29 ส.ค. 2022 เวลา 10:59 • ไลฟ์สไตล์
กิเลสคืออะไรคงไม่ต้องมาอธิบายมากแต่เกิดจากอะไร มาจากไหน มีกี่ประเภทน่าสนใจกว่า เท่าที่เคยศึกษามาขออนุญาตคัดลอกบทความจากหลายๆที่ซึ่งได้อ่านมานานหลายปีแล้วจึงไม่ทราบที่มาแน่ชัด และขออนุญาตนำมาสรุปรวบยอดตามที่ตนเข้าใจดังนี้
กิเลสแต่ละอย่างนั้นต่างก็มีมูลรากมาจากตัวเดียวกัน แต่อาจจะขยายความโดยย่อให้พิศดารได้ตามแต่ลักษณะหรือหน้าที่ที่กิเลสนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย(เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีรากแล้วทำให้เกิดเป็นลำต้นเกิดเป็นกิ่งก้านสาขาออกดอกออกผลมากมาย) เช่นอวิชชา-->ตัณหา--> อุปาทาน--> ราคะ โทสะ โมหะ-->กามฉันทะ ปฏิฆะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ-->อาฆาต พยาบาท อิจฉา ริษยา ความถือตัวถือตน มายา โอ้อวด ความแข่งดี ความลบหลู่คุณท่าน ความดื้อรั้น ความประมาท-->กาย วจี มโนทุจริต
โดยรวมสามารถแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
1. แยกตาม 3 หมวดใหญ่คือ โลภะ โทสะ โมหะ
1.1 หมวดโลภะกิเลส
1. กามโลภะ ความอยากในกาม อยากที่จะสนองต่อสัมผัสทางทั้ง 5 ได้แก่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
2. ภวโลภะ ความอยากในภพ คือ อยากเป็นอย่างนี้ อยากมีอย่างนี้ เป็นรูปที่จิตปรุงแต่ง
3. วิภวโลภะ ความอยากในวิภพ คือไม่อยากเป็นอย่างนี้ ไม่อยากมีอย่างนี้ เป็นรูปที่จิตปรุงแต่ง
4. กิเลสอื่นๆที่เป็นโลภะกิเลส
– รติคือความยินดี, อิจฉาคือความปรารถนา, มหิจฉา คือความมักมาก, ปาปิจฉาคือความปราถนาที่จะประพฤติผิดศีลธรรม
1.2 โทสะกิเลส
1. อสังขาริก โทสะที่เกิดขึ้นเพราะตนเอง
2. สสังขาริก โทสะที่มีผู้อื่นเป็นเหตุหรือยุยงให้เกิด
3. กิเลสอื่นๆที่เป็นโทสะกิเลส
– อรติคือเกิดการไม่ชอบ, ปฏิฆะคือเกิดการขัดใจ, โกธะคือเกิดการโกรธ, พยาบาทคือเกิดการอาฆาต
1.3 โมหะกิเลส
โมหะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้จิตเกิดความลุ่มหลงในสิ่งต่างๆทั้งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ด้วยทวารทั้ง 5 และเป็นนามธรรมที่จิตตนเองปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุที่มาจากความเขลาไร้ซึ่งปัญญา
ลักษณะของโมหะ
1. เกิดความมืดในจิตใจด้วยความไม่มีปัญญา
2. มีอารมณ์เป็นรส
3. มีความเห็นอันเป็นมิจฉาทิฏฐิที่ประกอบขึ้นจาก
– วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย
– อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน
4. กิเลสอื่นๆที่เป็นโมหะกิเลส
– สักกายทิฏฐิ เห็นว่ามีตัวตน ตัวตนมีความเที่ยง
– สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นการบำเพ็ญเพียร
1
2. แยกตามระดับชั้นของกิเลส
กิเลสมีหลายระดับแบ่งเป็นระดับหยาบ ระดับอาสวะ ระดับนิวรณ์ ระดับสังโยชน์ หรือระดับอนุสัย
