14 ก.ย. 2022 เวลา 08:14 • ไลฟ์สไตล์
วิธีเอาชนะความขี้เกียจ ทำเลย
เมื่อพูดถึงความขี้เกียจ เชื่อแน่ว่าทุกคนคงเคยมีความรู้สึกนี้ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องทำอะไรที่น่าเบื่อ หรือเราเหนื่อยเกินไป อยากพักบ้าง หรือวันที่ฝนตก อากาศดี น่านอน ก็รู้สึกขี้เกียจ นี่เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเป็นการทำงาน แล้วรู้สึกขี้เกียจ คงจะต้องแก้ไข หาวิธีเอาชนะความขี้เกียจให้ได้ และนี่คือวิธีที่ช่วยให้เราเอาชนะขี้เกียจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลองทำดูเลยค่ะ
เครดิตภาพ:  Pexels
การเอาชนะความขี้เกียจมีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ
1. ตั้งใจให้แน่วแน่
2. เตรียมตัวให้พร้อม
3. ลงมือทำ
4. มีแรงบันดาลใจอยู่เสมอ
ในแต่ละขั้นตอนจะมีวิธีการปฏิบัติอย่างน่าสนใจดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ตั้งใจให้แน่วแน่
1.1 เราจะต้องหาว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ต้นเหตุคืออะไร
เช่น การขาดแรงกระตุ้น เหนื่อย กลัว หรือเปล่า หรือไม่มีแรงบันดาลใจ มีปัญหาค้างคา เมื่อเราทราบปัญหาแล้ว เราก็จะสามารถแก้ไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 จดจ่ออยู่กับปัญหาที่แท้จริง
ขณะที่เราคิดถึงต้นเหตุของความขี้เกียจ ลองจfจ่ออยู่กับมัน เราอาจจะแก้ไขมันได้ แต่อาจไม่เร็วทันใจ เช่น
หากเราเหนื่อย ควรหาเวลาพักผ่อน แม้ว่าเวลาของเราไม่เอื้ออำนวย เราอาจจะต้องยอมเสียสละบ้าง แต่ผลที่จะตามมานั้นจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
1
หากมีงานมากมาย เราสามารถแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ แล้วทำให้งานน้อยลงได้หรือไม่ โดยการจัดลำดับก่อนหลังแล้วค่อยๆ จัดการทีละอย่าง
หากเรากลัว คิดก่อนว่าเรากลัวอะไร เรากลัวที่จะพัฒนาศักยภาพของเราหรือเปล่า กลัวการทำตามจุดมุ่งหมาย และการไม่มีความสุขหรือเปล่า
หากเราเสียใจ เจ็บปวด เวลาจะช่วยได้ ความโศกเศร้าและอารมณ์ในแง่ลบจะไม่หายไปเพียงเพราะเราอยากให้มันหายไป แผลต้องใช้เวลาในการรักษา สิ่งที่เราทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง คือ เราต้องกดดันตัวเองให้น้อยลง เพื่อจะได้ยุติความเจ็บปวด
หากไม่มีแรงบันดาลใจ ลองดูว่าเราสามารถเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของเราได้หรือไม่ เราสามารถพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างออกไป
1.3 จัดระเบียบ
การมีข้าวของรกๆ อยู่รอบๆ ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะทำงาน ในรถ ในบ้าน สามารถเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงกระตุ้นในการทำงานของเราหมดลงได้ เราจึงควรจัดระเบียบ หรือแม้แต่กิจวัตรประจำวันของเรา ลองจัดระเบียบให้กับสิ่งเหล่านี้
