10 ก.ย. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
รู้จัก “ริมปิง” ซูเปอร์มาร์เก็ตพันล้าน ในเชียงใหม่
หากพูดถึงแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เรารู้จัก
คงหนีไม่พ้นท็อปส์ ฟู้ดแลนด์ หรือวิลล่า มาร์เก็ท
แต่หากไปถามคนเชียงใหม่ หนึ่งในนั้นก็จะต้องมีชื่อของ “ริมปิง”
รู้หรือไม่ว่า ริมปิง เป็นหนึ่งในแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต ในจังหวัดเชียงใหม่
ที่มีจุดเริ่มต้นมายาวนานถึง 80 ปี และวันนี้ก็ยังคงทำธุรกิจอยู่
โดยมีรายได้ระดับพันล้านบาทต่อปี
1
แล้วเรื่องราวของริมปิง น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของริมปิง ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2485 หรือราว 80 ปีก่อน
กลุ่มทุนท้องถิ่นอย่าง ตระกูลตันตรานนท์ ได้ก่อตั้งห้างตันตราภัณฑ์ของชาวเชียงใหม่ขึ้น ในฐานะห้างสรรพสินค้าชั้นนำของจังหวัด
ซึ่งนอกจากห้างสรรพสินค้าแล้ว ตระกูลตันตรานนท์ก็ยังมีการกระจายการลงทุน ไปยังธุรกิจอื่นอีกด้วย
หนึ่งในนั้นก็คือ “ซูเปอร์มาร์เก็ตริมปิง” ที่ได้มีการเปิดให้บริการสาขาแรก
เมื่อปี 2531 บริเวณสะพานนวรัฐ ติดริมแม่น้ำปิง
ต่อมาเศรษฐกิจของเชียงใหม่มีการเติบโตขึ้น นำมาสู่กำลังซื้อที่มากขึ้น ทั้งห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และศูนย์กลางการค้า จากกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ จึงได้รุกธุรกิจเข้าสู่จังหวัดหัวเมืองใหญ่แห่งนี้
ในครั้งนั้น ตระกูลตันตรานนท์จึงตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญ โดยการสร้างศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น
1
แต่โชคไม่ดีนัก เมื่อวิกฤติสงครามอ่าวเปอร์เซียได้เกิดขึ้น ซ้ำด้วยวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นตามมา ทำให้ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดไว้
1
ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของธุรกิจ จนนำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่
โดยเริ่มจากการปิดห้างตันตราภัณฑ์ สาขาท่าแพและสาขาช้างเผือก
ในขณะที่สาขาแอร์พอร์ตพลาซ่า และศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ก็ได้มีการขายออกไปให้กลุ่มเซ็นทรัล และหันไปโฟกัสธุรกิจที่ถนัดกว่า
นั่นก็คือ ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ได้รับสิทธิช่วงในอาณาเขตจาก ซีพี ออลล์ ให้บริหารร้านในภาคเหนือตอนบน
และอีกธุรกิจหนึ่งก็คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตริมปิง ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงปัจจุบัน ริมปิงมีทั้งหมด 8 สาขา และอยู่ภายใต้บริษัท ตันตราภัณฑ์ซุปเปอร์มาร์เก็ต (1994) จำกัด
หากเรามาดูผลประกอบการที่ผ่านมา
ปี 2562 รายได้ 1,747 ล้านบาท กำไร 25 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 442 ล้านบาท กำไร -7 แสนบาท
ปี 2564 รายได้ 1,449 ล้านบาท กำไร 48 ล้านบาท
1
จะเห็นได้ว่า ริมปิง มีรายได้ลดลงอย่างมากในปี 2563
เพราะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เนื่องจากวิกฤติโรคระบาด
แต่ในปี 2564 หรืออีกเพียงปีเดียว ริมปิงก็สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาอยู่ในระดับเดิมได้อย่างรวดเร็ว
1
แล้วอะไรที่ทำให้ ริมปิง ยังสามารถยืนระยะมาได้อย่างยาวนาน
ในยุคที่สมรภูมิค้าปลีก แข่งขันกันอย่างดุเดือดขนาดนี้ ?
จุดแข็งของริมปิงคงจะเป็นเรื่อง “ความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในพื้นที่”
แม้เชียงใหม่จะมีกลุ่มผู้บริโภค ที่มีกำลังซื้อไม่สูง เป็นตลาดหลัก
ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่
1
โดยกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญ ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าในเรื่องปริมาณ มากกว่าคุณภาพสินค้า
ซึ่งมักตามมาด้วยสงครามราคา ซึ่งเป็นเกมที่กลุ่มทุนหนามีความได้เปรียบมากกว่า
1
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ที่มักจะเน้นไปที่เรื่องคุณภาพสินค้าเป็นหลัก
ซึ่งแม้จะเป็นตลาดขนาดเล็กกว่า แต่ก็เป็นตลาดที่มีการแข่งขันเรื่องราคา น้อยกว่าด้วยเช่นกัน
2
พอเป็นแบบนี้ ริมปิงจึงเลือกวางตำแหน่งทางการตลาดเป็น “พรีเมียมซูเปอร์มาร์เก็ต”
คอยจับกลุ่มลูกค้าระดับบน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัด
เน้นขายสินค้าที่มีคุณภาพสูง รวมถึงสินค้านำเข้า และสินค้าท้องถิ่นด้วย
2
ประกอบกับ “ริมปิงยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” ที่สร้างการจดจำได้ง่าย
ไม่ว่าจะเป็น โลโก การออกแบบและตกแต่ง รวมถึงบรรยากาศของร้าน
ที่มีการใส่ใจในรายละเอียด เช่น ไม่มีเสียงโฆษณาสินค้า มีการเปิดเพลงคลาสสิก มีการจัดแสงไฟ ให้เหมาะสมกับแต่ละชั้นวางสินค้า
5
ถึงตรงนี้ เรื่องราวของริมปิง บอกอะไรกับเราบ้าง ?
1
หนึ่งในเรื่องที่เราได้จากริมปิงก็คือ ความพร้อมที่จะปรับตัวตามสถานการณ์
เพราะแทนที่จะเข้าไปชนกับกลุ่มทุนใหญ่โดยตรง ริมปิงกลับเล่นเกมที่ตัวเองได้เปรียบ
โดยอาศัยความเชี่ยวชาญ และความเข้าใจในพื้นที่ ในการปรับตัวและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
2
ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่า จุดแตกต่างนี้เอง
ที่ยังทำให้ธุรกิจของตระกูลตันตรานนท์
ยังคงดำเนินกิจการต่อเนื่องมานานหลายปีได้
และริมปิง ก็ได้กลายเป็นแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต
ที่สร้างรายได้ระดับพันล้านบาทต่อปี ได้สำเร็จ..
2
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา