7 ก.ย. 2022 เวลา 14:06 • ศิลปะ & ออกแบบ
พลังความรักของพ่อแม่
ผลักดันเด็กหญิงสู่ดีไซเนอร์ไทย
อายุน้อยที่สุด ในนิวยอร์กแฟชันวีค
การได้นำผลงานออกแบบเสื้อผ้าของตนเองไปแสดงในงานนิวยอร์กแฟชันวีค ถือเป็นเป้าหมายและความฝันของดีไซเนอร์ทั่วโลก
3
สำหรับเด็กหญิงวัย 10 ขวบจาก จ. ตรัง ความฝันกลายเป็นจริงได้จากความรักและการสนับสนุนของครอบครัว
11
เด็กหญิงเคสิยาห์ ชุมพวง หรือวินนี่ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าอายุน้อยที่สุดในไทยคนหนึ่ง กำลังจะนำเสื้อผ้าที่เธอออกแบบ ต่อยอดจากผลงานศิลปะแบบนามธรรมไปให้นายแบบ-นางแบบระดับโลก สวมใส่ และเดินบนเวที “อาร์ท ฮาร์ท แฟชัน” (Art Heart Fashion) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิวยอร์กแฟชันวีค ระหว่าง 8-11 ก.ย. นี้
ด้วยอายุเพียง 10 ขวบ วินนี่ ถือเป็นดีไซเนอร์อายุน้อยที่สุด ที่แสดงผลงานในสัปดาห์แฟชันนิวยอร์ก ทำลายสถิติของเด็กหญิง คริส โรเจอร์ส ชาวอเมริกันที่โชว์ผลงานแฟชันตอนอายุ 11 ปี เมื่อปี 2560
ถือเป็นความสำเร็จที่เกินความคาดหมายของ คุณพ่อโพ กรกมล ชุมพวง และคุณแม่มุ้ย ยุภวัลย์ ย่องภู ที่แทบไม่มีความรู้เรื่องศิลปะและแฟชันเลย แต่ทุ่มสุดตัว สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และไม่เคยปฏิเสธจินตนาการของลูก เพราะครอบครัวชุมพวง เชื่อว่า เสียงของทุกคนในครอบครัวล้วนมีความหมาย
4
“ถ้าลูกบอกว่าเขาเป็นศิลปินระดับโลก เราก็เชื่อและเปิดพื้นที่ให้เขาเป็นศิลปินระดับโลก” คุณพ่อ กรกมล กล่าว
5
“บอกว่ากล้าคิดลูก กล้าคิดออกมาดัง ๆ ได้เลย…ยังไงป่าป๊า หม่าม๊า ก็มีรักที่รอรับเขาอยู่” คุณแม่ยุภวัลย์ บอกกับบีบีซีไทย
1
และนี่คือเส้นทางการเลี้ยงดูลูกของครอบครัวธรรมดาจากจังหวัดตรัง ที่บ่มเพาะความฝันที่ไม่ธรรมดาของลูกชายและลูกสาว จนนำไปสู่ความสำเร็จในระดับชุมชน จังหวัด ประเทศ และตอนนี้ สู่เวทีระดับสากล
3
ฉายแววศิลปินตั้งแต่ 2 ขวบ
1
กรกมลและยุภวัลย์ พบกันสมัยเรียนนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง และทำงานแวดวงทนายความในกรุงเทพฯ หลายปี ก่อนย้ายกลับไปบ้านเกิดของฝ่ายสามีในจังหวัดตรัง และผันตัวเป็นชาวสวน
ครอบครัวธรรมดาที่เพิ่งมีบุตรชายอายุ 2 ขวบกว่า ชื่อ เด็กชายวจนะ ชุมพวง หรือฮีโร่ ที่ชอบละเลงสีน้ำเป็นท้องฟ้า ทะเล ภูเขา พวกเขาก้าวเข้าสู่โลกศิลปะหลังได้รู้จักกับครอบครัวมิชชันนารีชาวอเมริกัน ที่อาศัยอยู่ใกล้บ้าน
2
ครอบครัวมิชชันนารี หรือครูสอนศาสนา เลี้ยงลูกแบบให้การศึกษาที่บ้าน หรือโฮมสคูล และให้อิสระกับลูกในการเล่น การเรียน และเลือกสิ่งที่หลงใหล รวมถึงการสร้างผลงานศิลปะแบบไม่ตีกรอบ ซึ่งเด็กชายฮีโร่ ได้เข้าไปสนิทและเล่นกับลูกของมิชชันนารี ทำให้เริ่มสนใจการวาดรูป
