12 ก.ย. 2022 เวลา 08:22 • ความคิดเห็น
นิวซีแลนด์ทดลองใช้ระบบส่งพลังงาน 'ไฟฟ้าไร้สาย' ทางไกลเชิงพาณิชย์ที่แรกของโลก เพื่อนำพลังงงานไปพื้นที่ห่างไกล
.
บริษัทสตาร์ทอัพ ‘Emrod’ ในนิวซีแลนด์ได้พัฒนาวิธีการส่งพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สายในระยะทางไกลอย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องมีสายไฟฟ้าเพื่อนำพาพลังงงานไปยังพื้นที่ห่างไกล เหมาะกับพื้นที่ทุรกันดารหรือข้ามภูมิประเทศที่ท้าทาย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) ซึ่งเคยพิสูจน์การจ่ายไฟฟ้าให้กับหลอดไฟที่มีระยะทางไกลกว่า 3 กิโลเมตรเมื่อปี 1890
.
“เทสลาได้แนะนำให้คนทั่วโลกรู้จักขณะที่ยังไม่มีเทคโนโลยี มีวิสัยทัศน์อยู่ที่นั่น แต่ไม่มีความสามารถในการดำเนินการ” เกรก คุชนีร์ (Greg Kushnir) ผู้ก่อตั้ง ‘Emrod’ กล่าว “เราได้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการส่งพลังงานแบบไร้สายระยะไกลได้ซึ่งมีมาสักระยะหนึ่งแล้ว ฟังดูล้ำสมัยและน่าอัศจรรย์ แต่มันเป็นกระบวนการที่ทำซ้ำได้นับตั้งแต่เทสลาเคยทำ”
.
พวกเขาใช้เสาอากาศในการส่งพลังงานไฟฟ้าที่ถูกแปลงเป็นคลื่นไมโครเวฟและบีบมันให้แน่นจนเข้มข้นคล้ายกับลำแสง แล้วยิงไปยังจุดรับ สิ่งที่ต้องการคือจุดอ้างอิงสายตาที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้นจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่บนที่สูง เหมาะกับภูมิประเทศที่เป็นภูเขาของนิวซีแลนด์ จากนั้นตัวรับสัญญาณที่มีชื่อว่า “Rectenna” จะแปลงสัญญาณนั้นกลับเป็นไฟฟ้าและนำไปใช้งาน
.
“มีความพยายามเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์การอวกาศญี่ปุ่น หรือ นาซา พวกเขามีโครงการที่ใช้งานอยู่มานานหลายทศวรรษ แต่เป้าหมายของพวกขาแตกต่างกับเรา พวกเขาไม่ได้พิจารณาถึงประสิทธิภาพมากนักเพราะไม่ได้มองหาการใช้งานในเชิงพาณิชย์” คุชนีร์กล่าว โดยขจัดความจำเป็นในการเดินสายทองแดงยาว ๆ แบบเดิมออกไปซึ่งอาจต้องตัดต้นไม้เพื่อวางเสาที่ส่งสายไฟฟ้าแรงสูง หรือสายเคเบิลใต้น้ำราคาแพง คุชนีร์กล่าวว่าโครงสร้างเหล่านี้จะผลมีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
.
อย่างไรก็ตาม ‘Emrod’ ระบุว่าความท้าทายที่แท้จริงคือการสร้างความมั่นใจว่าปลอดภัยและให้ความรู้แก่สาธารณชน เพราะเมื่อกล่าวถึงลำแสงแล้ว ผู้คนอาจคิดว่ามันอันตราย แต่พวกเขายืนยันว่าเทคโนโลยีนี้ปลอดภัย อย่างแรกคือจุดการส่งและรับพลังงานระหว่างสองจุดนี้จะไม่สัมผัสสิ่งใดนอกจากอากาศ ถึงแม้ว่าจะมีนกบินผ่าน ลำแสงนี้ก็จะไม่เจาะผ่านใด ๆ
.
“คุณสามารถวางมือของคุณไว้ตรงกลางของการส่งกำลังพลังงานแรงสูงได้ มันไม่ใช่เลเซอร์ มันเจาะร่างกายไม่ได้” คุชนีร์กล่าว และเสริมว่า “คุณต้องอยู่ในลำแสงนั้นสักพักถึงจะรู้สึกถึงความร้อน ซึ่งร้อนขึ้นสักหนึ่งองศา” เขาอธิบายว่าเช่นเดียวกับการยืนอยู่กลางแดด ที่ดวงอาทิตย์นั้นส่งพลังงานมาและเรารู้สึกถึงความร้อนนั้น แต่แสงจากดวงอาทิตย์ก็ไม่เจาะผ่านร่างกายให้เป็นรู กระนั้น ‘Emrod’ ก็ยังคงมีระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม
.
ตัวส่งพลังงาน “จะปิดการส่งพลังงานทันทีก่อนวัตถุใด ๆ เช่นนก หรือเฮลิคอปเตอร์มาสัมผัสลำแสงหลักได้” พวกเขายังเสริมว่าเสาส่งสัญญาณจะทำงานได้ในทุกสภาพอากาศ รวมทั้งฝน หมอก หรือฝุ่นละออง ข้อจำกัดมีเพียงเส้นสายตาระหว่างสองจุด โดยมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยจากโครงสร้างพื้นฐาน ค่าบำรุงรักษาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเล็กน้อยซึ่งน้อยกว่าการวางสายปกติ
.
คุชนีร์มั่นใจว่าความสำเร็จครั้งนี้ของ ‘Emrod’ จะเป็น “ก้าวกระโดดครั้งสำคัญ ที่จะพาเราไปสู่ระดับต่อไปจริง ๆ การยิงลำแสงเป็นเทรนด์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในด้านพลังงาน”
.
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Emrod
โฆษณา