12 ก.ย. 2022 เวลา 17:39 • สุขภาพ
🌗การหักแบ่งเม็ดยา​
จะกระทำด้วยเหตุผลแตกต่างกัน
ทั้งกรณีที่แพทย์สั่งเพื่อให้ได้ขนาดยาที่เหมาะสม
หรือผู้ป่วยหักแบ่งเองให้ขนาดเล็กลงเพื่อให้กินง่ายขึ้น
โดยทั่วไปอาจเข้าใจว่ายาเม็ดทุกชนิดสามารถหักแบ่งได้ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่
การหักแบ่งเม็ดยาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาลดลง หรืออาจเกิดอันตรายจากการใช้ยานั้นได้
ปัญหาที่เกิดจากการหักแบ่งเม็ดยา
↗️การได้รับยาขนาดต่ำหรือสูงเกินไป
การหักเม็ดยาในแต่ละครั้งจะทำให้ได้รับยาในขนาดที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากการแบ่งยาให้เป็นสองส่วนเท่ากันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หากยานั้นมีขนาดมิลลิกรัมสูง​ มีช่วงที่ให้ผลในการรักษากว้าง​ การได้รับยาในปริมาณที่ต่ำหรือสูงเกินไปเพียงเล็กน้อยจะไม่มีผลต่อประสิทธิผลในการรักษาและความปลอดภัยของยา
แต่ถ้าหากยานั้นมีขนาดมิลลิกรัมต่ำถึงต่ำมาก​ การหักแบ่งเม็ดยาที่มีช่วงให้ผลการรักษาแคบ อย่างเช่น ยาโรคหัวใจ ดิจอกซิน จะทำให้มีโอกาสได้รับพิษจากยาสูง​ แม้จะได้รับยาในปริมาณที่สูงเกินไปเพียงเล็กน้อยก็ตาม
ในทำนองเดียวกันยาที่มีขนาดที่ใช้ในการรักษาต่ำมากๆ เช่น เอสโทรเจน อาจให้ผลการรักษาต่างไปจากเดิม เพราะการเปลี่ยนแปลงปริมาณยาที่ได้รับเพียงเล็กน้อย สามารถเปลี่ยนแปลงผลการรักษาของยาได้
ยิ่งถ้ายาเม็ดมีขนาดเล็ก มีรูปร่างแปลกหรือไม่สมมาตร หรือมีรอยบากเพียงด้านเดียว โอกาสเกิดความผิดพลาดในการหักแบ่งยายิ่งมีมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การหักแบ่งยาเม็ดที่มีช่วงที่ให้ผลในการรักษาแคบจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
↗️การหักแบ่งเม็ดยาอาจมีผลต่อการแตกตัวของยา อัตราการละลายของตัวยาสำคัญออกจากเม็ดยา และการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในกรณีของยาเม็ดเคลือบเพื่อมิให้ยาแตกตัวที่กระเพาะอาหาร อย่างเช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบไดโคลฟีเนค ยาประเภทนี้จะผ่านกระเพาะอาหารไปแตกตัวที่ลำไส้เล็ก แต่เมื่อหักแบ่งยาจะทำให้เม็ดยาแตกตัวที่กระเพาะอาหาร ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
ส่วนในกรณียาเม็ดออกฤทธิ์นานบางชนิด​ ที่เคลือบเม็ดยาด้วยโพลิเมอร์ การหักแบ่งยาจะทำให้กลไกการปลดปล่อยตัวยาสูญเสียไป ทำให้ได้รับยาเกินขนาดหรือได้รับพิษจากยาที่ปลดปล่อยออกมาในขนาดสูง
↗️การหักแบ่งเม็ดยาอาจมีผลต่อความคงสภาพของยา
อย่างเช่น​ การหักยาเม็ดเคลือบบางชนิดที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้ยาที่สลายตัวง่ายเมื่อสัมผัสกับความชื้นและอากาศ ยาที่หักแบ่งแล้วตั้งทิ้งจะเกิดการสลายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณพื้นผิวที่ถูกหักแบ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่สัมผัสกับความชื้นและอากาศอย่างเต็มที่
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรหักแบ่งยาเม็ดที่ได้รับในคราวเดียวกันทั้งหมด และเมื่อมีการหักแบ่งเม็ดยาแล้ว ควรเก็บรักษายาส่วนที่เหลืออย่างเหมาะสม หรืออาจจำเป็นต้องทิ้งยาส่วนที่เหลือไปหากตัวยาสลายตัวเร็วจนไม่ให้ผลในการรักษา เช่น ในกรณีของยาเม็ดแอสไพริน
ข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งคือ ความคงสภาพของยาที่บรรจุในแผงอลูมิเนียม เพราะการนำยาเม็ดที่บรรจุในแผงอลูมิเนียมออกมาหักแบ่ง จะทำให้เม็ดยาสัมผัสกับความชื้นและอากาศ ซึ่งมีผลทำให้ตัวยาสลายตัวเร็วกว่ายาที่อยู่ในแผงอลูมิเนียม
🌗การหักแบ่งยาเม็ดออกเป็นสองส่วนหรือมากกว่า​สองส่วน​ เป็นแนวปฏิบัติ​ทางการแพทย์และเภสัช​กรรมยอมรับ​กัน​นาน อย่างไรก็ตาม การหัก​แบ่ง​ยาเม็ด​อาจก่อให้เกิด​ปัญหาในลักษณะ​ต่าง​ๆได้ เช่น​
↗️ได้รับ​ยาในปริมาณ​ที่​ต่ำหรือ​สูงเกินไป
↗️ไม่ได้​รับ​ประโยช​น์จากการใช้​ยาเท่า​ที่ควร เพราะการหัก​แบงยาเม็ด​อาจมีผลต่อ​การแตกตัว​ของยา อัตรา​การละลายของตัวยาสำคัญ​ออกจากยาเม็ด​ และความคงสภาพของยา
↗️ผู้ป่วยบางกลุ่ม​เช่น​ ผู้​สูงอายุ ผู้​ปวยโรคข้อ​เสื่อม​ ผู้ป่วยโรคพาร์กิน​สัน​ และผู้​ป่ว​ยที่​มี​ปัญหา​เกี่ยวกับ​ความจำ​หรือ​สายตา ยังเป็น​ผู้ที่​มี​ปัญหาในการหักแบ่งยาเม็ดมากกว่า​ผู้​ป่วยปกติทั่วไป
👨‍⚕️ดัง​นั้น แพทย์​และเภสัชกร​ ควรตระหนัก​ถึง​ผลเสีย​ที่อาจเกิด​ขึ้น​จากการหักแบ่งยาเม็ด และควรตรวจสอบวายาเม็ด​แต่​ละชนิดสามารถหัก​แบ่งได้หรือไม่ ก่อนที่จะส่งให้​ผู้​ป่วยหักแบ่งยาเม็ด
😀มีปัญหา​เรื่อง​การ​ใช้​ยา​ เชิญ​ปรึกษา​เภสัชกร​
.
.
💢
การหักแบ่งยาเม็ด (Tablet splitting) - มหาวิทยาลัยศิลปากร
รายการยาที่ห้ามหักแบ่ง บด เคี้ยวหรือทำให้เม
หน่วยบริการเภสัชสนเทศ
.
.
.
.
.
.
.
.
.
. 🤔 Case ในร้านยา
ยา​ Singulair 4 mg ชนิดผง ขาดตลาด​ ยา​ Singulair 5 mg ชนิดเม็ดเคี้ยวยังพอหาได้​ แต่ในร้านมี​ Montelukast​ 10 mg สามารถหักแบ่งยาเม็ดได้หรือไม่
.
.
Posted 2022.09.12
โฆษณา