14 ก.ย. 2022 เวลา 02:37 • การตลาด
ทำไมแพงแค่ไหน ก็ใจสู้ ! เจาะกลยุทธ์การตลาดสไตล์ Apple เปิดตัว iPhone ใหม่ยังไงให้คนพร้อมอุดหนุนตลอดเวลา !
งานเปิดตัว iPhone 14 เพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน ก็ทำชาวเรากระเป๋าตังค์สั่นได้ทั้งประเทศ ! อยู่ดี ๆ โทรศัพท์ที่มีอยู่ก็ออกอาการอ๊อง ติด ๆ ดับ ๆ ขึ้นมาซะอย่างนั้น ขอบอกว่านี่คืองานถนัดของ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ที่ป้ายยาเก่งจนไม่ว่าจะออกสินค้าใหม่ (ที่ไม่ค่อยต่างจากเดิมเท่าไหร่) คนก็พร้อมซื้อและอุดหนุนอยู่ตลอด~
แต่ของแบบนี้มันมีที่มา ! เพราะเบื้องหลังมันอยู่ที่การตลาดสไตล์ Apple ที่คงคุณภาพของสินค้า และภาพลักษณ์ จนสร้างฐานแฟนที่มีความ Loyalty สูงเฉียดฟ้า รวมถึงเทคนิคการโปรโมตสินค้าใหม่ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ อย่างชัดเจน
เกริ่นมาขนาดนี้ เราก็ไม่พลาดที่จะพาทุกคนไปเจาะเบื้องหลังกลยุทธ์ของ Apple กับการเปิดตัว iPhone ใหม่ยังไงให้คนพร้อมอุดหนุนตลอดเวลา ! ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปอ่านสาระดี ๆ กันเลยจ้า~
1. ใช้ “ข่าวลือ” เพื่อให้เกิดการบอกต่อ
แม้ Apple จะพยายามก็บความลับของสินค้าใหม่มากแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่าเราจะเห็น “ข่าวลือ” ที่ถูกปล่อยออกมาอยู่ตลอด แถมข่าวลือส่วนมาก ก็ดั๊น เป็นข่าวจริงซะอย่างนั้น !
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในจิตวิทยาที่ Apple ใช้มาโดยตลอด กับการทำให้แบรนด์ดูลึกลับและน่าค้นหา จนทำให้คนเกิดความสงสัย และจิตนาการไปต่าง ๆ นานาถึงสินค้าใหม่ที่กำลังจะออก แต่ที่น่าแปลกคือ ส่วนมากข่าวลือที่บอกต่อมักจะเป็นความจริง ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันไปเป็นวงกว้างว่า นี่เป็นความจงใจปล่อยข่าวของแบรนด์ หรือเป็นความบังเอิญกันแน่ ?!
อย่างไรก็ตาม “ข่าวลือ” เหล่านั้นก็ส่งผลดีต่อแบรนด์เป็นอย่างมาก เพราะขึ้นชื่อว่าเป็น “ข่าวลือ” ย่อมได้รับความสนใจจากคนมากกว่าข้อมูลปกติอยู่แล้ว ทำให้แบรนด์สามารถสร้าง Awareness ได้ตั้งแต่สินค้ายังไม่เปิดตัวเลยด้วยซ้ำ
2. สร้าง Wow Effect ด้วยงานเปิดตัว
หลังจากโหมกระหน่ำให้คนสนใจด้วย “ข่าวลือ” จนอิ่มตัวเต็มที่แล้ว Apple ก็ออกมาเฉลยทุกข้อสงสัยในข่าวลือเหล่านั้นผ่าน “งานเปิดตัว” ที่สร้าง Wow Effect ให้แก่ผู้บริโภค
โดยงานเปิดตัว iPhone 14 ในวันที่ 7 กันยายน 2022 ที่ผ่านมานั้น ใช้ชื่อว่า Apple Event ‘Far Out’ งานที่คอไอทีทั่วโลกจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เรือธงของแบรนด์อย่าง iPhone 14 รวมถึง Apple Watch Ultra และ Airpods Pro รุ่นใหม่ที่น่าจับตามองอย่างมาก
ด้วยความที่สื่อให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้เราได้เห็นคอนเทนต์เกี่ยวกับงาน Far Out ผ่านหน้าไทม์ไลน์อยู่ตลอด นับว่าเป็นการดึงความสนใจ และสร้าง Wow Effect จนไวรัลได้อย่างยอดเยี่ยม
3. จูงใจด้วยจิตวิทยาการตั้งราคา
เคยสงสัยว่าทำไมราคาสินค้าของ Apple นั้น ขึ้นเอา ๆ แข่งกับราคาน้ำมัน แต่กลับมีคนยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าราคาแพงเหล่านั้นโดยไม่ปริปากบ่น ? สาเหตุก็เพราะ Apple เค้ามีเทคนิคการตั้งราคาที่จูงใจให้คนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ง่ายขึ้นนั่นเอง
เทคนิคนี้เรียกว่า Decoy Effect หรือ การตั้งราคาแบบหลอกล่อ เป็นการนำจิตวิทยาเข้ามาผสมผสาน เพื่อจัดการความลังเลเวลาการซื้อของลูกค้า โดยวิธีการก็ง่ายมาก !
iPhone 14 ขนาด 128 GB ราคา 32,900 บาท
iPhone 14 ขนาด 512 GB ราคา 45,900 บาท
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 รุ่นนี้มีราคาห่างกันถึง 13,000 บาท ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกแพง และไม่อยากซื้อ iPhone 14 ขนาด 512 GB ซึ่งเป็นรุ่นที่ทำกำไรให้แบรนด์ได้เยอะกว่า
ทำให้แบรนด์ผลิตรุ่น “ตรงกลาง” ขึ้นมา อย่าง iPhone 14 ขนาด 256 gb ซึ่งมีราคาห่างจากรุ่น ขนาด 512 gb เพียงแค่ 9000 บาท ซึ่งทำให้เราตัดสินใจง่ายขึ้นในการขยับไปซื้อรุ่นตัวท็อปที่ทำกำไรกับแบรนด์ได้เยอะกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่ทุกคนที่โดนจิตวิทยานี้เล่นงาน เพราะมีคนอีกส่วนเหมือนกันที่เลือกซื้อสินค้าจาก “ฟังก์ชัน” ที่เหมาะสมและตอบโจทย์กับตัวเองมากกว่า
4. หนีไปไหนไม่ได้ด้วย Ecosystem ไร้รอยต่อ
1
อีกหนึ่งข้อดีอันทรงพลังของแบรนด์ที่ใครที่ได้หลุดเข้ามาลองใช้แล้ว ส่วนใหญ่จะหาทางออกกันไม่ค่อยเจอ นั่นก็คือ Ecosystem ของ iOS ที่เชื่อมต่อซึ่งกันและกันแบบไร้รอยต่อ (แต่ไม่ทอเต็มผืน)
ความพิเศษของ Ecosystem นี้ จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้เราในการส่งต่อข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ระบบ iOS ได้อย่างลื่นไหลทั้งระบบ ตั้งแต่ iPhone, iPad, ไปจนถึง Mac ซึ่งทำให้เวลาเรามีอุปกรณ์อย่างนึงของ Apple แล้ว จะต้องมีชิ้นต่อไป “งอก” ออกมาด้วยเสมอ
และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้สาวก Apple ยังคงเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ใน Ecosystem นี้ไม่ยอมออกไปไหน โดยเฉพาะถ้าคุณมีอุปกรณ์ของ Apple มากกว่า 1 ชิ้น เป็นเรื่องยากมากที่คุณจะกระโดดออกจากวงจรนี้ และเปลี่ยนไปใช้โทรศัพท์ยี่ห้ออื่น
5. ใช้ Copy โฆษณาเรียบง่าย ไม่ยัดศัพท์เทคนิค
ความเรียบง่าย คือหัวใจหลักของ Apple นอกจากดีไซน์ และการใช้งานที่เน้นความง่ายสะดวก และตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุดแล้ว แม้แต่ Copy บนโฆษณาของแบรนด์ ก็ยังใช้กลยุทธ์นี้ในการดึงดูดผู้บริโภค
หากเพื่อน ๆ ลองเข้าไปดูบนหน้าเว็บของ Apple สิ่งแรกที่เราจะเห็นก็คือภาพโปรดักซ์สินค้า และคำอธิบายที่เรียบง่ายแต่ได้ใจความ เช่น โปรสมชื่อ, สดใสสุดพลัง, พลังพิเศษในมือคุณ และอื่น ๆ อีกมากมาย
แบรนด์หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิคชวนปวดหัวมาอยู่บน Copy แต่เลือกที่จะนำเสนอประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากผลิตภัณฑ์ของแบรนด์มากกว่า ซึ่งถือเป็นการดึงดูดใจ และเข้าถึงคนที่ไม่ใช่คอไอทีได้อย่างยอดเยี่ยม
6. เน้นภาพลักษณ์พรีเมียม คงดีไซน์เหมือนรุ่นก่อน
แม้จะโดนข้อครหากันมานักต่อนัก ว่า Apple ออก iPhone รุ่นใหม่แต่ละที แทบจะแกะดีไซน์รุ่นเดิมมา แล้วเปลี่ยนแค่ตำแหน่งวางกล้อง แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ Apple เค้าไม่ได้ขี้เกียจออกแบบใหม่ แต่เป็นความตั้งใจของแบรนด์ในการคง “เอกลักษณ์” ของ iPhone ไว้นั่นเอง
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ผู้บริโภคมีภาพจำไปแล้วว่า iPhone ต้องมีรูปลักษณ์แบบนี้ มีรอยบากแบบนี้ ซึ่งทั้งหมดคือ “ความพรีเมียม” ในสายตาของพวกเขา ทำให้รุ่นต่อไปที่ออกมา หากมีดีไซน์ที่ใกล้เคียงเดิม คนก็จะรู้ได้ทันทีว่า นี่คือ iPhone ! และคนที่ใช้ก็จะได้ภาพลักษณ์ที่พรีเมียมด้วยนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย ? น่าจะรู้สาเหตุของกระเป๋าตังค์สั่น หรือโทรศัพท์ติด ๆ ดับ ๆ แล้วใช่มั้ย ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ที่ Apple ใช้นั้น สามารถนำไปปรับใช้และประยุกต์กับธุรกิจของเพื่อน ๆ ได้อีกเช่นเดียวกัน ส่วนใครที่มีแบรนด์ไหนอยากให้เราไปเจาะลึกอีก ก็ทักมาบอกแอดได้เลยจ้าา พร้อมเสิร์ฟความรู้ดี ๆ ให้เสมอ~
โฆษณา