1.4 สำรวจการพูดกับตัวเอง
บางครั้งพฤติกรรมของเราทำให้เกิดความคิดต่างๆ และบางครั้งความคิดกลับทำให้เกิดพฤติกรรม อย่าพูดกับตัวเองในแง่ลบ การคิดว่า "โอ้ย ฉันขี้เกียจ ฉันไม่มีค่า" จะไม่ทำให้เราก้าวหน้า
 
ทุกๆ ครั้งที่เห็นว่าตัวเองทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ลองมองมุมกลับให้เป็นแง่บวก "เช้านี้ผ่านไปแบบสบายๆ แต่ตอนนี้ถึงเวลาต้องเติมพลังแล้ว บ่ายแล้ว ฉันจะเตรียมพร้อม" เราจะพบว่าคลื่นแง่บวกสามารถเปลี่ยนแปลงเราได้
1.5 ฝึกสมาธิและอยู่กับปัจจุบัน
เรามักจะคิดถึงสิ่งต่างๆ ในอนาคตมากกว่าที่จะอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันอาจเป็นเวลาที่วิเศษอยู่ในตอนนี้ เมื่อเราเริ่มอยู่กับปัจจุบันได้ เราจะได้รับประโยชน์กับตัวเอง
ดังนั้นเมื่อเราเริ่มคิดถึงอดีตหรืออนาคต รีบดึงตัวเองกลับมาสู่ปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเห็นอะไรรอบๆ ตัว เช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่ได้ยิน ให้สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกดีที่มีชีวิตอยู่บนโลก บางครั้งการหยุดพักและใช้ชีวิตให้ช้าลง สามารถเพิ่มพลังให้เรามีความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วได้
1.6 คิดถึงผลประโยชน์
เมื่อเราจดจ่ออยู่กับปัจจุบันได้แล้ว ต่อไปลองจดจ่อกับปัจจุบันที่ดีขึ้น จะเป็นอย่างไรหากเราได้รับประโยชน์จากปัจจุบัน แทนที่จะนอนอยู่บนเตียงตอนเช้า จะเป็นอย่างไรหากเราไปเล่นโยคะ ทำงานให้เสร็จ หรือทำอาหารเช้าอร่อยๆ
จะเป็นอย่างไรหากคุณทำสิ่งเหล่านี้ทุกวันใน 6 เดือนข้างหน้า หากเราทำแบบนั้นได้ก็จะยอดเยี่ยมมาก เราควรมีแต่ความคิดแง่บวก เราควรทำแบบนั้นจนเป็นนิสัย ทุกๆ อย่างก็จะง่ายขึ้น
ขั้นตอนที่ 2 เตรียมตัวให้พร้อม
2.1 รีบตื่นแต่เช้าลุกจากเตียง
มีงานวิจัยบอกว่าการกดเลื่อนนาฬิกาปลุกแล้วนอนต่อนั้นไม่ดีต่อเรา เราอาจจะคิดว่า การนอนต่อในผ้าห่มอุ่นๆ จะทำให้มีพลังมากกว่าเดิม แต่คิดผิด เราจะยิ่งรู้สึกเหนื่อยล้าในวันนั้น เราควรลุกจากเตียงเลย
สมองของเราจะตามแรงกระตุ้นของร่างกาย หากลุกออกจากเตียง เราก็จะพร้อม กระตือรือร้น และรู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้นหลังจากนั้น
2.2 ตั้งเป้าหมายที่น่าจะทำได้
เขียนรายการที่ต้องทำทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ จัดลำดับสิ่งที่ต้องทำโดยดูเวลาที่ใช้และความจำเป็น โดยการเขียนบันทึกประจำวันเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของเรา บันทึกสิ่งที่ช่วยเราหรือเป็นอุปสรรคในการไปให้ถึงเป้าหมายนี้ เพื่อจะได้เป็นการพัฒนาตัวเอง
