1 ก.ย. 2022 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
5 เรื่องภาษี คนขายของออนไลน์ต้องรู้
ร้านค้าออนไลน์นั้นมักมีปัญหาเรื่องภาษีมากวนใจอยู่เสมอ และถ้าไม่รู้จักวิธีรับมือกับภาษีร้านค้าออนไลน์ให้ดี สุดท้ายอาจถึงคราวขาดทุน หรืออาจถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ ในวันนี้ Zero to Profit จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ 5 เรื่องภาษีที่คนขายของออนไลน์ต้องรู้
1. ขายของออนไลน์อย่างไร ไม่ต้องเสียภาษี
คำถามนี้เป็นคำถามที่โดนใจมาก แต่คำตอบอาจจะไม่ถูกใจใครหลายๆ คน เพราะว่าถ้าเราขายของ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตามมักจะมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่วันยังค่ำ
ยกตัวอย่างเช่น ภาษีที่วนเวียนอยู่ในชีวิตเราทุกคน คือ “ภาษีเงินได้” เป็นภาษีที่ต้องจ่ายกรณีที่มีกำไรจากการทำธุรกิจ แบ่งเป็น
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง ภาษีที่ต้องเสียถ้ามีเงินได้สุทธิ (รายได้-ค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน) กรณีที่ทำธุรกิจแบบบุคคล อัตราภาษีตั้งแต่ 5-35%
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล หมายถึง ภาษีที่ต้องเสียกรณีมีกำไร (รายได้-ค่าใช้จ่าย) จากการทำธุรกิจแบบบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด อัตราภาษีตั้งแต่ 15-20%
จากคำอธิบายข้างบน หนทางเดียวที่จะไม่ต้องเสียภาษีจากการขายของออนไลน์ ก็คือ ทำให้ธุรกิจขาดทุน ซึ่งก็คงไม่มีใครเลือกทางเดินนี้แน่นอนใช่ไหมล่ะคะ
นอกจากภาษีเงินได้แล้วยังมีภาษีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่เจ้าของร้านค้าออนไลน์ต้องรู้จัก
2. ขายของออนไลน์เป็นเงินได้ประเภทไหน?
กรณีที่เราขายของแบบเป็นบุคคลธรรมดา ขายของกุ๊บกิ๊บ ปุ๊กปิ๊กทั่วไป ตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเลือกประเภทเงินได้ว่าเป็นประเภทไหน
เฉลยๆ มันคือ เงินได้ประเภท 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เปิดร้านขายของออนไลน์โดยส่วนใหญ่ เพราะเป็นเงินได้จากการค้าขาย กรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไขเงินได้ประเภท 40(1) – 40(7)
3. เงินเข้าธนาคาร 400 ครั้ง จะโดนสรรพากรตรวจไหม
ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เรียกว่า อีเพย์เมนต์ (e-payment) ออกมาโดยระบุว่า ธนาคารจะต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรในกรณีที่เข้าข่าย “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ”
ถ้าใครเข้า 1 ใน 2 เงื่อนไขนี้ละก็จัดเป็นธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรแน่นอนค่ะ
- การฝากหรือรับโอนเงินของทุกบัญชี ตั้งแต่ 3000 ครั้งต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 250 ครั้ง หรือ
- การฝากหรือรับโอนเงินของทุกบัญชี ตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 34 ครั้ง) และยอดเงินรวม 2,000,000 บาทขึ้นไป
สำหรับใครที่มีเงินเข้ามากกว่า 400 ครั้งต่อปีก็ไม่ได้ถูกส่งข้อมูลนะ ถ้ายอดเงินรวมทั้งหมดต่ำกว่า 2,000,000 บาท
4. ปัญหาภาษี ขายของออนไลน์พบบ่อย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อมรูปแบบนึงที่ดูจากรายได้ของร้านค้า ถ้าเข้า 2 เงื่อนไขนี้ ต้องรีบไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1) รายได้กฎหมายไม่ได้ยกเว้น
2) รายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
ปัญหาของคนทำธุรกิจไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการจดทะเบียน แต่ว่าปัญหาที่แท้จริง คือ การคิด vat 7% จากราคาขายสินค้า ถ้าเผอิญขายดีเทน้ำเทท่ารายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
เพราะถ้าไม่ได้วางแผนไว้ก่อน อาจต้องเพิ่มราคาสินค้าเข้าไปอีก 7% ทำให้ลูกค้าขาประจำตกใจ ไม่ happy ที่จะมาซื้อของร้านเราแล้ว
แต่ถ้าเราเลือกที่จะจ่าย vat 7% ให้ลูกค้าเองแล้ว นั่นหมายถึง กำไรที่จะหายไปจากการทำธุรกิจ
ดังนั้น ใครที่กำลังขายของออนไลน์อยู่ เราอยากให้ลองทำความเข้าใจประเด็นเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มดีๆ เลย เพราะนี่หมายถึงความเป็นความตายของร้านค้าเราเลยค่ะ
5. วิธีจัดการรายได้-ค่าใช้จ่ายให้เสียภาษีน้อยสุดๆ
วิธีจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายให้เสียภาษีน้อยสุด สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่วันนี้ คือ การทำบัญชีค่ะ
เริ่มต้นทำบัญชีรายรับรายจ่ายง่ายๆ ด้วย Excel สำหรับร้านค้าแบบบุคคล จะช่วยให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือนมีรายรับเท่าไร รายจ่ายเท่าไร กำไรเท่าไร และเมื่อไรก็ตามที่โดนสรรพากรเรียกถาม เราย่อมมีคำตอบและหลักฐานไว้อธิบายกับสรรพากรได้
แต่กรณีที่เป็นนิติบุคคลแล้ว การทำบัญชีก็เป็นหน้าที่ตามกฎหมายนะ ซึ่งทุกครั้งที่ทำบัญชีมันก็มาพร้อมกับภาระหน้าที่การเก็บข้อมูลเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยากมีค่าใช้จ่ายทางภาษีเอาไปหักออกจากรายได้ให้ครบ 100% เราก็ต้องมีใบเสร็จรับเงิน เอกสารประกอบการจ่ายเงินอย่างครบถ้วนด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็น 5 เรื่องภาษีที่เจ้าของธุรกิจออนไลน์ต้องรู้ เพราะถ้าไม่รู้เราอาจวางแผนผิดพลาด จ่ายภาษีผิดประเภท ตั้งราคาสินค้าผิดไป สุดท้ายชีวิตอาจจบลงที่ธุรกิจก็ไม่มีกำไรแถมยังต้องเสียเวลาไปเจรจากับพี่สรรพากรอีก ถ้าไม่อยากเจอปัญหาในอนาคต Zero to Profit แนะนำให้เรียนรู้เรื่องภาษีและทำบัญชีไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นะคะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
โฆษณา