29 ส.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
【ผมจะลองพาออกจาก Matrix ดู : ทฤษฎีผลประโยชน์ของคุณพิชัย】
“ไม่รู้ว่าจะออกได้ไหม บางคนอาจจะเห็นแว็บ ๆ รู้สึกแว็บ ๆ ว่าเริ่มออกได้ หรือบางคนอาจจะเด้งก็ได้ ผมไม่รู้นะครับ”
คุณพิชัย จาวลา พูดเรื่องทฤษฎีผลประโยชน์ไว้ในหลายโอกาส ทฤษฎีของแกก็คือ ผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับคนส่วนน้อยเท่านั้น
เช่นถ้าคนส่วนใหญ่คิดว่าหุ้นตัวนึงดีมาก แห่กันไปซื้อ ผลก็คือคนส่วนใหญ่จะไม่ได้กำไร เพราะผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับคนส่วนน้อยเสมอ
ในบางกรณีจะคล้าย ๆ กับที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูด คือ “จงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ จงโลภเมื่อคนอื่นกลัว”
คุณพิชัยแกเคยให้สัมภาษณ์กับรายการ
ถามอีก กับอิก TAM-EIG เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2021 โดยยกตัวอย่างเรื่องทองคำไว้ ผมเห็นว่าน่าสนใจดีครับ
แกเปรียบเปรยว่า
“ให้เราลองจินตนาการดูว่า
เราทุกคนอยู่ในกล่อง หนึ่งคนต่อหนึ่งกล่อง
เรานั่งอยู่ในกล่อง
แล้ววันนึงเราก็พยายามจะประเมินราคาทิศทางทองคำอยู่
แล้วคำตอบที่เราได้วันนี้ก็คือว่า”
“หนึ่ง เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น วัคซีนเริ่มมาแล้ว
เพราะฉะนั้นโอกาสของทองคำก็เริ่มเหลือน้อยลง”
 
“สอง ระดับอยู่สูง ขึ้นมาเยอะ
ขึ้นมาอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงของรอบที่แล้ว
แล้วหลังจากนั้นทองคำก็พักยาว”
“สาม เวลาเราดูกราฟ
เราก็รู้สึกว่ากราฟน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ
กลัวว่าจะซ้ำรอยสิบปีที่แล้ว
ที่ยืนอยู่ประมาณ 1,600 1,700 1,800 1,900 อยู่ 2-3 ปี
แล้วก็ตกไปอยู่ 1,000 เหรียญ”
“ไม่ว่าเราจะมองในแง่ของกราฟ มองในแง่ของระดับ
มองในแง่ของวัคซีนที่มาแล้ว โควิดที่คลี่คลายแล้ว
เศรษฐกิจที่เร่ิมจะดีขึ้นแล้ว
ทุกอย่างกำลังกลับเข้ารูปเข้ารอยเหมือนเดิมแล้ว
เราก็จะสรุปว่าทองมีความเสี่ยงแล้วก็ดูนิ่ง ๆ”
“เพราะฉะนั้นเราขายดีกว่า หรือเราไม่ซื้อ”
“เราไล่เลียง 3-4 factors มาแล้ว เราก็สรุปข้างล่าง ว่าขาย
คือภาพเวลาเราอยู่ในกล่องเนี่ย
กล่องหมายความว่า กว้างคูณยาวคูณสูง เป็นโลกสามมิติ…”
“แล้วก็มีมิติที่สี่คือมิติของเวลาด้วย…
เวลาที่เราเปรียบเทียบว่า เออ มันก็เคยขึ้นแบบนี้เมื่อสิบปีที่แล้วนะ
กราฟก็คล้าย ๆ กันเลย
แล้วพอเศรษฐกิจเริ่มดี ทองก็เริ่มตกลงมาเลย
เรากำลังเข้าไปในมิติที่สี่ละ คือเรื่องของเวลา
ก็คือการเปรียบเทียบกับอดีต
ทั้งหมดเนี่ยเรียกว่าระบบเหตุผล ที่เราคิดแบบ cost and effect”
“ก็ยังอยู่ในกล่องเหมือนเดิม เรายังไม่ได้ออกนอกกล่องเลยนะ