ลองทำบอร์ดที่จะบ่งบอกวิสัยทัศน์ แสดงให้เห็นเป้าหมายและความฝันของเรา ใช้ความสร้างสรรค์ในการติดภาพหรือบทความดีๆ ลงไป บอร์ดนี้จะเป็นแผนผังความฝันของคุณ ทุกๆ วันที่ตื่นมาให้คุณมองที่บอร์ดนี้ แล้วมุ่งมั่นไปให้ถึงฝัน สิ่งนี้จะทำให้มีแรงบันดาลใจให้ใช้ชีวิตในแต่ละวัน และผลักดันเราไปถึงความฝัน
อาจใช้วิธีการเขียนแผนผังความคิด เขียนบันทึก เขียนบรรยาย หรือเล่าให้คนอื่นฟัง การสัญญาว่าจะทำอะไรสักอย่างด้วยการสัญญาผ่านทางออนไลน์ เป็นต้น
2.3 ทำรายการของสิ่งที่อยากได้
เป้าหมาย และแรงบันดาลใจที่อยากก้าวไปข้างหน้า เมื่อทำสำเร็จแล้วก็ขีดออก การตั้งเป้าหมายจำเป็นต้องมีความทุ่มเท การทำรายการจะทำให้เรามีพลัง ทำรายการไว้หลายๆ ชุดแล้ววางไว้หลายๆ ที่ ในที่ที่เราเห็นบ่อยๆ เช่น บนตู้เย็น บนโต๊ะข้างเตียง ข้างคอมพิวเตอร์ บนกระจกในห้องน้ำ
เมื่อเราเริ่มขีดฆ่าบางอย่างออกแล้ว จะหยุดไม่ได้ จะเห็นว่าเรากำลังก้าวไปข้างหน้า และทำให้เรารู้สึกดีจนต้องไปต่อ
2.4 ทบทวนความสำคัญและคุณค่าของปัญหาหรือเป้าหมายเป็นประจำ
เมื่อมีเป้าหมายแน่นอนแล้ว ต้องย้ำเตือนตัวเองถึงความสำคัญของสิ่งนั้น และเห็นภาพเป้าหมายหรือวิธีแก้ปัญหา มิฉะนั้นจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจและเจอทางตันได้ง่าย จะทำให้ขี้เกียจ
การประเมินคุณค่าและความสำคัญของปัญหาและเป้าหมายอยู่เสมอ จะทำให้เราจดจ่อ และกระตือรือร้น
2.5 บอกตัวเองว่าเราทำได้
การตัดสินใจและลงมือทำสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ เราสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพียงต้องคิดและเชื่อ
หากรู้สึกว่าติดขัด ลองลุกขึ้นมาทำงานทันที และบอกตัวเองว่า "ถึงแม้นิสัยเดิมๆ ที่ชอบหยุดอยู่เฉยๆ ตอนนี้ฉันลุกขึ้นมาแล้วและฉันจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ" และไม่มีการพูดว่า"ถ้าเกิดวันนั้น...” คำพูดนี้มีไว้สำหรับคนที่ไม่อยากได้รับการเติมเต็มในชีวิตเท่านั้น
2.6 ทำสิ่งเล็กๆน้อยๆ
การลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างบางครั้งอาจเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเป็นเรื่องเล็กๆ เราก็จะทำได้ง่ายขึ้น เช่น รีดผ้า อาบน้ำ เราจะรู้สึกตื่นตัวขึ้น และสามารถทำสิ่งที่คุณอยากทำให้เสร็จจริงๆ ได้
2.7 ออกกำลังกาย
ประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้นมีมากมาย แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการรู้สึกมีพลังตลอดทั้งวัน การออกกำลังนั้นทำให้เลือดไหลเวียน ทำให้ระบบเผาผลาญทำงาน และทำให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงทั้งวัน เราลองใส่การออกกำลังกายเข้าไปในกิจวัตรประจำวัน เป้าหมายควรจะอยู่ประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์