เครื่องมือในการต่อสู้กิเลสก็มีหลายระดับเช่นกัน
2.1 กิเลสชั้นหยาบก็คือตัวโลภ โกรธ หลง จะแสดงออกชัดเจนทางกาย วาจา ใช้ศีลเป็นเครื่องข่มใจ
2.2 กิเลสชั้นกลาง (อาสวะกิเลส 4 - กาม, ภพ, ทิฏฐิ, อวิชชา ) เป็นกิเลสที่หมักหมมห่อหุ้มจิตหรือย้อมอยู่ในใจเป็นชั้นๆ พร้อมแสดงตัวออกทางกาย วาจาเมื่อถูกกระตุ้น อาสวะถูกผลักดันมาจากอนุสัย (ใช้ สติ สมาธิ ปัญญาแก้)
2.3 กิเลสชั้นละเอียด (อนุสัย7) กิเลสที่นอนก้นไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา ทำงานขึ้นมาจากกิเลสส่วนลึกที่เรียกว่าอนุสัยหรือสันดาน เป็นหัวเชื้อให้เกิดอาสวะ ตัวที่จะทำลายอนุสัยได้คืออริยมรรค
อนุสัยกิเลสมี 7 อย่าง
1. กามราคานุสัย โลภะ ความติดข้องในกาม
2. ปฏิฆานุสัย  โทสะ ความโกรธ
3. ทิฏฐานุสัย  ความเห็นผิด
4. วิจิกิจฉานุสัย  ความสงสัย
5. มานานุสัย  ความถือตัว ความสำคัญตัว
6. ภวราคานุสัย  โลภะ ความติดข้องในภพ
7. อวิชชานุสัย โมหะ ความไม่รู้
2.4 กิเลสระดับสังโยชน์คือการผูกจิตไว้กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นกิเลสที่ร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฏฏะโดยเฉพาะการยึดติดในภพมีอยู่ 10 ประการ จะใช้โพชฌงค์ 7 อันหมายถึงญาณในการรู้เพื่อละสังโยชน์
สังโยชน์ 10
- สักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา (คำว่าร่างกายนี้หมายถึงขันธ์ ๕)
- วิจิกิจฉา ความลังเลสังสัยในคุณพระรัตนตรัย
- สีลัพพตปรามาส รักษาศีลแบบลูบๆ คลำๆ ไม่รักษาศีลอย่างจริงจัง
- กามฉันทะ มีจิตหมกมุ่นใคร่ในกามารมณ์
- พยาบาท มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ
- รูปราคะ ยึดมั่นถือมั่นในรูปฌาน
- อรูปราคะ ยึดมั่นถือมั่นในอรูปฌานคิดว่าทำให้พ้นจากวัฏฏะ
- มานะ ถือตัวถือตนถือชั้นวรรณะเกินพอดี
- อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดอยู่ในอกุศล
- อวิชชา มีความคิดเห็นว่าโลกามิสเป็นสมบัติที่ทรงสภาพ
2.5 กิเลสระดับนิวรณ์5 คือ กิเลสที่เป็นเครื่องกั้นความดี เช่น เวลาเราจะปฏิบัติธรรมหรือจะทำสมาธิทำจิตให้ผ่องใส กิเลสต่างๆเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นมาคอยรบกวนทำให้ไม่สามารถทำจิตให้เข้าสู่ความสงบ หรือทำจิตให้เกิดกุศลได้ มีอยู่ 5 ประการ
1. กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ( สิ่งสัมผัสทางกาย ) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ( คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น )
2. พยาบาท ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ..
3. ถีนมิทธะ ความหดหู่ท้อถอย ความง่วงเหงาหาวนอน
4. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ
5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่
นิวรณ์ทั้ง 5 เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ของจิตเช่นกัน..
โฆษณา