5 ก.ย. 2022 เวลา 09:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
10 ปีค่าแรงขั้นต่ำไทย เหมาะสมกับค่าครองชีพหรือยัง
ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจทั่วโลก และประเทศไทย ทั้งนี้ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของค่าเงินบาท และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ต้องเข้าใจก่อนว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นถือเป็นค่าตอบแทนต่ำสุดซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวันหรือรายเดือนตามที่กฎหมายกำหนด เรียกได้ว่าเป็นค่าจ้างระดับต่ำที่สุดนั่นเอง ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานนั้นจึงควรที่จะต้องมีความเหมาะสมกับค่าครองชีพเพื่อให้แรงงานที่มีรายได้ระดับต่ำที่สุดสามารถที่จะดำรงชีวิตได้นั่นเอง
ย้อนกลับไปในปี 2555 รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 159-221 บาทต่อวัน เป็น 222-300 บาทต่อวัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 หรือปรับขึ้นมากถึง 35.7-39.6% จากนั้นในวันที่ 1 มกราคม 2556 ก็ได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ หรือปรับจากเกณฑ์ต่ำสุดอีก 35%
ซึ่งหลังจากปี 2556 ประเทศไทยก็เข้าสู่ภาวะความวุ่นวายทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วง จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 และได้รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำอีก 3 ปีเต็มๆ
จนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 300-310 บาทต่อวัน ก่อนจะมาปรับขึ้นอีกครั้งในวันที่ 1 เมษายน 2561 เป็น 308-330 บาทต่อวัน คิดเป็น 2.6-10%
หลังจากเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 308-330 บาทต่อวัน เป็น 313-336 บาทต่อวัน คิดเป็น 1.6-1.8% เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 และไม่ได้มีการปรับเพิ่มอีก
ล่าสุดในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่กำลังจะถึงนี้ รัฐบาลกำลังจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง จาก 313-336 บาทต่อวัน เป็น 328-354 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 4.7-5.3%
เฉลี่ยแล้วในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำของไทยนั้นมีการปรับเพิ่มขึ้นมาจาก 159-221 บาทต่อวัน เป็น 328-354 บาทต่อวัน คิดเป็น 60.1-106% ซึ่งหากวัดเป็น % ก็ดูจะไม่น้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาแล้วพบว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นมีการปรับขึ้นเพียง 6-10% ต่อปีโดยเฉลี่ยเท่านั้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 3% และล่าสุดพุ่งขึ้นมาเป็น 7.6% ในปัจจุบัน
อีกทั้งราคาสินค้าและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำเป็นอย่างมาก แม้จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 328-354 บาทต่อวัน ก็ยังเกิดคำถามว่าจะเพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบันหรือไม่ ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่สินค้าต่างๆ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา