4 ก.ย. 2022 เวลา 08:32 • ความคิดเห็น
"ออกจากโลกที่คุ้นเคย"
ณ โรงพยาบาลเด็กแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ
การผ่าตัดหัวใจของเด็กน้อยอายุ 3 ขวบ
เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ยังคงดำเนินไป
ภายนอกห้องผ่าตัด มีคุณพ่อ คุณแม่ และ ญาติพี่น้องที่เฝ้ารออย่างกระสับกระส่าย ด้วยความกังวล
ชีวิตของ "ลูกน้อย" ที่ไม่รู้ว่าจะ "เป็น" หรือ "ตาย"
แขวนไว้อยู่กับการทำงานร่วมกันของ "คนไม่กี่สิบคน"
ภายในห้องสนธยาที่เรียกว่า "ห้องผ่าตัด"
เวลาผ่านไป 6 ชั่วโมง การผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี จนกระทั่ง เริ่มเคลื่อนย้ายเด็กน้อยที่อ่อนแอ
ไปยังห้องพักฟื้นของคนไข้หลังผ่าตัด
การถอดสายช่วยชีวิตกว่าสิบสายที่ตัวเด็ก
การสื่อสารกับห้องพักฟื้นให้เตรียมพร้อม
การเคลื่อนย้ายเด็กจากเตียงผ่าตัดไปสู่เตียงรถเข็น
ไปสู่ห้องพักฟื้น จนถึงการตรวจสอบความเรียบร้อย การเสียบสายช่วงชีวิตกลับเข้าไปอีกครั้ง ณ ห้องพักฟื้น ตามลำดับ
ระหว่างนั้น ก็มี "เสียงสั่งการ" จากคุณหมอหลายคน เสียงขานรับของพยาบาลที่ "อื้ออึง"
ที่แสดงความตระหนกในการทำงาน
ที่เดิมพันคือ "ชีวิต" ของคนไข้
เหตุการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็น "รอยรั่วเล็ก ๆ" ที่คุณหมอและพยาบาล มองว่าเป็นเรื่องปกติ
.
.
.คุณหมอโกลด์แมน ผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลเฝ้าดู ปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านไปวันแล้ววันเล่าและคิดไม่ตกว่า จะทำอย่างไรดี
จนกระทั่งวันหนึ่ง ระหว่างที่กำลังนั่งดูรายการทางทีวี
"การแข่งรถฟอร์มูล่าวัน"
หลังจากวิ่งวนในสนามกว่าสิบรอบ
รถแข่งของทีมเฟอร์รารี่ก็เคลื่อนตัวเข้าสุ่ "พิตสต๊อป" บริเวณขอบสนามแคบ ๆ ความยาวไม่เกินสิบเมตร
มีทีมงานกว่าสิบชีวิต ยืนรออย่างใจจดใจจ่อ
พร้อมเครื่องมือครบครัน ในมือของตน
รถเคลื่อนเข้ามาแล้ว ช้าลง ช้าลง จนจอดสนิท
"ฟืด ฟาด ช้ง เช้ง เรดี้ โก"
ถอดล้อ ใส่ล้อ ขันน็อต เติมลม เติมน้ำมัน เช็ดกระจก
ทุกอย่างเกิดขึ้น ใช้เวลาไม่เกิน 5 วินาที
และที่สำคัญ ไม่มีการคุยกันระหว่างทีมงานแม้แต่น้อย
ด้วยความทึ่ง ในประสิทธิภาพการทำงาน
และสายตาที่ ไม่ติดกรอบ
คุณหมอโกลด์แมน รีบติดต่อทีมเฟอร์รารี่
เชิญให้มาดูงานที่ โรงพยาบาลทันที
จุดนี้ ทีมเฟอร์รารี่ได้แต่งงว่า
งานของฉัน มันเกี่ยวอะไรกับโรงพยาบาล
คุณหมอขอทีมเฟอร์รารี่เพียงหนึ่งสิ่งเท่านั้น คือ
เฝ้าดู การทำงานของทีมงานในห้องผ่าตัด
รวมถึงช่วงการขนย้ายคนไข้ไปที่ห้องพักฟื้น
แล้วบอกว่า พวกเขาคิดว่าอย่างไร
หลายชั่วโมงผ่านไป
การผ่าตัดและการเคลื่อนย้ายเสร็จสิ้นลง
"ห่วยอย่างไม่น่าเชื่อ"
คือ ความเห็นตรงกันของทีมเฟอร์รารี่
ไม่น่าเชื่อว่า "การช่วยชีวิตคน" จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่า
การ เปลี่ยนล้อรถ ได้มากเพียงนี้
ที่น่าสนใจคือ ด้วยคำแนะนำของ ทีมเฟอร์รารี่ที่ใช้เวลาไม่กี่เดือน
ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มคนหน้างาน
การแตกหน้าที่ให้ละเอียดที่สุด
เพื่อกระจายงานอย่างชัดเจน
การทำเช็กลิสต์
การมอบหมายให้ผู้นำกระบวนการหนึ่งคน
เพื่อลดความสับสนในการสื่อสาร
เหมือน "คอนดักเตอร์" ของวงออร์เคสตรา
ทีม "เฟอร์รารี่" ทำให้คุณหมอ ถึงบางอ้อว่า
การรู้หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกคนเพื่อลดการสื่อสารเป็นหัวใจของการทำงานที่แข่งกับเวลา
เป็นความเหมือนที่ไม่มีใครเคยคิด
ระหว่างสองสถานที่ที่่ต่างกันอย่างสุดโต่ง
นั่นคือ "ห้องผ่าตัด" กับ "สนามแข่งรถ"
สร้างผลลัพธ์คือ...
ความผิดพลาดในการขนย้ายคนไข้ ลดลงถึง 50% ช่วยชีวิตเด็กน้อยให้รอดชีวิตได้นับสิบ นับร้อยสร้าง "นวัตกรรม" ในการทำงาน
(ข้างต้นนั้น คัดลอกจากคอลัมน์ ธุรกิจพอดีคำ
โดย กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร
มติชน สุดสัปดาห์18 -24 มีนาคม 2559)
==================================
เรื่องนี้ สอนให้รู้ว่าการออกจากโลกที่คุ้นเคย
การมองโลกใบเดิม ด้วยมุมกล้องที่ต่างไป
อาจจะช่วยให้เราเห็นคำตอบที่ซ่อนอยู่
โฆษณา