เมื่อออกกำลังกายแล้ว ก็ต้องทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย อาหารขยะไม่สามารถให้คุณค่าทางโภชนาการที่ร่างกายต้องการในการตื่นตัวได้ ร่างกายที่ไร้พลังงานจะทำให้รู้สึกขี้เกียจและเฉื่อยชา
เครดิตภาพ:  Pixabay
2.8 แต่งตัวให้รู้สึกดี
บางครั้งเมื่อเรารู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อาชีพอะไร การเปลี่ยนเสื้อผ้าสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณได้ หากไม่เชื่อ อยากให้ลองคิดแบบนี้: เราจะพูดกับผู้ชายใส่สูทว่าอะไร เพียงไม่นานผู้ชายที่ใส่สูทก็จะอยู่ในโลกที่ทุกคนพูดกับเขาแบบผู้ชายใส่สูท
ขั้นตอนที่ 3 ลงมือทำ
3.1 เริ่ม
ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น การเอาชนะความเฉื่อยชาเป็นเรื่องธรรมดาที่เรา
ต้องเผชิญ การตั้งใจทำเรื่องยากๆ จะสร้างแรงผลักดัน และเราจะมีความมั่นใจที่จะทำ รวมถึงเห็นว่าสิ่งนั้นน่ากลัวน้อยลง
หากเราขี้เกียจก็เท่ากับว่า เรากีดกันตัวเองออกจากความเป็นไปได้ต่างๆ ของชีวิต และนั่นคือการทำลายตัวเอง การพัฒนาทัศนคติที่คุณมีต่อความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน และการเรียนรู้ที่จะอดทนต่อสิ่งต่างๆ จะทำให้คุณมีความยืดหยุ่น และจะพบว่าคุณมั่นคงกว่าเดิม
เมื่อใดก็ตามที่บางอย่างดูยิ่งใหญ่ ยาก และไม่น่าทำ คุณก็แค่ลงมือทำ อย่าบ่น อย่าหาข้ออ้าง และอย่าต่อสู้กับมัน เพียงแค่ก้าวออกไปทำมันเลย
ในการช่วยหาแรงจูงใจให้ตัวเองนั้น ลองใช้กฎ 5 วินาทีดู เมื่อเราเริ่มรู้สึกเครียด หรืออยากผัดออกไปก่อน ลองให้เวลากับตัวเองสัก 5 วินาที ในการเริ่มทำกิจกรรมนั้น นี่จะช่วยไม่ให้เราเอาแต่นั่งพยายามหาเหตุผล และทำให้เดินหน้าต่อ
3.2 ค่อยๆ ทำ
การแบ่งงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเรื่องเล็กเท่าไหร่ เรื่องนั้นก็ยิ่งทำได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เมื่อหาวิธีการทำงาน หรือทำตามเป้าหมายที่มีทั้งการควบคุมตัวเองและการพักผ่อนได้แล้ว เราจะรู้สึกว่าทำได้มากกว่า จะรู้สึกตื่นตระหนก
โดยปกติแล้ว ความขี้เกียจเป็นความรู้สึกท่วมท้นไปกับทุกสิ่งและอยากยอมแพ้ เพราะภาระที่อยู่ตรงดูจะหนักเกินไป ทางแก้ไขก็คือความเชื่อมั่นในพลังแห่งสิ่งเล็กๆ
ไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถสลับงานไปมาได้ เราทำได้แน่นอนเพราะความหลากหลายเป็นรสชาติของการรักษาความสนใจเอาไว้ สิ่งที่วิธีนี้ตั้งใจจะหมายถึงก็คือ งานเล็กๆ สามารถแยกออกมาทำได้ โดยมีช่วงพักระหว่างการทำงาน แทนที่จะทำนู่นทำนี่ไปพร้อมๆ กัน
สำหรับการสลับงานไปมา หาเวลาพักที่แน่นอนเพื่อให้การกลับมาทำงานที่ทำค้างไว้นั้นทำได้ง่ายขึ้น มักจะมีการกล่าวว่า คนที่บ่นว่าตนไม่มีเวลา กำลังสูญเสียเวลาไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน
 
สมองของมนุษย์จะทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพเมื่อมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ว่าจะต้องทำหลายๆ อย่างในเวลาที่กำหนดไว้อย่างเร่งรัด พูดง่ายๆ คือ การทำงานหลายๆ อย่างทำให้เราช้าลง อย่ารู้สึกผิดถ้าจะต้องค่อยๆ ทำงานต่างๆ ตามลำดับความสำคัญ
3.3 สร้างความฮึกเหิมให้กับตัวเอง
เราคือโค้ชส่วนตัวของตัวเองและเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เราสามารถทำให้ตัวเองลงมือทำได้ด้วยการบอกตัวเองถึงสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจต่างๆ และยืนยันในการกระทำของเรา
บอกตัวเองว่า "ฉันอยากทำสิ่งนี้ ฉันกำลังทำสิ่งนี้อยู่" และ "ฉันจะพักเมื่อฉันทำเสร็จและฉันสมควรได้พักเพราะทำงานเสร็จ" พูดสิ่งเหล่านี้ออกมาดังๆ ถ้าจำเป็น เราจะรู้สึกมีกำลังใจด้วยการพูดถึงการกระทำของตัวเอง
การพูดถ้อยคำให้กำลังใจกับตัวเองซ้ำๆ ในหนึ่งวันสามารถช่วยได้ เช่น "ฉันรู้ว่าฉันทำได้" เรายังสามารถวาดภาพว่างานนี้เสร็จแล้ว และเฝ้ารอความรู้สึกแห่งความสำเร็จที่เราจะรู้สึกเมื่อทำเสร็จ
3.4 ขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
หลายๆ คนกลัวว่าการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นนั้นจะเป็นเรื่องผิด ไม่ว่าเราจะรู้สึกแบบนี้ เพราะเราเคยผิดใจกันมาก่อน หรืออยู่ในที่ทำงานที่มีการแข่งขันสูงมาก นี่เป็นทัศนคติที่ไม่ดีต่อชีวิต
พวกเราเป็นสัตว์สังคมและการมีชีวิตอยู่ของเรานั้นคือการแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น พยายามอยู่กับคนที่สนับสนุนและช่วยผลักดันเรา หากเรามีความสัมพันธ์ที่น่าเหนื่อยหน่าย เราจะเห็นได้ว่าความขี้เกียจนั้นเป็ปัญหา หากลุ่มคนที่ทำให้คุณรู้สึกดีและแนะนำแนวทางให้คุณได้
3.5 จริงจังกับตัวเอง
อย่าอยู่ใกล้โซฟาจนกว่าคุณจะได้พัก เมื่อมานั่งพักแล้ว กำหนดเวลาที่จะกลับไปทำงานที่ค้างอยู่ เช่น อ่านหนังสือเรียน หรือซักผ้ากองใหญ่ เป็นต้น การมีวินัยในตัวเอง คือ การทำสิ่งที่ควรทำในเวลาที่ควรทำ ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเริ่มฝึกกำจัดความขี้เกียจเร็วแค่ไหน
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ทำได้ยากที่สุด หาจุดสมดุลระหว่างการผ่อนผันและความเข้มงวดกับตัวเอง และจัดลำดับให้งานมาก่อนความสุข
รางวัลเป็นสิ่งที่หอมหวานเมื่อต้องรอ และเมื่อถึงเวลาที่ควรได้รับ หากคุณดูทีวี 2 ชั่วโมงหลังจากทำงานไปเพียง 10 นาที นั่นหมายความว่ากำลังทำให้ชีวิตยากขึ้น ฝืนตัวเองไว้ เราจะรู้สึกดีกว่าในระยะยาว
3.6 ชมตัวเองในทุกๆ ขั้นตอน
ก่อนที่คุณจะทำตามวิธีที่นี้ จำไว้ว่ามันไม่ใช่การอวดดี แต่มันคือการรักษาแรงบันดาลใจ เมื่อใดก็ตามที่เราทำสำเร็จไปอีกขั้น ทำตามเป้าหมายเล็กๆ ได้ คุณควรหาวิธีทำให้ตัวเองมีความสุข การทำอะไรสำเร็จจะได้ทำให้คุณรู้สึกดีทุกๆ ครั้ง
ฉลองความสำเร็จโดยการบอกตัวเองว่าเราทำมาดีแล้ว พูดกับตัวเองว่า "ดีมาก เธอทำได้แล้ว พยายามต่อไป แล้วเธอจะทำทั้งหมดได้สำเร็จ"
เนื่องจากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นั้นประกอบไปด้วยความสำเร็จเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกันมากมาย (ในความสำเร็จเล็กๆ นั้นเองก็ยิ่งใหญ่) เราควรจะตระหนักถึงความขยันขันแข็งของเราอยู่เสมอ
ขั้นตอนที่ 4 มีแรงบันดาลใจอยู่เสมอ
4.1 เรียนรู้ที่จะให้รางวัลกับตัวเองกับสิ่งเล็กๆ ที่ทำได้หรือพยายามทำ
การให้รางวัลกับตัวเองสม่ำเสมอ จะทำให้การทำงานนั้นสนุกขึ้น และทำให้ไม่หลงทาง หากเราทำอะไรบางอย่างที่เราไม่ยอมทำเมื่อวันก่อน หรือบางอย่างที่กลัว เราก็สมควรจะได้รับรางวัล
เราจะสร้างความมั่นใจให้ตัวเองว่า เรากำลังทำในสิ่งที่ถูก เมื่อเราให้รางวัลตัวเองหลังจากทำบางอย่างได้สำเร็จ หรือเมื่อก้าวผ่านขั้นตอนเล็กๆ ไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
รางวัลนั้นควรเป็นรางวัลที่เรียบง่ายแต่มีผลต่อเรา เช่น วันหยุดยาว การไปดูหนัง การทานขนมที่มีแคลอรีสูง (นานๆ ทีเท่านั้น) หรือสิ่งอื่นๆ เก็บรางวัลใหญ่ๆ ไว้สำหรับความสำเร็จโดยรวม การให้รางวัลตัวเองนี้จะทำให้จิตใจของเราอยากทำงานเพื่อจะได้รับรางวัล
การหยุดพักเป็นทั้งรางวัล และความจำเป็น อย่าลังเลที่จะหาเวลาพักสั้นๆ เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทำให้หัวโล่ง ปราศจากความขี้เกียจ
4.2 เขียนเป้าหมายในแต่ละสัปดาห์
รายการของเป้าหมายรายสัปดาห์จะช่วยให้เรามุ่งมั่นและมีแรงผลักดัน เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการที่เป้าหมายจะเปลี่ยนไป เราจะได้หาวิธีที่เราทำแล้วมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย หากมันเริ่มเปลี่ยนไป รายการของเราก็ควรจะเปลี่ยนไปด้วย
4.3 จำไว้ว่าชีวิตคือการซื้อขายต้นทุนและกำไร
การจะมีความสุขกับผลกำไรก็ต้องมีต้นทุนที่ต้องเสีย ประเมินว่ากำไรนั้นคุ้มค่ากับต้นทุนที่จะเสียไปหรือไม่ หากคุ้มค่า (และส่วนใหญ่มันจะคุ้มค่า) กระตุ้นความเป็นผู้ใหญ่ของเราเพื่อรวบรวมความกล้า ความอดทน และความมีวินัย ที่จะทำให้มีแรงที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่มีใครได้สิ่งที่อยากได้มาโดยไม่ต้องใช้ความพยายามและไม่มีความยาก ลำบาก
4.4 รู้ไว้ว่าการทำงานนี้คุ้มค่า
ผู้เชี่ยวชาญ มืออาชีพ และอัจฉริยะหลายคนยอมรับว่าความสำเร็จของพวกเข้ามาจากหยาดเหงื่อ 99% และความสามารถเพียง 1% หากมีความสามารถแต่ไม่มีวินัยก็จะไม่ก้าวหน้าเลย