3
“ฮีโร่ชอบวาดรูปมาก วาดทุกที่…พอบ้านนั้น (มิชชันนารี) เห็นงานก็ชมว่าสวยมาก ฮีโร่ภูมิใจมาก กลับมาวาดไม่หยุด” ยุภวัลย์ เล่าย้อนไปถึงการฉายแววด้านศิลปะของบุตรชาย เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน
เธอสังเกตว่า บ้านมิชชันนารีเก็บผลงานศิลปะของลูกอย่างให้ความสำคัญ จึงเริ่มสะสมผลงาน และใส่ใจต่อความหลงใหลในศิลปะของฮีโร่ ทั้งให้กำลังใจทางวาจา นำภาพเขียนใส่กรอบ และผลักดันให้ลูกชายนำผลงานศิลปะ มอบเป็นของขวัญให้เพื่อน ๆ ของครอบครัว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
1
เธอและสามีเชื่อว่า ธรรมชาติที่สวยงามของ จ.ตรัง มีส่วนช่วยให้ลูก ๆ ชอบศิลปะ
“อย่างฮีโร่ชอบมองท้องฟ้า เวลาเขาวาด จุดเด่นจะอยู่ที่ท้องฟ้า นั่งมองได้นาน ๆ ” และพออายุได้ราว 5 ปี ทักษะของฮีโร่พัฒนาจนถึงระดับเดินสายแสดงภาพวาดสีน้ำตามที่ต่าง ๆ และตามงานแนวสตรีทอาร์ตใน จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง
5
กลัวลูกสาวรู้สึกไม่มีตัวตน
วินนี่ อายุน้อยกว่าพี่ชาย 1 ปีเศษ ชอบสาดสี เทสี และเกลี่ยสี แต่เป็นภาพที่พ่อและแม่ยังไม่เข้าใจ เพราะไม่เป็นรูปเป็นร่าง เหมือนกับภาพสีน้ำของฮีโร่
แม้ครอบครัวไม่ได้กดดันว่าวินนี่ ต้องฉายแววศิลปิน หรือชอบศิลปะเหมือนพี่ชายที่เริ่มเป็นที่รู้จักในชุมชน แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่า วินนี่จะรู้สึก “ไม่มีตัวตน” ในขณะที่ผู้คนให้ความสนใจพี่ชายอยู่ตลอด
3
แต่ความกังวลนั้นหมดไปในงานเวิร์กช็อปที่จัดขึ้น ณ หอศิลป์อันดามัน จ. กระบี่ ซึ่งรวมศิลปินแห่งชาติกว่า 30 คน มาสอนทักษะศิลปะและจัดประกวดผลงาน โดย ฮีโร่ คว้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ แต่ที่เกินความคาดหมาย คือน้องสาว วินนี่ คว้าเหรียญเงินมาได้
2
คุณพ่อที่เกิดความสงสัย จึงไปถามกรรมการที่เป็นศิลปินแห่งชาติถึงเหตุผล “อาจารย์ก็บอกว่านี่คือศิลปะที่มาจากใจเด็ก และมีอิสระ เป็นศิลปะนามธรรม”
1
นับแต่นั้น กรกมลและยุภวัลย์ สนับสนุนความรักในศิลปะของลูก ๆ อย่างเต็มที่ ปัจจุบัน ฮีโร่ (อายุ 11 ปี) สร้างสรรค์ผลงานภาพสีน้ำมาแล้วกว่า 1,000 ชิ้น และมีผู้เสนอราคาสูงสุดถึง 100,000 บาท ส่วนวินนี่ (อายุ 10 ปี) มีงานศิลปะนามธรรมราว 500 ชิ้น และเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เสนอราคามากถึงภาพละ 50,000 บาท
6
เส้นทางสู่ดีไซเนอร์-ผู้ประกอบการรุ่นจิ๋ว
1
นอกจากความรักในศิลปะ อีกความฝันของวินนี่ คือการเป็นซูเปอร์โมเดล ที่สวมใส่ผลงานการออกแบบแฟชันของตัวเอง วันหนึ่ง วินนี่รังสรรค์ผลงานชื่อ “ป่าหิมะ” และอยากได้กระโปรงลวดลายตามศิลปะของตัวเอง