เพราะกล่องก็คือ กว้างคูณยาวคูณสูง คูณเวลา
เรายังอยู่ในกล่องอยู่เลยนะ
ถ้าเราคิดแบบนี้ เรายังไม่ได้ think out of box แต่อย่างใด แล้วเราก็ได้ข้อสรุปอยู่ข้างล่างว่าทองไม่น่าสนใจ
จะขาย หรือจะไม่ซื้อ หรือจะอะไรก็แล้วแต่
แล้วเราก็จบแค่นั้น
สรุปทองไม่น่าสนใจ แล้วเราก็จบ
อันนี้คือเรายังอยู่ใน matrix เรายังคิดอยู่ในกรอบแบบ cost and effect ทั่วไป”
1
“แต่ทีนี้ถ้าเราจะออกจาก matrix เนี่ยเราทำยังไง
สิ่งที่ผมเห็นคืออะไร
ผมเห็นว่าทุกคนอยู่ในกล่องนี้ แล้วก็สรุปแบบนี้
ทีนี้เราลองจินตนาการใหม่ว่า เราอยู่นอกกล่องทุกกล่อง
มีเป็นร้อย ๆ พัน ๆ หมื่น ๆ แสน ๆ ล้าน ๆ กล่องเลย เราเห็นทุกกล่องเลย
แล้วแต่ละกล่องก็มีแต่ละคนอยู่
แล้วทุกคนก็คิดแบบนี้
แล้วสรุปออกมาได้คำตอบคล้าย ๆ กัน”
“เวลาเราออกมาอยู่นอก matrix เราจะมองกล่องทุกกล่อง
เราจะเห็นคนทุกคนที่คิดเสร็จแล้วบนทุก factor
แล้วสรุปอยู่ในบรรทัดสุดท้ายในกล่องตัวเองว่า ขายหรือไม่ซื้อ
ถ้าเราเห็นภาพนั้น เราจะตัดสินใจยังไง
เราจะยังคงขายอยู่มั้ย
เพราะเราเห็นแล้วว่า คนทุกคนกำลังขาย
ภาพที่เราเห็นคือเกิดการ oversold แสดงว่าทรัพย์สินนั้น oversold”
1
“ถึงแม้ว่าคิดถูกหมดเลย สังเกตนะคิดถูกหมดเลย…
ไม่ได้คิดผิด แต่คิดเหมือนกันไปหมด
เวลาเราอยู่นอกกรอบเนี่ย เราจะเห็น
เพราะฉะนั้นเราก็จะเลือกข้างที่เรายอมคิดผิด
แล้วก็เข้าไปเริ่มลงทุนในทองดีกว่า
อันนี้คือพยายามให้เราเห็นภาพว่าการอยู่ใน matrix กับอยู่นอก matrix เนี่ย
มันเห็นภาพคนละภาพยังไง”
ข้างบนนี้คือสิ่งที่คุณพิชัยพยายามเปรียบเทียบให้เห็นภาพการออกจาก matrix นะครับ
ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ได้ถูกต้อง 100% เสมอ แต่ก็เป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการคิดสวนกระแสครับ
1
ที่บอกว่าไม่ 100% ก็เพราะมันมีตัวอย่างหักล้างอยู่
ยกตัวอย่างเช่น ฟองสบู่ทิวลิป จังหวะที่ “คนใน matrix” แห่ขายกันหมด ถ้าเราไปซื้อก็ไม่น่ารอดครับ เจ็บหนักแน่
หรือจะเป็นฟองสบู่หุ้น South sea ก็ได้
ที่ใกล้ตัวมาหน่อยก็อาจเป็นหุ้น Nokia ในบางจังหวะ
ถ้าคุณค่าของทรัพย์สินมันลดลงหรือไม่มีแล้ว การสวนกระแสก็ไม่ใช่หนทางที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ครับ (ยกเว้นทรัพย์สินเก็งกำไร อาจจะได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ยั่งยืน)
แต่ถ้าเอาทฤษฎีของคุณพิชัย ไปประยุกต์กับทรัพย์สินที่มีคุณค่า มีพื้นฐานจริง ๆ ผมว่าน่าจะปลอดภัย และเสี่ยงน้อยลงครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก ถามอีก กับอิก TAM-EIG https://youtu.be/Tq93c5Wf3Jc
เครดิตภาพ : Screenshot จาก ถามอีก กับอิก TAM-EIG
โฆษณา