ความเป็นเลิศทางวิชาการ การเงิน กีฬา ศิลปะการแสดง และความสัมพันธ์ ล้วนต้องการความมั่นคงและความรอบคอบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการทำงานที่เราต้องทุ่มเทสิ่งที่ดีที่สุดของเราทั้งในด้านอารมณ์และร่างกาย
เราจะต้องเปลี่ยนความอยากเอาตัวรอดและก้าวหน้าของคุณให้กลายเป็นความอยากทำงาน เพราะการทำเช่นนี้เป็นทั้งเรื่องจำเป็นและมีประโยชน์
เราจะไม่ได้เป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ นักวิ่งฝีมือฉกาจ พ่อครัวมือฉมัง หรือแม้แต่ทำงานดีภายในข้ามคืนได้ การล้มเหลวอาจเรื่องที่ดี เพราะหมายความว่าเรากำลังก้าวต่อไป
4.5 ลดตารางเวลาให้ว่างขึ้น
การมีกิจกรรมมากเกินไปในชีวิตประจำวันทำให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำได้โดยง่าย พยายามลดตารางนัดหมายลงโดยการเน้นเรื่องสำคัญและเอาเรื่องที่ไม่สำคัญเท่าไหร่ออก หยุดรับรู้สิ่งที่กวนใจและมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย
1
4.6 ทำต่อไป
คงจะมีบ้างที่อะไรๆ ก็ยากขึ้น และเราอาจจะรู้สึกไม่ค่อยอยากกลับมาทำงานหลังจากให้รางวัลตัวเองไปแล้ว ในเวลาอย่างนี้ เราจะต้องรวบรวมสติและเตือนตัวเองถึงเป้าหมายหรือทางออกที่ควรจะจดจ่อ พยายามทำให้เต็มที่ขณะที่จดจ่อกับงาน หรืออยู่ในสภาวะที่ตั้งใจแน่วแน่ (flow state)
ใช้ความตั้งใจนี้ก้าวกระโดดไปทำงานต่อไป หรือเป้าหมายต่อไปทันทีที่เราให้รางวัลตัวเองแล้วยิ่งคุณเริ่มทำงานหลังจากเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่งช้าเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากที่จะเริ่ม
จดจำความรู้สึกของความมุ่งมั่นในการทำงานและความรู้สึกดีเมื่อทำสำเร็จเอาไว้ ยิ่งเริ่มเร็ว คุณก็จะยิ่งมั่นใจและรู้สึกดี
4.7 อย่ายอมแพ้
การหาแรงบันดาลใจก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การไม่ยอมแพ้เวลาเจอกับงานหนักก็เป็นอีกเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่คาดคิด จำไว้ว่าสิ่งรบกวนเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอโดยไม่มีเหตุผล และจะมีผลกระทบต่อการทำงานของเรา
แทนที่จะยอมให้ความล้มเหลวมาทำให้หมดแรง ลองมองว่ามันคืออะไร และอย่าให้มันทำลายเราได้ เราไม่ได้เผชิญหน้าอยู่คนเดียว การจดจ่อกับงานที่ท้าทายเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับปัญหาและการกลับสู่สภาพปกติ
เคล็ดลับในการชนะความขึ้กียจ มีดังต่อไปนี้
1. ดื่มน้ำเย็นเมื่อคุณรู้สึกขี้เกียจ น้ำจะช่วยกระตุ้นสมอง เพิ่มความอยากในการทำสิ่งต่างๆ