1
“ด้วยความรักลูก บ้าลูก ก็หาโรงพิมพ์ผ้า หาวิธีการ…แต่โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ปฏิเสธหมด” ยุภวัลย์เล่า และยอมรับว่าตอนนั้นเกือบจะถอดใจ แต่เมื่อติดต่อโรงงานพิมพ์ผ้าแห่งสุดท้ายในลิสต์ เล่าเรื่องราวของลูกสาวและส่งภาพผลงานศิลปะไปให้เจ้าของโรงงานดู ปรากฎว่าเจ้าของโรงงานสนใจมาก เดินทางมาเล่นกับวินนี่ที่บ้าน และไม่นาน ได้พิมพ์ผ้าจากลวดลายศิลปะของเด็กหญิงหลายสิบลาย ลายละ 2 หลา
3
เธอเล่าต่อว่า สิ่งที่เจ้าของโรงงานพูดในเวลาต่อมา กลายเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ “เคซิยาห์” (Keziah) ที่ได้ไปเฉิดฉายอยู่บนแคตวอล์คระดับโลกที่นิวยอร์ก
2
“เจ้าของโรงงานบอกว่า ‘คุณแม่ต้องสร้างแบรนด์ให้น้องนะ…ต้องมีโลโก้ จดเครื่องหมายการค้า ถ้าน้องอายุ 17-18 ปี ผมก็คงไม่คุยด้วย แต่เพราะเขาอายุแค่นี้’ ” และนี่ก็เป็นสิ่งที่วินนี่ต้องการเช่นกัน กับการเป็นดีไซเนอร์แบรนด์เสื้อผ้าของตนเอง
6
“เมื่อลูกสาวมาทางแฟชัน เราก็เปิดพื้นที่ให้ มีอะไรทำได้ทำเลย ไม่ต้องรอให้เขาโต” กรกมล จึงตัดสินใจกันในครอบครัวว่า ไม่เพียงจะฟูมฟักลูก ๆ ให้เป็นศิลปิน แต่จะสนับสนุนการสร้างธุรกิจแฟชันให้ลูกสาว ทั้งที่ วินนี่ จะอายุไม่ถึง 10 ขวบในเวลานั้น และแม้ว่าตัวพ่อและแม่เอง ก็ไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจด้านนี้เลย
2
ผลงานศิลปะที่พิมพ์ลงบนผืนผ้า ได้รับความนิยมในการจัดแสดง “สไตล์บางกอก” (Style Bangkok) ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมการค้าระหว่างประเทศ ที่ไบเทคบางนา เมื่อปี 2563 และวินนี่ ถือเป็นผู้ประกอบการที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดงาน จนแรกเริ่ม ทางผู้จัดงานไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่จัดงานในวันแรก ๆ เพราะเด็กเกินไป
1
ท้ายสุด ผลิตภัณฑ์ที่นำไปจำหน่ายทั้งงานศิลปะ ผ้าพันคอพิมพ์ลายจากเส้นสีน้ำของฮีโร่ และผ้าม้วนพิมพ์ลาย ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผ้าม้วนที่ขายเป็นหลา จำหน่ายหมดเกลี้ยง
3
แล้วไปถึงนิวยอร์กแฟชันวีค ได้อย่างไร
1
“พ่อแม่ไม่ได้วางแผนอะไร…ไม่ได้วางไว้ว่าต้องไปนิวยอร์ก” กรกมล ยอมรับกับบีบีซีไทย
โอกาสนำแบรนด์เคซิยาห์ไปเฉิดฉายในนิวยอร์กเปิดออก หลังรุ่นพี่สมัยมหาวิทยาลัย เห็นว่าแบรนด์เริ่มมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง และทั้ง ฮีโร่-วินนี่ ก็อยากไปเวทีระดับโลก
2
“งั้นก็อธิษฐานนะ” คุณพ่อวัย 43 บอกกับลูก ๆ ในตอนนั้น ส่วนที่ให้อธิษฐาน เพราะครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์
1
การพิจารณาของทาง “อาร์ต ฮาร์ต แฟชัน” จะดูจากโปรไฟล์ของแบรนด์ และแผนการแสดงแฟชันว่าน่าสนใจหรือไม่ เพราะเป็นงานแบบขายบัตรให้เข้าชม โดยมีรุ่นพี่คนดังกล่าว ประสานส่งโปรไฟล์ของเคสิยาห์ไปให้
2
ผลปรากฏว่าทางนิวยอร์กตอบรับ ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมายของครอบครัว และยิ่งเกินคาด ที่มีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนทางการเงิน เพราะค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องเดินทางไปนิวยอร์กทั้งครอบครัว
3
สำหรับ “อาร์ต ฮาร์ต แฟชัน” (Art Heart Fashion) เป็นแพลตฟอร์มแฟชันชั้นนำ ที่นำเอาดีไซเนอร์และศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันสู่แนวหน้าของสัปดาห์แฟชันในนิวยอร์ก แขกในงานในอดีตประกอบด้วยคนดังหลากหลาย รวมถึงบริทนีย์ สเปียร์ส, เอเดรียน โบรดี, และเจสัน เดรูโล เป็นต้น
2
ครอบครัวที่รับฟังเสียงของเด็ก
1
สังคมออนไลน์ในไทยถกเถียงถึงการเลี้ยงดูบุตรแบบตีกรอบ และการที่ผู้ปกครองไม่รับฟังความเห็นของเยาวชน มาอย่างต่อเนื่อง แต่ครอบครัวชุมพวงมองว่า เสียงของเด็กมีความหมาย และผู้ใหญ่ควรเคารพและใส่ใจในจินตนาการ และความคิดของเด็ก แม้ว่าลูกจะยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม
2
“เพราะชีวิตเป็นของเขา” กรกมล กล่าว “เขาชอบอะไร ธรรมชาติเขาเป็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่จะอยู่กับเขาตลอดไป”
1
เขามองว่า การนำความคิดของผู้ใหญ่ไปกำกับเด็ก จะใช้ได้ผลเพียงแค่ต่อหน้าผู้ปกครองเท่านั้น แต่ถ้าสนับสนุนให้เด็กเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ว่าลูกจะเชื่อว่าตนเองเป็น “ศิลปินระดับโลก” หรือ “ดีไซเนอร์ระดับโลก” ตั้งแต่ยังเล็ก การสนับสนุนของพ่อแม่ จะทำให้พวกเขา “เฉียบคม และเป็นอันดับหนึ่งในแบบของเขาเอง”
4
และไม่ว่าผลงานหรือสิ่งที่ลูกเลือกจะไม่เป็นที่หนึ่งในระดับประเทศหรือระดับโลก แต่ “เขาคือนัมเบอร์วันในสายตาคุณพ่อคุณแม่แน่นอน”
2
คุณแม่ยุภวัลย์เห็นตรงกันว่า “ลูกถูกสร้างมาในแบบที่เขาเป็น เรามีหน้าที่แค่รักและดูแลเขา และทำให้เขากล้าเชื่อในความเป็นเขา”
6
“เมื่อไหร่ที่ความรักมากพอในหัวใจ ลูกจะไม่กลัว ลูกจะกล้า จะเชื่อว่ามันเป็นไปได้” เหมือนที่ความรักและการนับสนุนของครอบครัว นำพาแบรนด์เคซิยาห์ ขึ้นไปอยู่บนเวทีนิวยอร์กแฟชันวีคได้สำเร็จ
6
……
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว
1
• ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
• ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
1
โฆษณา