 5-17 ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มกว้างถึงกลม แผ่นใบด้านล่างมีนวล เส้นแขนงใบ 12-16 คู่ ก้านใบยาว 5-10 มม. ดอกออกเหนือซอกใบ มี 1-3 ดอก ก้านดอกยาว 4-6 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง 5.5-8 มม. ยาว 11-14 มม.
กลีบดอกสีเหลืองอมเขียวถึงสีเหลืองอ่อน กลีบดอกชั้นนอกรูปใบหอกกลับถึงรูปใบหอกกลับแกมรูปรี กว้าง 1.5-1.9 ซม. ยาว 5-7 ซม. กลีบดอกชั้นในรูปใบหอกถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 5.5-7 มม. ยาว 11-15 มม. เกสรเพศผู้รูปลิ่ม ยาว 1-1.5 มม. เกสรเพศเมียมี 12-14 คาร์เพล ผลแบบผลกลุ่ม มีผลย่อย 8-12 ผล ผลย่อยรูปทรงรี รูปทรงไข่ หรือรูปทรงไข่แกมรูปทรงรี กว้าง 7-10 มม. ยาว 9-20 มม. เมื่อสุกสีแดง เมล็ดรูปทรงรีถึงรูปทรงไข่ กว้าง 6-8 มม. ยาว 7-12 มม. สีน้ำตาล ผิวเรียบ เป็นมันวาว
บุหงาเซิงพะงัน เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นในป่าดิบชื้น ใต้ร่มเงา บริเวณป่ารุ่นหรือป่าใส (secondary forest) ที่ระดับความสูง 100-200 ม.
ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
โฆษณา