8 ก.ย. 2022 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม ประเทศกำลังพัฒนา ถึงติดหนี้ “จีน” กันทั่วหน้า
35 ล้านล้านบาท คือ มูลค่าพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ที่ถือครองโดยจีน
หรือพูดได้ว่า จีนนั้นเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล
นอกจากนี้ จีนยังมีการปล่อยกู้ให้กับอีกหลายประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา
ทำให้จีนกลายเป็น ประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก
แล้วจีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลกได้อย่างไร
BillionMoney จะมาสรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ถ้าเราเคยตามข่าวเศรษฐกิจ เรามักจะได้ยินชื่อของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ ธนาคารโลก (World Bank) อยู่เป็นประจำ
โดยบทบาทของ IMF จะเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่ประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
ในขณะที่บทบาทของ World Bank จะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือ ในการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า
ซึ่งทั้ง 2 องค์กรนี้ จึงมักถูกมองว่าเป็น เจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก
อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังมานี้ หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ก็ได้หันไปพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากจีนมากขึ้น ทำให้จีนกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก
ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ในช่วงปี 2007-2019 จีนมีการให้กู้ยืมแก่ประเทศอื่น เพิ่มขึ้นกว่า 14 เท่า
ปี 2007 มูลค่าการให้กู้ยืม 396,000 ล้านบาท
ปี 2019 มูลค่าการให้กู้ยืม 5,700,000 ล้านบาท
โดยในปี 2022 มีประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 74 ประเทศ ที่ต้องจ่ายหนี้คืนภายในปีนี้ รวมกันกว่า 1,260,000 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่ต้องจ่ายคืนจีน สูงถึง 466,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 37% เลยทีเดียว
 
ประเด็นที่น่าสนใจคือ แล้วทำไมประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ เลือกที่จะกู้เงินกับจีน แทนที่จะเป็น IMF หรือ World Bank เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ?
หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ จีนมีการปล่อยกู้ให้แก่ประเทศต่าง ๆ โดยมีเงื่อนไขที่เข้มงวดน้อยกว่า IMF หรือ World Bank
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้แหล่งเงินกู้จากจีนนั้น เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ หรือพัฒนาประเทศ
อย่างอภิมหาโปรเจกต์ “One Belt One Road” ที่จีนต้องการจะเชื่อมเศรษฐกิจของเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน ด้วยเส้นทางการขนส่งทางบก และเส้นทางการขนส่งทางทะเล
ซึ่งทางจีนก็ยังทำหน้าที่เป็นนายทุนเตรียมเงินกู้ ให้กับประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะปล่อยกู้ให้แก่หลายประเทศ ได้ง่ายกว่าการกู้ผ่าน IMF หรือ World Bank
แต่ประเทศที่มาขอกู้เงินจากจีนนั้น ก็ยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จีนวางเอาไว้
เช่น เมื่อจีนให้ความช่วยเหลือทางการเงิน สำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งโครงการเหล่านั้น จะต้องถูกดำเนินการโดยบริษัทจากจีน
หรือแม้แต่ อัตราดอกเบี้ยที่จีนปล่อยกู้ให้แก่ประเทศลูกหนี้ ก็มักจะสูงกว่า IMF หรือ World Bank
และยังมีระยะเวลาในการชำระหนี้ที่สั้นกว่าด้วย
รวมไปถึง จีนยังนำไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง ในกรณีที่ประเทศลูกหนี้เกิดปัญหาในการชำระหนี้ ยกตัวอย่างเช่น
- ปี 2017 ศรีลังกาได้เคยลงนาม ยกท่าเรือฮัมบันโตตา ให้บริษัทจีนเช่าระยะยาว เป็นเวลา 99 ปี เพื่อแลกกับการลดภาระหนี้
1
- ปี 2020 ลาวขอเลื่อนเวลาจ่ายชำระหนี้กับจีน ทำให้ลาวต้องอนุญาตให้จีน เข้าควบคุมบริษัทผลิตไฟฟ้าของลาว
1
เรื่องนี้ ก็ทำให้ฝั่งประเทศตะวันตกได้กล่าวโทษจีนว่า ทำให้ประเทศยากจนหลายประเทศ กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งจีนก็ออกมาปฏิเสธและตอบกลับว่า เป็นการพยายามของชาติตะวันตก ในการใส่ร้ายป้ายสีจีน
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไปว่า หลายประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน ที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว บวกกับภาระหนี้ที่ติดอยู่กับทางจีน จะกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมประเทศเหล่านี้หรือไม่..
 
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ ในปี 2020 ประเทศที่มีหนี้จีนมากที่สุดคือ สาธารณรัฐจิบูตี ที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยคิดเป็น 43% ของรายได้ประชาชาติ (Gross National Income) เลยทีเดียว..
References
โฆษณา