10 ก.ย. 2022 เวลา 01:33 • ความคิดเห็น
เป็นสิ่งที่ดีงามซิครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่เมื่อก่อนใช้ชีวิตด้วยคําถามมาโดยตลอด เพราะผมมีความสนใจใคร่รู้แทบในทุกๆเรื่อง ผมเชื่อว่าความรู้เท่านั้นเป็นหนทางไปสู่ปัญญา การที่จะได้มาซึ่งความรู้ นั่นก็คือเกิดจากคําถามนั่นเอง แต่เมื่อผมได้มีโอกาสได้ตามงานเขียนของท่าน กฤษณะ มูรติ หนังสือชื่อว่า อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้ ทําให้ความคิดของผมเปลี่ยนไป ความรู้ทางโลกยิ่งรู้มากยิ่งบดบังปัญญาที่แท้จริง
การไม่รู้จะดีกว่ามาก แต่การไม่รู้ในที่นี้ต้องเข้าใจความหมายตามที่ท่าน กฤษณะ มูรติอธิบายด้วย ไม่ใช่ว่าไม่รู้ไม่สนใจอะไรเลย จึงจะขอแนะนำคุณเฉื่อยชา ให้ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน อาจจะอ่านยากซักนิด เพราะมันอาจจะขัดกับสามัญสำนึกของคนปรกติ แต่คําถามของคุณเฉื่อยไม่ปรกติ คําตอบจึงอาจจะอยู่ในหนังสือเล่มนี้
อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้ ::
บรรยาย : J. Krishnamurti
แปล : สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์
คัดลอกบทความโดยย่อมาจาก
“อิสรภาพที่แท้จริง” เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับมัน การเกิดเป็นมนุษย์
ถูกพ่วงพาไปด้วยเงื่อนไข กฎเกณฑ์ ข้อเรียกร้อง ความคาดหวังอันมากมายซึ่งเกิดจากครอบครัว คนรอบข้าง หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน กฤษณมูรติให้ความสำคัญกับ “อิสรภาพ” มาก เขาได้ให้แง่คิดในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
จงลืมสิ่งที่คุณรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับตัวเอง
ลืมสิ่งที่เคยคิดไว้ทั้งหมดเกี่ยวกับตัวเอง
ลองตั้งต้นใหม่อย่างผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย
แล้วค่อย ๆ สืบค้นลงไปอย่าง “ผู้สังเกตการณ์”
โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบความรู้สึก
เมื่อตัวเราปราศจากการครอบงำจากทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะความเป็นหญิงเป็นชาย ความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โง่หรือฉลาด เชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด มีความเชื่อแบบใด เราจะมีอิสระในการเรียนรู้ รับรู้สิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็นจริง โดยไม่มีการแทรกแซงความคิดจากเราหรือผู้อื่นที่อยู่รอบตัวเรา
สภาวะเช่นนี้กฤษณมูรติเชื่อว่า จะทำให้เราได้ใช้ปัญญาอย่างเต็มเปี่ยม รับรู้ทุกสิ่งตามที่มันเป็นจริง อย่างแท้จริง โดยไม่มีความคิดใดครอบงำ
ไม่อคติหรือข้อคิดเห็น ไม่มีการตัดสินถูกผิดดีชั่วตามความเคยชินของเรา
เขาจึงเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การเข้าถึงความจริงสูงสุดแห่งชีวิต นั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการสั่งสมข้อมูลความรู้ การจดจำคำสอน หรือแม้แต่การสร้างกฎระเบียบขึ้นมาบังคับจิตใจมนุษย์
การตื่นรู้” ไม่มีกระบวนการเหมือนการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับเวลา ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีการฝึกฝนใดจะนำพา “ความตื่นรู้” นี้มาให้เราได้ ไม่มีครูบาอาจารย์คนไหนจะทำให้เราบรรลุธรรมได้ แนวทางที่สอน บางทีอาจกลายเป็นกรอบกฎที่ล้อมเราไว้โดยไม่รู้ตัว
การฝึกฝนบางอย่างที่ปราศจากที่มาที่ไป และให้ทำตาม ๆ กันไป อาจทำให้ผู้ฝึกฝนตนยึดติดกับรูปแบบนั้นและเสียเวลาไปกับการฝึกฝน ที่ไม่อาจทำให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง
การรับรู้ การสัมผัส ทำให้เกิดความรู้สึก ความรู้สึกทำให้เกิดความอยาก ความอยากสร้างการยึดติด
การจะข้ามผ่านการยึดติดในอารมณ์จึงเป็นเรื่องยาก
และกฤษณมูรติมองว่ามันไม่อาจทำลายได้ด้วยการฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวด ไม่สามารถทำลายความหลงผิดนี้ด้วยการสวดมนต์ การนั่งสมาธินานนับชั่วโมง แต่เขาให้เราฝึกเป็นผู้สังเกต
และเฝ้ามองดูอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนเห็นอย่างชัดแจ้งว่ามันคืออะไร เมื่อเห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว อารมณ์นี้จะค่อย ๆ คลายและมลายหายไปเอง
1
ความไม่รู้” ที่เรียกว่า “ความรู้” ในความหมายของกฤษณมูรติ คือ คือการไม่นำความรู้ในรูปแบบของความทรงจำ ความเคยชินหรือข้อมูลเดิม ๆ ในความคิด มาใช้ในชีวิต แต่เขาเน้นย้ำเสมอให้ “รู้ตัว” และ “มองเห็น” ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้มันเป็น ไม่ต้องเข้าไปวุ่นวาย จัดแจง พิพากษา ตัดสินดีชั่วในตัวคนอื่น แต่ให้กลับมาดูตนเอง รู้ตนเอง รู้ดีรู้ชั่วในตนเอง เห็นแล้ววางความรู้สึกที่เห็นลง ด้วยปัญญาที่มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน
“สมาธิ” ในความหมายของกฤษณมูรติ
จึงไม่ใช่การฝึก การนั่งหลับตา การกำหนดลมหายใจ ฯลฯ ไม่ใช่การจดจ่อและกำหนดให้สมองไม่คิด เพราะการควบคุมจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง
สมาธิจึงเป็นเพียงการรับรู้ทุก ๆ ความคิดที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง โดยไม่ต้องไปคิดว่ามันถูกหรือผิด ดูและเคลื่อนไปกับความคิดที่เกิดขึ้น ในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” ไม่ใช่ “ผู้ตัดสินหรือผู้คอยจัดการ”
เมื่อเราถอยตัวเองออกมาเป็นผู้ดู ทุกสิ่งจะเริ่มสงบ ไม่วุ่นวาย ที่สุดมันจะนำไปสู่ “ความเงียบอันล้ำลึก”
ความเงียบอันเกิดจากการเข้าใจตัวเอง เข้าใจธรรมชาติและนำไปสู่ความว่างเปล่าอย่างแท้จริงในความรู้สึก
ความว่างเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องไปเสาะแสวงหา
หากแต่คือการเชื้อเชิญ การมองเห็นปัญญาที่มีอยู่แล้วในตน ไม่ต้องรอคอย ไม่ต้องปรารถนา
เหมือนสายลมที่พัดโชยชื่นท่ามกลางลมร้อน
เราเพียงเปิดหน้าต่างเอาไว้ เพื่อรับสายลมนั่น
ความรู้ตัวรู้ตนนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน
ไม่ต้องแสวงหาจากที่ใด เพราะมันมีอยู่แล้วในตัวเราเอง ขอเพียงนำสิ่งที่ไม่ใช่ปัญญาความรู้ออกไปจากจิต จิตนั้นย่อมพร้อมเสมอทุกขณะที่จะเปล่งประกายและทำงาน ตามสภาพจิตเดิมแท้ของมันเอง
โฆษณา