2. หลีกเลี่ยงน้ำตาลและอาหารที่มีน้ำเชื่อมฟรัคโทสหรือน้ำตาลข้าวโพดเป็นส่วนผสม ซึ่งจะทำให้ร่างกายไปเผาผลาญน้ำตาลเหล่านี้แทนที่จะเป็นไขมัน น้ำตาลสังเคราะห์ (ไม่มีไฟเบอร์)จะทำให้มีพลังงานเพิ่มขึ้นในเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นน้ำตาลในเลือดจะต่ำลง เราจะรู้สึกเหนื่อยและหิว การทานอาหารที่ไม่ดีก็สามารถทำให้เกิดความขี้เกียจได้
3. หากไม่จำเป็นต้องทำงานหรือไม่ต้องรีบออกจากบ้านในตอนเช้า ตั้งนาฬิกาปลุกไว้เช้าๆ ประมาณ 7 โมง อาบน้ำแต่งตัว ทำให้ตัวเองดูดีก่อนที่จะออกจากห้อง แต่งตัวเหมือนคุณมีแผนจะออกไปข้างนอกเสมอ ถอดชุดนอนทิ้งไว้ในห้องนอน จัดเตียงให้เรียบร้อยเพื่อที่จะได้ไม่กลับไปนอนต่อและไม่เพิ่มความยุ่งเหยิงให้กับห้องนอน
4. ลองใช้เทคนิค 20/10 เทคนิคนี้คือการทำงาน 20 นาที (ทำความสะอาด เรียน หรือทำสิ่งที่ต้องทำ) จากนั้นพัก 10 นาที วิธีการ 45/15 ก็ใช้หลักการเดียวกัน ลองเริ่มจากน้อยๆ ก่อนถ้าจำเป็น เช่น 10/5
5. เตือนตัวเองเรื่องเป้าหมายและสาเหตุที่คุณทำสิ่งนี้อยู่เสมอ ลองคิดถึงข้อเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวหากไม่ทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ จะทำให้เราเกิดความมุ่งมั่นขึ้นมาทันที
6. อยู่กับคนที่ทำให้คุณฮึมเหิม ไม่ว่าจะผ่านสื่อ เทคโนโลยี หรืออื่นๆ ความรัก การสนับสนุน และกำลังใจจากผู้อื่นสามารถปลุกพลังในตัวคุณได้
7. ลองคิดถึงการเลิกดูโทรทัศน์ดู ความทุกข์นั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับ เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้นอีกมากที่จะไล่ล่าสิ่งต่างๆ ที่น่าตื่นเต้น เมื่อไม่มีสิ่งยั่วยวนอย่างเช่นการนอนดูโทรทัศน์
8. เวลาเราคิดว่าควรหรือไม่ควรทำอะไรบางอย่าง ลองคิดว่า "ฉันจะทำสิ่งที่ฉันต้องทำ ดังนั้นฉันสามารถทำสิ่งที่ฉันอยากทำได้"
9. การนั่งสมาธิจะช่วยลดความขี้เกียจโดยการพัฒนาระดับความตื่นตัวและการอยู่กับปัจจุบัน เพราะเราต้องจดจ่ออยู่กับลมหายใจ กิริยา และสัมผัสทั้งห้า รวมถึงต้องควบคุมจดจ่อกับความคิด อารมณ์ และระดับของพลังงานในแง่บวก
10. หากเราเปลี่ยนช่องเพื่อดูรายการต่อไป แทนที่จะทำโปรเจคหรืองานบ้านให้เสร็จ แค่คิดว่า "นี่คือแรงผลักดันให้ทำสิ่งที่น่าพอใจเพียงชั่วครู่ หรือฉันรู้สึกไม่อยากทำและอยากหลีกเลี่ยงประสบการณ์ที่น่าเจ็บปวด" ในการเอาชนะความขี้เกียจและการผัดวันประกันพรุ่ง ลองดู และค่อยๆ ทำให้มันผ่านไป
สำหรับ วิธีการชนะความขี้เกียจดังกล่าวนี้ ต้องขอขอบคุณ wikihow ที่ได้รวบรวมวิธีให้อย่างละเอียด ซึ่งผู้เขียน wikihow เรื่องนี้ ได้บอกว่ารวบรวมมาจากผู้เขียน 105 คน จึงน่าสนใจดีค่ะ ผู้เขียนจึงอยากนำมาฝากท่านผู้อ่าน เผื่อจะมีประโยชน์ และเมื่อลองทำดู อาจทำให้เป็นคนขยันและประสบความสำเร็จได้อย่างไม่รู้ตัวก็ได้นะคะ
โฆษณา